ชาติอาเซียนและตะวันตกขวางรัฐบาลเงาเมียนมาประกาศ "สงครามป้องกันประชาชน" กับรัฐบาลทหาร เรียกร้องทุกฝ่ายละเว้นใช้ความรุนแรง โฆษกรัฐบาลเมียนมาตอกฝ่ายต่อต้านเรียกร้องความสนใจก่อนประชุมสมัชชายูเอ็นสัปดาห์หน้า แต่ชาวบ้านร่วมเล่นด้วย โจมตีเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ 11 ต้น
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) อ้างตนเป็นรัฐบาลชอบด้วยกฎหมายของเมียนมา ประกาศ "สงครามป้องกันประชาชน" เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยเรียกร้อง "พลเมืองทุกคนในเมียนมาปฏิวัติต่อต้านพวกผู้ก่อการร้ายทหารที่นำโดยมิน อ่อง หล่าย" รวมถึงขอให้ทหารและเจ้าหน้าที่แปรพักตร์มาร่วมกับฝ่ายตน
เมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเงาชุดนี้เคยประกาศจัดตั้ง "กองกำลังป้องกันประชาชน" เพื่อต่อสู้กับทหารของกองทัพเมียนมาที่กรำศึกและมีอาวุธพร้อม แต่ถึงบัดนี้พวกเขายังไม่ส่งผลกระทบสำคัญอันใด
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 8 กันยายน กล่าวว่า มีชาวบ้านบางส่วนตอบรับคำประกาศของเอ็นยูจีและทำลายเสาโทรศัพท์ 11 ต้นของบริษัท มายเทล ที่กองทัพเป็นเจ้าของและเป็น 1 ใน 4 เครือข่ายโทรศัพท์หลัก 4 แห่งของเมียนมา การก่อเหตุครั้งนี้เกิดที่เมืองบูดาลินในเขตสะกายทางภาคกลาง
"เจตนาของพวกเราคือทำลายธุรกิจของกองทัพ ธุรกิจของพวกเขาสนับสนุนให้พวกเขายังครองอำนาจอยู่ได้ พวกเราจึงทำลายมัน" ชาวบ้านคนหนึ่งที่่ร่วมในปฏิบัติการเมื่อวันอังคารเผยกับเอเอฟพี
มีวิดีโอเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเป็นภาพการวางระเบิดฐานของเสาโทรศัพท์ต้นหนึ่ง ก่อนที่เสาต้นนี้จะล้มลง แหล่งข่าวในพื้นที่บอกอีกว่า มีเสาอีก 2 ต้นโดนทำลายในพื้นที่อื่นของรัฐนี้
รัฐบาลเมียนมาซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (เอสเอซี) กล่าวโจมตีเอ็นยูจีและพวกที่ร่วมมือด้วยว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ที่กำลังพยายามทำลายประเทศ ซอ มิน ตุน โฆษกเอสเอซีกล่าวถึงคำประกาศล่าสุดของเอ็นยูจีว่า เป็นความพยายามเรียกร้องความสนใจ ก่อนหน้าการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์กสัปดาห์หน้า ซึ่งจะพิจารณาว่าผู้แทนของรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเงาควรเป็นตัวแทนของเมียนมา
"กลุ่มก่อการร้ายตระหนักว่าพวกเขาใกล้ล้มเหลว นั่นคือเหตุผลให้ต้องพยายามเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ" โฆษกผู้นี้กล่าวในแถลงการณ์
รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจากอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ป ว่าคำประกาศของเอ็นยูจีได้รับการสนับสนุนอย่างแรงกล้าจากโซเชียลมีเดียเมียนมา แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านมีขีดความสามารถขยายการต่อสู้กับกองทัพที่มีอาวุธพร้อมหรือไม่ และคำประกาศ "สงคราม" ของเอ็นยูจีอาจส่งผลสะท้อนกลับด้วยการเพิ่มความยากที่บางประเทศจะให้การสนับสนุน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียแถลงว่า ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนเมียนมาเป็นอันดับแรก และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะส่งเข้าไปได้ต่อเมื่อสถานการณ์มีความมั่นคงเท่านั้น
ไซฟุดดิน อับดัลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า อาเซียนผิดหวังกับมติ 5 ข้อที่ไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว แต่การเรียกร้องให้ประชาชนปฏิวัติจะทำให้ต้องกลับมานั่งวางแผนกันใหม่
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐทราบเรื่องคำประกาศสงครามนี้ แต่สหรัฐไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงเป็นทางออกของวิกฤติ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรักษาสันติเพื่อให้สามารถจัดส่งความช่วยเหลือและยาเข้าไปได้
พีต วาวล์ส ทูตอังกฤษประจำเมียนมา โพสต์เฟซบุ๊กว่า อังกฤษประณามการรัฐประหารและความโหดร้ายของระบอบทหาร และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสานเสวนากัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |