ยุบศบค.เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน


เพิ่มเพื่อน    

ก็เป็นไปได้.... 
    ๑ ตุลาคม ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
    ยุบ ศบค.
    หมายความว่า อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะมาตรา ๕ และมาตรา ๙ ที่ใช้ในการออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ ที่จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ ๓๐ กันยายนนี้นั้น 
    จะไม่มีการต่ออายุอีกแล้ว 
    และให้กลับไปใช้กฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ แทน
    ประเด็นนี้มีหลายแง่มุม 
    ตอนประกาศใช้ก็มีเสียงต่อต้านว่าเป็นการใช้อำนาจลิดรอนสิทธิของประชาชน 
    พอจะเลิก ก็มีคำถาม แล้วจะเอาโควิดอยู่หรือ เพราะการระบาดต่อวันยังอยู่ในหลักหมื่น ตายหลักร้อย 
    ก็ต้องดูในสิ่งที่รัฐบาลเตรียมเอาไว้ 
    "ลุงตู่" ประกาศเปิดประเทศเดือนตุลาคม 
    ฉะนั้นทุกอย่างต้องล้อกันไปทั้งหมด 
    ถามว่ามาถูกทางหรือเปล่า? 
    แค่เป็นข่าวก็ส่งผลด้านจิตวิทยาต่อตลาดหุ้น ร้อนแรงขึ้นมาทันที 
    แต่ตลาดหุ้นไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศไทย 
    คำถามคือ ชาวบ้านระดับล่างจะได้อะไรจากการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน? 
    หลักๆ สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติขึ้น ธุรกิจร้านรวงเปิดหมด ไม่มีเคอร์ฟิว เป็นต้น
    ขณะที่การเยียวยา การให้ความช่วยเหลือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแค่ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาดำเนินการแทน  
    เพียงแต่เมื่อแน่ชัดแล้วว่า ต้องเปิดประเทศแน่ๆ ในเดือนตุลาคมนี้ การจะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ มันจะดูอิหลักอิเหลื่อ 
    เหมือนไม่ไปไหนสักทาง 
    ฉะนั้นนี่จึงเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาล
    ศบค.รายงานสถานการณ์การระบาดโควิด-๑๙ ประจำวันที่ ๗ กันยายน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม ๑๓,๘๒๑ ราย 
    จำแนกเป็น ติดเชื้อใหม่ ๑๓,๓๐๓ ราย
    ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง ๕๑๘ ราย
    ผู้ป่วยสะสม ๑,๒๗๙,๔๐๘ ราย (ตั้งแต่ ๑ เมษายน)
    หายป่วยกลับบ้าน ๑๖,๗๓๗ ราย
    หายป่วยสะสม ๑,๑๒๒,๑๖๙ ราย (ตั้งแต่ ๑ เมษายน)
    ผู้ป่วยกำลังรักษา ๑๔๕,๔๖๕ ราย
    เสียชีวิต ๒๔๑ ราย
    ตัวเลขขาลงนี้ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการแต่งทำให้ดูดี เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง 
    แต่คนวงใน ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง มองไม่เหมือนฝ่ายค้าน
    ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า เสาวภา ไชยวิชา พยาบาลสาวจาก จ.ขอนแก่น ที่เคยอาสามาทำงานที่โรงพยาบาลสนามบุษราคัม (เมืองทองธานี) โพสต์ข้อความล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 
    "...ปิดไปแล้ว ๑ เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้น ทางนี้อยากปิดจ๊อบบ้าง อยากบินไปเที่ยวต่างประเทศล้าวว..."
    หมายความว่าอะไร? 
    การลดจำนวนลงของผู้ป่วย ไม่ได้เกิดจากการปั้นตัวเลข แต่มันเกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาลสนาม 
    ตัวเลขจากการแถลงข่าวของ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ มีความชัดเจนมากครับ
    "...ขณะนี้สถานการณ์เตียงเริ่มดีขึ้น จำนวนผู้เข้ารับบริการศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตรจากช่วงปลายเดือนกรกฎาคมพบมากสูงสุด ๓๕๐ ราย ขณะนี้ลดลงเหลือ ๓๐-๔๐ ราย เตรียมปิดศูนย์นิมิบุตรปลายเดือนกันยายนนี้ 
    จะมีโรงพยาบาลสนามเลิดสินขนาด ๒๐๐ เตียงรองรับ ดูแลรักษากลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง รวมถึงทำหน้าที่แรกรับส่งต่อด้วย 
    ส่วนโรงพยาบาลบุษราคัม ขณะนี้ปิดพื้นที่ ๑ ฮอลล์ เหลือเตียงรับผู้ป่วย ๒,๒๐๐ เตียง ยังมีเตียงว่าง ๑,๓๗๖ เตียง อยู่ระหว่างรักษา ๘๐๐ กว่าราย..."
    จะเห็นได้ว่าบรรยากาศในโรงพยาบาลสนามต่างจากเดือนที่แล้วอย่างสิ้นเชิง
    เราฉีดวัคซีนกันไปเท่าไหร่แล้ว?
    "หมอพร้อม" รายงานการฉีดวัคซีน วันที่ ๗ กันยายน จนถึงเวลา ๑๒.๑๕ น.  
    ฉีดสะสม ๓๗,๑๔๑,๙๑๙
    เข็ม ๑ ฉีดสะสม ๒๕,๗๕๐,๓๒๗ โดส
    เข็ม ๒ ฉีดสะสม ๑๐,๗๐๘,๒๕๐ โดส
    เข็ม ๓ ฉีดสะสม ๖๘๒,๙๑๖ โดส
    เข็ม ๔ ฉีดสะสม ๔๒๖ โดส 
    ใช้วัคซีนอะไรบ้าง และฉีดไปเท่าไหร่
    AstraZeneca ๑๖.๐๒๗  ล้านโดส
    Sinovac ๑๕.๖๔๐ ล้านโดส 
    Sinopharm ๔.๕๒๘  ล้านโดส 
    Pfizer ๙.๔ แสนโดส 
    Johnson & Johnson ๕ พันโดส 
    แต่...ยังวางใจไม่ได้ แม้ตัวเลขการระบาดจะเป็นขาลง แต่การคลายล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ผลของการล็อกดาวน์จะแสดงออกมาภายในไม่กี่วันอย่างแน่นอน 
    สัปดาห์หน้า น่าจะเห็นว่าสถานการณ์การระบาดโควิด-๑๙ ไปในทิศทางใด
    ครับ....คนที่ชอบใจมากที่สุดในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงหนีไม่พ้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะม็อบสามนิ้ว คาร์ม็อบ         
    เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดประเทศเมื่อไหร่ กลุ่มนี้เปิดฉากยึดเมืองหลวงเป็นพื้นที่ชุมนุมหนักหน่วงขึ้นอย่างแน่นอน 
    และอีกมุมที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจเป็นการเปิดฉากไปสู่การเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั้งท้องถิ่นและระดับชาติอีกด้วย 
    ฉะนั้นเสียงก่นด่าก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลเผด็จการ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ที่ผ่านมา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีไว้เพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ จริงๆ  
    ก็ย้อนกลับไปมอง ปีครึ่งนับแต่วันที่รัฐบาลประกาศ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ 
    กลุ่มหลักๆ ที่ต่อต้านอย่างหนักคือ พรรคฝ่ายค้าน และม็อบสามนิ้ว 
    มองว่า เป็นการประกาศเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองมากกว่าจัดการกับโควิด-๑๙
    ทั้งพรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) เพื่อไทย ต่างเสนอว่าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็เพียงพอแล้ว 
    แต่สุดท้ายเราได้เห็นว่าหลายประเทศทั่วโลก แม้กระทั่งในยุโรปก็ประกาศภาวะฉุกเฉินรับมือกับโควิด-๑๙   
    มาถึงวันนี้ อานิสงส์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ได้วางระบบและกลไกการทำงานเพื่อต่อสู้กับโควิดในระดับต่างๆ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค เอาไว้แทบจะทุกด้านแล้ว 
    การสับสวิตช์ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทนจึงไม่ยากเย็นอะไร
    ที่เหลือก็แค่คนไทยทั้งประเทศ การ์ดไม่ตก เท่านั้น 
    ถ้าประมาท พลาดขึ้นมา ไม่โทษตัวเอง แต่โทษรัฐบาลไว้ก่อน 
    มันก็จบเห่ไปพร้อมๆ กันอีกครั้งครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"