การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน หรือสภาวะโลกร้อน ทำให้หลายๆ ประเทศเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมา ดังนั้น จึงเกิด “ข้อตกลงปารีส” จาก 196 ประเทศทั่วโลกที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส แต่ภายในเวลาเพียง 5 ปี (2559-2563) อุณหภูมิโลกกลับร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิโลกเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตลอดศตวรรษที่ 19 หลายเท่า
แม้ว่าจะมีการลงนามใน “ข้อตกลงปารีส” แต่ในด้านผลกระทบของสภาพอากาศร้อน ก็ยังทำให้ธารน้ำแข็งทั่วโลกเริ่มละลาย ทั้งยังหนุนน้ำทะเลให้สูงและร้อนขึ้น จนเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกสีและสัตว์ทะเลเกยตื้น ที่สำคัญยังเป็นต้นเหตุของภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม รวมถึงภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่รุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น ทำให้ขณะนี้มีหลายๆ ประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญและประกาศเดินหน้าเศรษฐกิจสีเขียวโดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมกันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 1 ใน 3 ของการปล่อยทั่วโลกในปี 2561 ได้ตั้งเป้าจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ 100% โดยเกาหลีภายในปี 2593 และจีนภายในปี 2603 ยังไม่รวมถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างก็ตั้งเป้ามุ่งสู่แนวทางเดียวกัน
สำหรับประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยได้มีการระดมสมอง (เวิร์กช็อป) ให้มุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เช่นกัน เพื่อให้สอดรับกับทิศทางประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย (ปี 2564-2569) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ที่จะกำหนดทิศทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดอุณหภูมิโลกร้อน
ล่าสุดรัฐบาลเองได้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน ที่มีผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ สอดรับวาระแห่งชาติโมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการว่า อุตสาหกรรมชีวภาพจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยของตลาดโลกเติบโตอยู่ที่ 13.8% ต่อปี ในช่วงตั้งแต่ปี 2558-2568
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญ ซึ่งเมื่อหลายวันก่อน สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เอ็มโอยูกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประเภทรับรองตนเอง
ซึ่งสุพันธ์ระบุว่าเป็นอีกกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นยุทธศาสตร์ด้านซัพพลาย ทำให้ผู้ผลิตโดยเฉพาะผู้ผลิตกลุ่มเอสเอ็มอีได้ปรับเปลี่ยนการผลิตตั้งแต่การออกแบบ จัดหาวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
และหากจะให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีพัฒนาเพื่อให้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น สิ่งสำคัญคือรัฐควรมีมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนได้รับการลดหย่อนภาษี 200% จากการผลิตและซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้รัฐบาลคงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง และสามารถเดินหน้าไปอย่างยั่งยืน เพราะหากล่าช้าอาจจะตามไม่ทันเทรนด์โลก และสุดท้ายก็จะกลายเป็นกลุ่มประเทศที่ตกยุคไป.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |