วันที่ 10 ก.ย. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ. สวทช. ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) และ ดร.มนัสชัย คุณาเศรษฐ หัวหน้าทีมวิจัยโครงสร้างพื้นฐานซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง พร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยผู้บริหาร คพ. ร่วมแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการคาดการณ์คุณภาพอากาศ และระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผ่านระบบออนไลน์
นายอรรถพล เจริญชันษา กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้พัฒนาระบบการคาดการณ์คุณภาพอากาศสำหรับใช้ประเมินสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ และพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยรับการสนับสนุนการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำให้การคาดการณ์สถานการณ์ปัญหา PM 2.5 ของประเทศ มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจ และวางแผนบริหารจัดการเพื่อตอบโต้สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว เพื่อการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ. สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์บนระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่ง สวทช. มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและโครงสร้างพื้นฐานอยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือ ThaiSC ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สวทช. ที่มีภารกิจหลักตามพันธกิจด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยทำให้คณะทำงานด้านการประมวลผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กของ คพ.สามารถประมวลผลระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า จากเดิมใช้เวลาคำนวณ 11.5 ชั่วโมง ลดลงเหลือเพียง 45 นาที ทำให้กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ล่วงหน้าถึง 3 วัน
สำหรับขั้นตอนการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เริ่มจากการนำข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กและข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา มาใช้ในการเตรียมข้อมูลบน Computer Workstation ที่กรมควบคุมมลพิษ จากนั้นจึงถ่ายโอนข้อมูลดังกล่าวไปยังระบบ High-Performance Computing หรือ HPC ของศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง สวทช. เพื่อประมวลผลโดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เฉพาะทางด้านมลพิษอากาศ ด้วยประสิทธิภาพระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของ สวทช. ทำได้สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
ข้อมูลผลการคำนวณที่ได้จะถูกถ่ายโอนกลับมายัง Computer Workstation ที่กรมควบคุมมลพิษ เพื่อวิเคราะห์และจัดรูปแบบการแสดงข้อมูลเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และสื่อออนไลน์ของทาง คพ. และแอปพลิเคชัน ‘รู้ทัน’ ของเนคเทค สวทช. เพื่อรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศให้กับประชาชน
" ภายใต้ความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปีแรกนับจากนี้ สวทช.มุ่งหวังว่าจะสามารถการสนับสนุนการใช้งานและการให้คำแนะนำปรึกษาเชิงเทคนิค สำหรับการประมวลผลบนระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เพื่อสนับสนุนให้ทาง คพ.สามารถพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงสามารถคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารและจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป " ผอ. สวทช. กล่าว
นับแต่ได้เริ่มเปิดให้บริการ ThaiSC ได้สนับสนุนงานวิจัยที่มีความสำคัญเร่งด่วน และสร้างผลกระทบในระดับประเทศ อาทิ โครงการการคัดสรรสารออกฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ด้วยเทคนิคทางเคมีคำนวณขั้นสูง, โครงการถอดรหัสจีโนมสายพันธุ์ SAR-CoV-2 ที่ระบาดในประเทศไทย รวมไปถึงโครงการระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นที่มาความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ กรมควบคุมมลพิษ โดย สวทช. จะสนับสนุนการใช้งานบนระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของ ThaiSC รวมถึงให้คำแนะนำในการบริหารจัดการและการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของ คพ. และให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคสำหรับการประมวลผลระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบคาดการณ์คุณภาพอากาศร่วมกันเพื่อนำไปสู่การบริหารและจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทยอย่างยั่งยืน