โหวตบัตรสองใบวาระ 3 ‘ด่านสำคัญ’ แต่ (อาจ) ไม่สุดท้าย


เพิ่มเพื่อน    

 

ที่ประชุมรัฐสภาวันนี้มีนัดลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในวาระ 3 ขณะที่ก่อนหน้านี้หลายวันเกิดกระแสข่าวต่างๆ ออกมามากมาย โดยเฉพาะการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
    ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลแตกต่างกันออกไป ทั้งที่โดยปกติเวลาจะต้องลงมติกฎหมายสำคัญๆ เสียงของรัฐบาลจะเป็นเอกภาพแทบจะทุกครั้ง ต่างจากเรื่องนี้
    พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค ออกปากเป็นประกาศิตกับลูกพรรคในการประชุม ส.ส. เมื่อวันที่ 9 ก.ย. คือ ให้ลงมติเห็นชอบ และต้องเป็นไปในทิศทางเดียว
    ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันหนักแน่นว่าจะเห็นชอบ แต่จะผ่านหรือไม่ผ่านมันเกินกำลังที่จะกำหนดได้
    ในขณะที่พรรคอันดับสองของรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย "ภราดร ปริศนานันทกุล" โฆษกพรรค แสดงจุดยืนพรรคว่าจะงดออกเสียงเหมือนกับในวาระที่ 1 และ 2
    ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนามีมติ ‘ฟรีโหวต’ ให้ ส.ส. 12 คนของพรรคตัดสินใจเอง ขณะที่ "นิกร จำนง" ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการ ระบุว่าส่วนตัวจะยกมือเห็นชอบ
    ด้าน พรรคเล็ก 7 พรรคฝั่งรัฐบาล นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ มีมติให้คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    ในส่วน ซีกฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ชัดเจนว่าสนับสนุน 100 เปอร์เซ็นต์ ตรงกันข้ามกับพรรคก้าวไกลที่มีแนวโน้มสูงว่าจะโหวตคว่ำ เพราะเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
    หากดูเฉพาะคะแนนจาก ส.ส. ประเด็นบัตรสองใบไม่น่าจะมีปัญหา อย่างน้อยมีพรรคใหญ่ในรัฐบาลถึง 2 พรรคสนับสนุน คือ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์ แล้วยังได้คะแนนจากฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยที่เกินร้อยละ 20 ตามรัฐธรรมนูญ
    แต่ด่านสำคัญคือ วุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะผ่านได้ ต้องได้เสียงสภาสูง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงเห็นชอบ ซึ่งก่อนวันลงมติ 1 วัน สัญญาณยังไม่ชัดว่า ผู้มีอำนาจจะเอาอย่างไร
    ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ส.ว.มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นในสายของ พล.อ.ประวิตร ขณะที่ฝ่ายที่ออกมาประกาศจะคว่ำ ส่วนใหญ่เป็นสายของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
    การลงมติในวันที่ 10 กันยายนนี้ จึงถูกลากไปโยงกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งจะจบไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ทิ้งร่องรอย บาดแผล โดยเฉพาะคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องของ ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’ อีกครั้ง
    ขณะที่ท่าทีของ ‘บิ๊กตู่’ ต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดูจะไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวสักเท่าไหร่ แตกต่างจากตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจที่แสดงออกชัดกว่า
    และหากมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่าง ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’ เกิดขึ้นจริง ความเคลื่อนไหวระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้งสองใบน่าจะมีความเข้มข้นกว่านี้ เหมือนกับตอนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
    เป็นไปได้หรือไม่ที่พี่น้องคู่นี้ปรึกษาหารือกันจบไปนานแล้วว่าจะเอาอย่างไร จึงไร้วี่แววสัญญาณความเห็นต่างที่จับต้องได้ว่าเกิดขึ้น
    ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร คือ 3 ป.จะเอาแบบนี้ ไม่ว่า ส.ว.โหวตผ่าน หรือโหวตคว่ำ มันคือเกมที่กำหนดไว้อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการประลองเชิงอย่างที่มีการตั้งข้อสังเกต
    แต่ทั้งนี้ การผ่านวาระ 3 ได้ก็ยังไม่ได้การันตีว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะฉลุย เพราะดูทรงแล้วน่าจะไปจบกันที่ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เป็นด่านสุดท้ายอีกเช่นเคย หลังมีการทักท้วงว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินหลักการ
    เมื่อเรื่องไปถึง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมด ทั้ง ‘แท้ง’ และ ‘ไม่แท้ง’
    และจะว่าไป การไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญมันยังเป็นตัวช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์ในพรรคร่วมรัฐบาลได้ โดยเฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถือว่าพรรคพลังประชารัฐได้ผลักดันในสภาอย่างเต็มกำลังตามสัญญาก่อนเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว แต่มันไปต่อไม่ได้ด้วยเงื่อนไขกฎหมาย
    จึงไม่มีใครผิดสัญญา
    อย่างไรก็ดี ข่าวลือการคว่ำรัฐธรรมนูญ มันเกิดขึ้นท่ามกลางการประเมินสถานการณ์ ณ ขณะนี้ว่า บัตรเลือกตั้งสองใบน่าจะเป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ
    กระแสของรัฐบาลไม่ได้อยู่ในจุดที่ดี โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังเผชิญวิกฤตศรัทธา และสภาพเสียศูนย์จากการแก้ไขปัญหาโควิด-19 หากลงสนามด้วยกติกานี้จะเสียเปรียบพรรคเพื่อไทยมหาศาล
    ขณะเดียวกัน หากรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญบังคับใช้ในเวลาต่อมา นั่นจะเป็นการเปิดช่องบีบรัฐบาลให้เร่งยุบสภาเพื่อเลือกตั้งในกติกาใหม่ทันที รัฐบาลอาจเจอกระแสกดดันกว่านี้ ตรงกันข้ามหากคว่ำรัฐธรรมนูญไป อย่างน้อยๆ พรรคเพื่อไทยก็คงไม่พร้อมที่จะลงเลือกตั้งในกติกาเดิม เพราะต้องการจะปลดล็อกระบบบัตรเขย่งก่อน
    สุดท้ายแล้วคนกำหนดเกมก็คือ รัฐบาล ว่าอยากจะให้มีการเลือกตั้งตอนไหน รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็คือตัวแปรหนึ่งที่จะบอกไทมิ่งได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"