สภาองค์กรชุมชนตำบลถือเป็นประชาธิปไตยทางตรง เพราะข้อเสนอการแก้ไขปัญหาจากประชาชนสามารถเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะรัฐมนตรีได้
พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศ และเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรง เพราะตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถนำปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาในตำบลมาประชุม ปรึกษาหารือ เสนอแนว ทางพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้
ที่สำคัญก็คือ มาตรา 32 (3) กำหนดให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ” ซึ่งหมายความว่า ปัญหาของประชาสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง !! (ดูรายละเอียด พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ฯ ได้ที่ http://law.m-society.go.th/law2016/law/view/720)
เอกนัฐ บุญยัง ประธานคณะกรรมการดำเนินการตามกติกาที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล บอกว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ประกาศใช้ได้ 13 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว 7,795 แห่ง แต่ละปีจะมี ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ปีละ 1 ครั้ง ในปี 2564 จะจัดประชุมในวันที่10 กันยายน โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศจัดขึ้น ผ่านระบบ Zoom Meetings (ตามมาตรการป้องกันโควิด) โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนฯ และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมประมาณ 600 คน
ก่อนการประชุมระดับชาติ มีการจัดสมัชชาเชิงประเด็นตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน เพื่อให้ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ (5 ภูมิภาค) ได้เสนอประเด็นปัญหาต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ไข และกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อนำมาเสนอในวันประชุมระดับชาติ (วันที่ 10 กันยายน) หลังจากนั้นจะรวบรวมประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขเสนอผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้) และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขมี 5 กลุ่ม 11 ประเด็น คือ 1.สถานการณ์โควิด-19 2.การจัดการภัยพิบัติ 3.การทบทวน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท 4.ปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย 5.การสร้างความเป็นธรรมให้กลุ่มชาติพันธุ์ 6.ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 7.โมเดลเศรษฐกิจเกื้อกูล 8.ส่งเสริมการจัดทำแผนธุรกิจชุมชน 9.การผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 10.การคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม 11.การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทบทวนความตกลงทางการค้า (CPTPP)
โดยมีธีมงานการจัดประชุมในระดับชาติ คือ “13 ปีสภาองค์กรชุมชน ร่วมส่งเสริมสิทธิพลเมือง กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม”
“13 ปีสภาองค์กรชุมชน ร่วมส่งเสริมสิทธิพลเมือง กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม” นอกจากจะเป็นธีมงานและเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่สะสมมายาวนาน โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนถูกจำกัดสิทธิในด้านต่างๆ เช่น เข้าไม่ถึงที่ดินทำกิน ทรัพยากร การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การจัดการปัญหาโควิด-19 ฯลฯ เนื่องจากอำนาจต่างๆ รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง และผลจากการพัฒนาประเทศยังทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมถูกถ่างออกไป
เช่น ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือของคนส่วนน้อย นักธุรกิจบางตระกูลมีที่ดินในครอบครองทั่วประเทศกว่า 630,000 ไร่ แต่ประชาชนที่ยากไร้เข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่ามานานก่อนการประกาศเขตป่าต่างๆ ไม่มีกรรมสิทธิ์ครอบครอง หนำซ้ำยังถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาบุกรุกไม่ต่ำกว่า 46,000 ราย (ข้อมูล : ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม-P Move) ขณะที่การบุกรุกที่ดินของรัฐโดยนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลกลับไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี
ชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่อาศัยมาก่อนมีการประกาศเขตป่าของทางราชการ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและไม่มีสิทธิเหมือนพลเมืองทั่วไป
การพัฒนาประเทศที่มุ่งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่งเสริมการส่งออก ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมถูกแย่งชิง ผืนไร่ ผืนนา ท้องทะเล กำลังจะเปลี่ยนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ-โรงงานอุตสาหกรรม หนุ่มสาวอพยพเข้าไปขายแรงงานในเมือง เมื่อต้องซมซานกลับชนบทเพราะพิษโควิด-ปิดโรงงาน แต่ไม่มีพื้นที่ให้ทำกิน ไม่มีการจ้างงาน
รูปแบบเกษตรกรรมเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอาหารปนเปื้อนสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน เช่น การเลี้ยงหมู ไก่ ปลา กุ้ง และตกอยู่ในกำมือของบริษัทใหญ่ เกษตรกรมีสภาพเหมือนลูกจ้าง ผักและผลไม้มีสารเคมีตกค้าง ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค
ความตกลงทางการค้า ‘CPTPP’ (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ ‘ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ ซึ่งเกษตรกรกังวลว่า หากรัฐบาลไทยทำความตกลงจะเปิดโอกาสให้ต่างชาติที่มีทุนและเทคโนโลยีสูงกว่า สามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตร เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกได้ ต้องซื้อใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้น ฯลฯ
อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน บอกว่า วิกฤตจากภัยพิบัติในอนาคตที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ จากการประมวลปัญหาสรุปได้ว่า 1.คนจนจะเข้าไม่ถึงแหล่งอาหาร 2.เกิดการกักตุนอาหาร 3.หนี้สินจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 4.อาชญากรรม การปล้น-ลักทรัพย์เพิ่มขึ้น (แม้แต่หัวมันสำปะหลังในไร่ยังโดนขโมย) 5.การสูญเสียที่ดินทรัพย์สิน 6.ต่างชาติเข้ายึดครองกิจการ (โรงแรมปิดตัว-ทุนจีนซื้อราคาถูก)
“ที่ดินคือต้นทางความมั่นคงทางอาหาร แต่จากข้อมูลพบว่า เกษตรกรทั่วประเทศจำนวน 49 % ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง และต้องเช่าที่ดินทำกิน, 80 % มีที่ดินทำกินไม่เกิน 20 ไร่ และมีเกษตรกรเพียง 26 % ที่เข้าถึงระบบชลประทาน ทำให้กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ” อุบลยกตัวอย่างประเด็นปัญหาที่ดินที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
จากประเด็นปัญหา 11 ด้านที่นำเข้าสู่การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลในครั้งนี้ มีข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่ประสบปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่สำคัญเชิงโครงสร้าง เช่น
การรับมือโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วม มีข้อเสนอ เช่น 1.รัฐบาลควรประกาศให้โรคระบาดโควิด - 19 เป็นโรคระบาดในมนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ 2.หน่วยงานภาครัฐต้องสนับสนุนการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดให้ภาคประชาชน เช่น งบประมาณ บุคลากร องค์ความรู้ 3.รัฐบาลต้องสนับสนุนการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เช่น สร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาอาชีพ ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในระยะ 2 ปี การจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ
การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัย มีข้อเสนอ เช่น 1.การแก้ไขหรือเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่รับรองสิทธิชุมชน แก้เนื้อหาการละเมิดสิทธิชุมชน การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่น 2.แก้ไขประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ที่จำกัดและกระทบต่อการจัดการที่ดินโดยชุมชน ฯลฯ
การทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีข้อเสนอ เช่น 1.แก้ไข พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 2.ยกเลิกการแก้ไขแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบผังเมือง ฯลฯ
การสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีข้อเสนอ เช่น 1.ต้องทำให้ความมั่นคงทางอาหารเป็นวาระแห่งชาติ 2.รัฐบาลต้องมีแผนสร้างความมั่นคงทางอาหาร สำรองอาหาร ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล จังหวัด เช่น มีธนาคารข้าว มีอาหารสำรองให้สัตว์เลี้ยง 3.ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เร่งออกกฎหมายควบคุมการใช้สารเคมี 4.รัฐบาลต้องไม่ทำข้อตกลงทางการค้าที่เสียเปรียบที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร (ความตกลง CPTPP) 5.นำที่ดินสาธารณะ ที่ว่างเปล่า ที่ดินทหารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างงาน ฯลฯ
ชาวชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู กรุงเทพฯ ปลูกผักลดรายจ่าย เป็นแหล่งอาหารสำรองช่วงโควิด
นี่คือตัวอย่างข้อเสนอจากภาคประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สร้างสรรค์ เล็งถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม เป็นหนทางสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และยังมีประเด็นปัญหาและข้อเสนออีกหลายด้าน (ผู้ที่สนใจสามารถติดตามผลการประชุมได้ทาง facebook /สภาองค์กรชุมชน และ facebook / codi.or.th)
ส่วนเส้นทางข้อเสนอจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลสู่ทำเนียบนั้น คณะกรรมการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนจะรวบรวมประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขนำเสนอต่อนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะ รมว.รักษาการตาม พ.รบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ พ.ศ.2551 มาตรา 32 (3) กำหนดให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ร่วมงานประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปี 2563 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ
แม้ว่าข้อเสนอจากภาคประชาชนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อเสนอจากที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง หลายประเด็นปัญหาถูกส่งต่อไปยังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางประเด็นมีความคืบหน้า แต่ส่วนใหญ่ยังติดอยู่ที่กลไกและระเบียบของทางราชการ เช่น การจัดการปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้านและทะเลชายฝั่ง ข้อเสนอการทบทวนนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ฯลฯ ฉะนั้นปัญหาต่างๆ จึงวนเวียนอยู่ที่เดิม
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลเมื่อปี 2563
ดังนั้นการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปีนี้ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เข้าประชุมจึงมีข้อเสนอร่วมกัน โดยเสนอให้มีการ “จัดตั้งกลไก 5 ฝ่าย” ประกอบด้วย 1. ฝ่ายการเมือง (รัฐบาล) 2.กระทรวงที่เกี่ยวข้อง 3.ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ 4.ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน และ 5.ผู้แทนประเด็นปัญหา ในรูปแบบ “คณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอตามมติที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล” โดยกำหนดบาทบาทหน้าที่เพื่อให้กลไกดังกล่าวมีการขับเคลื่อนและติดตามข้อเสนอต่างๆ ให้บรรลุผล
นอกจากนี้จะมีการเชิญชวนภาคีเครือข่าย เช่น สถาบันการศึกษา นักวิชาการ องค์กรต่างๆ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ประชาชน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อผลักดันปัญหาเหล่านี้ให้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
ดังหมุดหมายการประชุมสภาฯ ปีนี้ที่ตอกย้ำว่า “13 ปีสภาองค์กรชุมชน ร่วมส่งเสริมสิทธิพลเมือง กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |