หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 5,300 แห่งภายในปีนี้ ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอ โดยนับเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นลำดับที่ 3 ต่อจากการเลือกตั้งเทศบาล 2,472 แห่ง และนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้ง อบต.ครั้งแรกในรอบ 8 ปี
จากนี้เป็นหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าเห็นควรที่จะประกาศวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ ซึ่งเมื่อประกาศแล้วนายก อบต.ที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังจากนั้นจะมีการประกาศรับสมัครต่อไป โดยในส่วนของ กกต.ก่อนหน้านี้ได้ออกประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 ธ.ค.62
โดยในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 ต.ค.64 กกต.จะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และวันเลือกตั้งจะเป็นช่วงระหว่าง 28 พ.ย.-12 ธ.ค.64 ทำให้สามารถเลือกวันเลือกตั้งได้ 3 วัน คือ วันที่ 28 พ.ย., 5 และ 12 ธ.ค.เพราะเป็นวันอาทิตย์ ตามหนังสือที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเลือกตั้ง อบต.ตามกระบวนการ โดย กกต.จะรอหนังสือแจ้งจาก ครม.อย่างเป็นทางการ ก่อนจะนัดประชุม กกต.เพื่อประกาศวันเลือกตั้งต่อไป
สำหรับการเลือกตั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยวาระดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภา อบต.และนายก อบต. รวมถึงผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภา กทม.และเมืองพัทยา ครบวาระตั้งแต่เดือน พ.ค.61 แต่คำสั่ง คสช.ให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณแต่ละเขตประมาณ 7 แสน ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวม อบต.ทั่วประเทศจะใช้งบไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท
ในส่วนของคุณสมบัติต้องห้ามที่ กกต.เน้นเป็นพิเศษคือ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ ซึ่งมีข้อห้ามเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก เช่น ผู้เคยต้องโทษจำคุก ต้องพ้นโทษไม่น้อยกว่า 5 ปี สำหรับผู้ที่เคยทุจริตเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิ์การสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต
ขณะเดียวกันยังมีข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้จะยังมาพร้อมกับการระบาดโควิด-19 อยู่อีกหรือไม่ เพราะแม้ว่าขณะนี้ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงตามลำดับ แต่ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อเกินหมื่นรายทุกวัน บวกกับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังจะมาในอนาคต เช่น สายพันธุ์มิว ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งประกาศยกระดับเป็นสายพันธุ์ที่ควรสนใจอย่างเป็นทางการเป็นตัวที่ 5 ของโลก ที่ขณะนี้พบการระบาดไปแล้ว 43 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ตรวจพบสายพันธุ์นี้ครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
คำถามคือ การเลือกตั้ง อบต.จะทำให้เกิด คลัสเตอร์ใหม่ ทั่วประเทศหรือไม่ ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน กกต.ระบุว่า "หน่วยเลือกตั้งที่ออกแบบเป็นหน่วยเลือกตั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งใช้มาตั้งแต่เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 จังหวัดลำปาง เมื่อปีที่แล้ว โดยเรียกว่าลำปางโมเดล จากปกติหน่วยเลือกตั้งประมาณ 1 พันคน ลดลงเหลือหน่วยละไม่เกิน 6 ร้อยคน โดยได้ทำหนังสือไปถึงกรมควบคุมโรคให้ช่วยออกแบบหน่วยเลือกตั้ง เริ่มจากตั้งแต่หน้าหน่วยที่ผู้ใช้สิทธิ์ต้องสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง นำปากกามาเอง เมื่อมาถึงหน้าหน่วยจะมี อสม.เข้ามาวัดอุณหภูมิก่อน ถ้าอุณหภูมิ 37.5 ขึ้นไป ก็จะมีช่องทางพิเศษไปใช้คูหาเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในคูหาเดียวกันไปอีกช่องทาง รับบัตร กาบัตร และหย่อนบัตร หลังจากนั้น อสม.จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์พาไปรับการตรวจและรักษาอีกที สำหรับกรรมการประจำหน่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย เฟซชีลด์ และใส่ถุงมือ
ต่อมาเวลาเข้าไปรายงานตัวที่หน่วยจะต้องยื่นบัตรประชาชน โดยผู้ใช้สิทธิ์จะต้องเปิดหน้ากากออกมาเล็กน้อยเพื่อยืนยันต่อกรรมการประจำหน่วยว่าตรงกับบัตรประชาชนหรือไม่ ถึงจะแจกบัตรเลือกตั้งให้ เมื่อกาบัตร หย่อนบัตรเสร็จ ก่อนออกจากคูหา ล้างเมื่อด้วยเจลล้างมืออีกครั้ง โดยแต่ละหน่วยมีเจลล้างมือบริการประชาชนทุกจุดในคูหา รวมถึงทำความสะอาดคูหาทุก 1 ชั่วโมง ทั้งนี้งบประมาณค่อนข้างสูง เนื่องจากมีหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้น ต้องให้บริการผู้ใช้สิทธิ์ทั่วประเทศที่มีจำนวน 27 ล้านคน
ในส่วนการหาเสียงเลือกตั้ง การที่จะเปิดเวทีปราศรัยก็ต้องดูประกาศของ ศบค.แต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ด้วย ให้แนวทางการเลือกตั้งและป้องกันโรคสอดคล้องกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีการเปิดเวที เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ทำให้ประชาชนรวมกลุ่มกัน ส่วนรถหาเสียงยังคงทำได้ตามปกติ สำหรับการพบปะประชาชน การแจกใบปลิวทำได้ แต่จำนวนคนในการหาเสียงต้องเป็นไปตามแนวทาง ศบค.ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้หากสถานการณ์ระบาดหนักในช่วงกำหนดวันเลือกตั้ง ก็สามารถที่จะเลื่อนได้ตามกรอบกฎหมายที่กำหนดเปิดช่องทางไว้"
ทั้งนี้ การเลือกตั้ง อบต.จะทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้นำ การสะท้อนปัญหา รวมทั้งเสนอสิ่งที่ต้องการให้ท้องถิ่นของตัวเองเพื่อจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเลือกตั้ง อบต.ที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้จึงมีความจำเป็นในการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์จำนวนมาก เนื่องจากทิ้งระยะห่างการเลือกตั้ง อบต.มานาน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |