คลายล็อกระบบขนส่ง


เพิ่มเพื่อน    

 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการประกาศคุมเข้มมาตรการการเดินทางในระบบสาธารณะ บก-ราง-น้ำ-อากาศ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน แต่ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด จะสามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ และสายการบินสามารถให้บริการบินข้ามจังหวัดได้

            แต่ขณะเดียวกัน ศบค.ก็ได้ขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือเดินทางเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น โดย ศบค.กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งจำกัดอัตราบรรทุกผู้โดยสารต้องไม่เกิน 75% ของความจุผู้โดยสารสำหรับยานพาหนะแต่ละประเภท และผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหารระหว่างการเดินทาง สำหรับรถโดยสารหรือรถตู้ระยะทางไกลควรแวะพักทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อระบายอากาศ ส่วนผู้โดยสารเดินทางด้วยเครื่องบินจำเป็นต้องตรวจสอบมาตรการของแต่ละจังหวัดปลายทาง

            ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้ข้อมูลว่า ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 32) “คลายล็อกดาวน์” ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64 ที่ผ่านมานั้น ได้สั่งการให้หัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลระบบขนส่งสาธารณะนั้นๆ เพิ่มมาตรการการดูแลการเดินทางประชาชนที่มาใช้บริการมากขึ้น เพื่อที่จะนำอุปสรรคปัญหามาหารือภายหลังการให้บริการประชาชนในวันแรกของการคลายล็อกดาวน์ต่อไป

            โดยในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้มอบหมายให้ ผอ.เขตเดินรถทุกเขต สอดส่อง ตรวจสอบ และสำรวจสภาพการเดินทางในช่วงเร่งด่วน ห้ามให้มีประชาชนตกค้างการเดินทาง หากพบว่ามีปริมาณการเดินทางมากให้เตรียมรถไว้ในจุดใกล้เคียงเพื่อเสริมรถได้ในทันที และมอบหมายให้สายตรวจ ขสมก. ส่งภาพทุกพื้นที่ ตั้งแต่เวลา 18.00-20.00 น. รวมกับการใช้ภาพจากกล้อง CCTV กำกับการจัดการเดินรถ

            นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มความถี่การให้บริการ จากเดิม 18,000 เที่ยว/วัน เป็น 22,000 เที่ยว/วัน และเพิ่มความถี่ การเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และให้เพิ่มเที่ยวรถจาก 18,000 เที่ยว เป็น 20,000 เที่ยว ให้เพิ่มอีก 10% เป็นอย่างน้อย หรือประมาณ 22,000 เที่ยว โดยให้เพิ่มขึ้นได้อีกหากมีปริมาณความต้องการเดินทางของประชาชน

            ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารระบบขนส่งทางรางทุกระบบ ทั้งรถไฟ, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, รถไฟชานเมืองสายสีแดง, รถไฟฟ้า MRT, รถไฟฟ้า BTS ในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ส.ค. ที่มีปริมาณผู้โดยสารรวม 289,695 คน เป็น 343,302 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ที่มีผู้โดยสารในระบบรางถึง 1.22 ล้านคน/วัน

            โดยแยกเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้โดยสารเมื่อวันที่ 31 ส.ค. มีจำนวน 9,351 คน เพิ่มขึ้นเป็น 9,455 คน ในวันที่ 1 ก.ย. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีผู้โดยสาร 12,570 คน เพิ่มเป็น 14,445 คน รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง มีผู้โดยสาร 90,736 คน เพิ่มเป็น 104,758 คน รถไฟฟ้า BTS มีผู้โดยสาร 173,507 คน เพิ่มเป็น 210,291 คน ส่วนรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้โดยสารในระดับ 3,500 คนเท่าเดิม

            ขณะที่เรือโดยสารคลองแสนแสบ เส้นทางวัดศรีบุญเรือง-สะพานผ่านฟ้าลีลาศ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน พบว่า ผู้โดยสารใช้บริการเรือคลองแสนแสบเพิ่มขึ้น 100-200 คน/วัน หรืออยู่ที่ 3,000 คน/วัน ในช่วงวันทำงานปกติ จันทร์-ศุกร์ ในจำนวนเรือที่ให้บริการ 30-40 ลำต่อวัน เนื่องจากการคลายล็อกดังกล่าวทำให้ประชาชนเริ่มออกมาทำกิจกรรมหรือเดินทางมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้โดยสารวัยทำงาน ใช้บริการช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น ขณะนี้ได้ปรับเที่ยววิ่งให้สอดคล้องกับผู้โดยสาร ลดความแออัดในช่วง ชม.เร่งด่วนด้วย

            อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ศบค.ยังคงเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ช่วง 21.00-04.00 น.ต่ออีกอย่างน้อย 14 วัน หลังจากวันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารในทุกระบบขนส่งสาธารณะยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่หากมีการผ่อนคลายหรือยกเลิกเคอร์ฟิวจะทำให้มีประชาชนเดินทางเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ระบบรางมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไปด้วย เชื่อว่าอีกไม่นานหากทุกคนที่ใช้บริการรักษากฎกติกาในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ คาดว่าจากนี้ไปจะทำให้การระบาดของเชื้อโรคลดน้อยลง.

กัลยา ยืนยง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"