ผู้เฒ่าไร้สัญชาตินับแสนใกล้สมหวัง มท.เร่งให้บัตรปชช. ปรับหลักเกณฑ์ครั้งใหญ่ยึดโมเดลบ้านป่าคาสุข


เพิ่มเพื่อน    

ผู้เฒ่าไร้สัญชาตินับแสนใกล้สมหวัง มหาดไทยเร่งมือให้บัตรประชาชน ปรับหลักเกณฑ์ครั้งใหญ่ ใช้ “บ้านป่าคาสุขใจโมเดล” หลายฝ่ายร่วมมือ “ครูแดง” ชี้เป็นการสร้างขวัญกำลังให้ผู้สูงวัย

7 ก.ย.64 - นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีการแปลงสัญชาติชนกลุ่มน้อย กรณีผู้เฒ่าชาวอาข่า บ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับบัตรประชาชนและได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยตามนโยบายของรัฐ ซึ่ง มูลนิธิพชภ. ได้ประสานติดตามความคืบหน้ากับนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง และทีมเลขานุการของคณะทำงานกลั่นกรองสัญชาติระดับกรมและระดับกระทรวง จึงทราบว่าขณะนี้ผู้เฒ่าที่เป็นกรณีศึกษา 15 ราย จากบ้านป่าคาสุขใจ ได้รับความเห็นชอบจากคณะทำงานกลั่นกรองสัญชาติระดับกรมการปกครองแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 และต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ ตามมาตรา 25 พรบ.สัญชาติ ซึ่งมีนายชราวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ประธาน มีมติเห็นชอบคำร้องขอแปลงสัญชาติของผู้เฒ่าทั้ง 15 รายแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปกรมการปกครองจะต้องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุมัติและแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าจากการดำเนินงานแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการขึ้น ได้แก่ 1. หนังสือสั่งการโดยอธิบดีกรมการปกครอง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกรมการปกครองด้านสัญชาติและสถานะบุคคล โดยกำหนดเป็น 1 ใน 10 งานสำคัญของกรมการปกครองที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

2. หนังสือสั่งการโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อยโดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบให้ปรับปรุงแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวในการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งได้รับใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว อาทิ การมีความประพฤติดี ตามมาตรา 10 (2) โดยให้ยกเว้นการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมืองยาเสพติดและความมั่นคงของชาติ จากหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงมหาดไทย แล้วใช้การสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือไม่น้อยกว่า 3 คน ให้การรับรองแทน การมีอาชีพเป็นหลักฐาน ตามมาตรา 10 (3) โดยให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตที่ผู้ขอแปลงสัญชาติมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ อาจเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล และให้ยกเว้นการเรียกหลักฐานการเสียภาษี และเกณฑ์รายได้ การมีความรู้ภาษาไทย ตามมาตรา 10 (5) ให้พิจารณาจากการพูดหรือฟังภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา โดยต้องผ่านการสัมภาษณ์จากคณะทำงานสัมภาษณ์สังเกตพฤติกรรมและทดสอบความรู้ภาษาไทยของจังหวัดและไม่ต้องใช้เกณฑ์การให้คะแนนเหมือนคนต่างด้าวทั่วไป

นอกจากนี้หนังสือสั่งการแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสัญชาติให้ผู้เฒ่าไร้สัญชาติได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐ และห้ามมิให้มีการแสวงหาหรือรับผลประโยชน์ตอบแทนโดยเด็ดขาด

อดีต สว.เชียงราย กล่าวว่ากรณีศึกษาผู้เฒ่าชาวอาข่า บ้านป่าคาสุขใจ 23 ราย ได้เข้าสู่กระบวนการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามเกณฑ์ที่กำหนดใหม่ ได้เข้าสัมภาษณ์ต่อคณะทำงานสัมภาษณ์ฯจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยนายอำเภอแม่ฟ้าหลวง ได้เสนอต้นแบบที่สำคัญ คือ 1. การบันทึกวิดีโอสัมภาษณ์ผู้เฒ่าที่ป่วย ไม่สามารถเดินทางมาทำการสัมภาษณ์โดยคณะทำงานฯ ได้เพื่อเสนอต่อคณะทำงานในที่ประชุม เพื่อไม่ให้ผู้เฒ่าต้องเสียสิทธิในการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ 2. เสนอต่อประธานในที่ประชุม คือปลัดจังหวัด ให้คณะทำงานสัมภาษณ์กลุ่ม เพื่อไม่ให้ผู้เฒ่าซึ่งแก่ชราต้องอยู่ในที่ประชุมนานเกินไป

ทั้งนี้มูลนิธิพชภ.ได้ดำเนินงานโครงการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ ด้วยความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยร่วมมือกับนักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติ  อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง แม่จัน แม่สาย และเชียงของ ฯลฯ  ซึ่งข้อมูลของกรมการปกครอง ระบุว่าประเทศไทยมีคนต่างด้าว ที่มีอายุเกิน 60 ปี รวม 111,239 คน ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ มีเลขบุคคลประเภท 8 จำนวน 12,219 คน และเลขบุคคลประเภท 3,4,5 จำนวน 26,385 คน ทั้งสองกลุ่มนี้จะเข้าสู่กระบวนการได้สัญชาติไทยด้วยการแปลงสัญชาติตามมาตรา 10 ของ พรบ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 เช่นเดียวกันกับกรณีตัวอย่างบ้านป่าคาสุขใจ

“ความคืบหน้านี้เป็นขวัญกำลังใจให้ผู้เฒ่าที่รอคอยด้วยความหวังที่จะมีอายุยืนยาวไปถึงวันที่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้แปลงสัญชาติเป็นไทยหวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเร่งรัดให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สำเร็จโดยเร็วที่สุดเพราะหลังจากได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว กรมการปกครองจะต้อง ส่งเรื่องให้จังหวัดดำเนินการจัดให้ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตฯ ปฏิญาณตนที่จะเป็นพลเมืองที่ดี จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แล้วจึงส่งรายชื่อไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะถือว่าเป็นคนสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์” นางเตือนใจ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"