นี่คือข่าวอย่างเป็นทางการครับ
วานนี้ (๘ กันยายน) คุณหมออุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.) พูดในหัวข้อ "ใช้ชีวิตมีคุณภาพอย่างไร...ถ้าโควิด-๑๙ ยังแพร่ระบาดไปอีกนาน" ผ่านทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ (NBT)
"...จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การระบาดปัจจุบันสอดคล้องกับที่อู่ฮั่นระบาด ว่าคนที่ไม่มีอาการและไม่เคยไปตรวจโควิด-๑๙ เมื่อไปตรวจพบว่าเป็นโควิด-๑๙ อีกประมาณ ๕-๖ เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน
ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ยืนยันใน กทม.ประมาณ ๒.๕ แสนคน เอา ๖ เท่าคูณ หรืออีกราว ๑.๕ ล้านคนซึ่งเรียกว่าติดเชื้อแฝง ไม่เคยไปตรวจ ไม่มีอาการ ไม่ใช่แค่วันละ ๔-๕ พันคน เหมือนตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน
ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทะลุไป ๑.๒ ล้านคน ถ้าเอา ๕-๖ เท่าคูณ จะมีคนติดเชื้อประมาณ ๖-๗ ล้านคนที่แฝงอยู่ และสามารถแพร่เชื้อมาให้เราได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด แม้สนิทแค่ไหนก็ไว้ใจไม่ได้...”
อย่าเพิ่งตกใจครับ
เป็นการคาดการณ์ตั้งแต่แรกแล้วว่า จะมีผู้ป่วยไม่แสดงอาการมากถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์คือมีอาการ
ไม่เฉพาะประเทศไทย
ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้
ในทางกลับกัน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่แสดงอาการ คนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ
ฉะนั้น ขณะนี้คนไทยไม่ได้มีภูมิคุ้มกันเป็นศูนย์เหมือนช่วงโควิดระบาดใหม่ เพราะมีคนจำนวนมากได้รับวัคซีนไปแล้ว หรือไม่ก็ติดเชื้อไวรัสนี้ไปแล้ว
ใน กทม.ประมาณ ๖-๗ ล้าน มีภูมิแล้ว
แต่ปัญหาคือภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว
คุณหมออุดม ยืนยันถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายในเดือนธันวาคม เราจะฉีดวัคซีน ๒ เข็มได้ตามเป้า มากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรแน่นอน และจะฉีดเข็มที่ ๓ ได้ด้วย
"ตอนนี้วัคซีนเพียงพอสำหรับเข็มที่สาม เพราะหลังจากเราติดตามพบว่า วัคซีนทุกตัว ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ เมื่อฉีดไปแล้วสามเดือน ภูมิมันตกทุกตัว
ถ้าภูมิมันตกไปมากจะสู้กับเดลตาไม่ไหว เราต้องสร้างภูมิให้มากขึ้นด้วยการฉีดเข็มที่สาม โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปเราจะได้เข็มที่สาม เป็นแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ เราวางแผนไว้เรียบร้อย”
ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องรับรู้คือ โควิด-๑๙ จะไม่หมดไปจากโลก
นี่คือทัศนคติที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่
เราจะอยู่กับโควิดไปอีกนาน เหมือนอยู่กับไข้หวัด
เราต้องฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ทุกปี เหมือนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ๔ สายพันธุ์
พิจารณาตามไทม์ไลน์ วัคซีน นับจากเดือนนี้มีพอฉีดให้ประชาชนได้ครบตามเป้าที่วางไว้
กันยายนมี AstraZeneca ๗.๓ ล้านโดส เดือนตุลาคม ๑๑ ล้านโดส เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม เดือนละ ๑๓ ล้านโดส
Pfizer ที่จัดซื้อมาล็อตแรก ๒ ล้านโดสวันที่ ๒๙ กันยายน
จากนั้นเดือนตุลาคม ๘ ล้านโดส พฤศจิกายน และธันวาคม เดือนละ ๑๐ ล้านโดส
รวมแล้วไตรมาส ๔ มีวัคซีนให้ฉีดวันละเกือบ ๑ ล้านโดส
วันนี้เรารู้จักโควิดมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบในทุกด้านจากโควิด ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การชั่งน้ำหนักระหว่าง สุขภาพกับเศรษฐกิจ เริ่มสมดุลขึ้น
เข้มเรื่องสุขภาพมาก เศรษฐกิจพัง
ถ้าปล่อยเศรษฐกิจเสรีเลย สุขภาพก็พัง
เราน่าจะเลยจุดนั้นมาแล้ว และสิ่งที่ประชาชนต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือคือ "การผ่อนปรน" ต้องควบคู่กับ "การเคร่งครัด" เสมอ
โควิดจะกลับมาวิกฤตอีกหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลหรือวัคซีนเป็นหลัก
แต่อยู่ที่ประชาชน
หากทุกคนเคร่งครัดจะเป็นการตัดวงจรการระบาดของโควิด-๑๙ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ก็...ไม่ง่ายครับ
ยกตัวอย่างการฉีดวัคซีน ในอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ ประชาชนได้รับวัคซีน Pfizer ครบ ๒ เข็มร่วมๆ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แต่โควิดยังกลับมาระบาดอีก
โดยเฉพาะอเมริกา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันกลับไปอยู่หลักแสนอีกครั้ง
ไทยควรทำให้ได้เหมือนอังกฤษในขณะนี้
ฉีดวัคซีนให้เยอะที่สุด
คลายล็อกธุรกิจต่างๆ ให้มากที่สุด ผู้ใช้บริการต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนแสดง
ผู้ป่วยรายใหม่มีแน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ
การตายก็ยังมีอยู่ แต่จะน้อยลงไปมาก
นั่นคือสิ่งที่อังกฤษเป็นอยู่ในขณะนี้ บนพื้นฐานความเชื่อใหม่ โควิด-๑๙ จะยังอยู่กับเราต่อไป
ความคิดเรื่องล็อกดาวน์เข้มข้น เจ็บแล้วจบ ณ เวลานี้ เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว
และไม่น่าจะมีประเทศไหนทำอีก
แต่ปัญหาซ้อนปัญหามันมีอยู่มากมายครับ เพราะโควิด-๑๙ ไม่มีพรมแดน เหมือนที่มนุษย์พยายามทำกันอยู่
ใครที่บอกว่า วัคซีน ล้นตลาดแล้ว ตลาดไม่ได้เป็นของผู้ขาย อย่าไปเชื่อครับ
โกหกทั้งเพ!
ของจริงคือวานนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประณามบรรดาประเทศร่ำรวยที่กักตุนวัคซีน และยารักษา
ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับป้องกันไวรัสโควิด-๑๙ เป็นจำนวนมาก
มากแค่ไหน?
WHO ยืนยันว่ามากจนทำให้เกิดความล้มเหลวในการกระจายทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นธรรมไปยังประเทศยากจน
ผลที่ตามมาคือ เป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ทั่วโลกยาวนานยิ่งขึ้น
นั่นทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ได้มากขึ้น
มาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลก พูดไว้ชัดเจน
"การกักตุนทรัพยากรดังกล่าว โดยเฉพาะวัคซีน ไม่เพียงแต่ไม่ยุติธรรม หรือผิดศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังทำให้ไวรัสโควิด-๑๙ แพร่ระบาดยาวนานขึ้นด้วย ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตมากขึ้น"
ที่ผ่านมา WHO ได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย ระงับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-๑๙ เข็มที่ ๓ (วัคซีนบูสเตอร์) ออกไปก่อนอย่างน้อย ๒ เดือน
วัตถุประสงค์เพื่อกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มประเทศรายได้ต่ำอย่างยุติธรรม
และเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ทางองค์การอนามัยโลก ขอให้กลุ่มประเทศร่ำรวยช่วยบริจาควัคซีนส่วนเกินไปยังประเทศยากจน
โดยหวังว่า จะสามารถฉีดวัคซีนได้ราวอย่างน้อย ๑๐% ของประชากรทุกประเทศภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
การบริจาคเกิดขึ้นจริงครับ แต่ส่วนใหญ่เป็นการบริจาค เพราะวัคซีนที่กักตุนอยู่ใกล้จะหมดอายุ
แต่การฉีดเข็ม ๓ ห้ามไม่อยู่ เพราะประเทศร่ำรวยหลายประเทศเริ่มวัคซีนบูสเตอร์แล้ว
ขณะนี้อเมริกา ฉีดวัคซีนครบ ๒ เข็ม ให้แก่ประชาชนไปแล้วราว ๕๓% ของประชากรในประเทศ
ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้แก่ประชาชนไปแล้วกว่า ๑.๓ ล้านคน
ส่วนสหภาพยุโรป ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนครบโดสแล้วราว ๕๗% ของประชากรอียูทั้งหมด และเริ่มบูสต์เข็ม ๓ แล้ว
ฉะนั้นอย่าโลกสวยครับ ความเหลื่อมล้ำระดับโลกยังมีอีกมาก แต่ละประเทศล้วนควานหาวัคซีนเพื่อให้ประชาชนของตนเองรอดจากโควิดกันทั้งนั้น
แต่โควิดไม่มีพรมแดน
ถ้าหมดก็ต้องหมดทั้งโลก
ถ้ายังมีอยู่ ก็ไม่มีประเทศไหนรอด
จนกว่าจะมียารักษา และวัคซีนที่ดีกว่านี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |