'ชาวเลราไวย์' ติดเชื้อโควิดทะลุ 220 ราย จวกภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไร้การเยียวยาทำเดือดร้อนหนัก


เพิ่มเพื่อน    

7 ก.ย.64 - นายสนิท แซ่ซั่ว ชาวเลชุมชนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ชุมชนอยู่ในขั้นวิกฤติ แม้ชาวบ้านร้อยละ 90 จะได้รับการฉีดวัคซีนชิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว โดยพบมีผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษาตัว 220 คน ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 44 คน อยู่ในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ(Hospital) 165 คน

ล่าสุดวันนี้เพิ่งตรวจพบเชื้ออีก 11 คน และคาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกทุกวัน เพราะหน่วยงานสาธารณสุขยังไม่ได้เข้ามาตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อแบบปูพรม ทำให้เชื่อว่ายังผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยและผู้ป่วยไม่แสดงอาการแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก และลักษณะชุมชนที่แออัดทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ล่าสุดมีชาวเลเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย นอกจากนี้ชุมชนชาวเลอื่นในเกาะภูเก็ตก็ยังพบการระบาดของโรคอย่างหนักไม่แพ้กัน เช่น ชุมชนแหลมตุ๊กแกพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ราย ชุมชนชาวเลบ้านสะปำมีคำสั่งจังหวัดภูเก็ตให้ปิดชุมชน รวมถึงชาวเลตามเกาะในทะเลอันดามันก็ส่งข่าวมาว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน

“การประกาศให้เป็นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทั้งโควิดยังระบาดหนัก นักธุรกิจใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ นักท่องเที่ยวลงมาก็ไปเที่ยวตามโปรแกรมหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ แต่ชาวบ้านยังติดเชื้อเพิ่มทุกวัน และไม่สามารถประกาศเป็นพื้นที่สีแดงได้ ถ้าประกาศสีแดงได้ อย่างน้อยชาวบ้านจะได้รับการช่วยเหลือเต็มที่ตามมาตรการของรัฐเหมือนจังหวัดอื่น”นายสนิท กล่าว

นายสนิท กล่าวต่อว่า ตอนนี้ชาวบ้านทุกครัวเรือนกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วชุมชน โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวป่วยต้องไปรักษาหรือกักตัว ทำให้การออกเรือหาปลาต้องหยุดชะงัก ขณะที่งานอื่นๆ ก็หาได้ยากในสถานการณ์แบบนี้ เพราะคนข้างนอกไม่อยากเข้าใกล้ชาวบ้านที่มาจากราไวย์เพราะรู้ว่าโควิดระบาดหนัก การช่วยเหลือมีเพียงเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตที่ตั้งศูนย์ทำข้าวกล่องมาแจกให้ชาวบ้านแต่ยังไม่เพียงพอ จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานท้องถิ่นหรือทางจังหวัดเร่งมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยแจกเครื่องยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึงเร่งตรวจคัดกรองทั้งชุมชนเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ก่อนที่เชื้อจะแพร่กระจายไปทั้งหมู่บ้าน

“แม้ว่าเราออกหาปลามาได้ ก็ไม่มีใครอยากซื้อเพราะเขากลัวติดโควิด พวกเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร สถานการณ์ตอนนี้ชาวบ้านลำบากกันจริงๆ”นายสนิท กล่าว

ด้านครูแสงโสม หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อรวมมากกว่า 200 คน จากจำนวนประชากรทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้านรวมประมาณ 2,000 คน ส่งผลให้ต้องมีมาตรการปิดเกาะมานานกว่า 1 เดือนแล้ว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์โควิดที่ยาวนานส่งผลต่อเศรษฐกิจของชุมชนอย่างมาก เนื่องจากการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ทำให้ชาวบ้านที่ขับเรือท่องเที่ยวรับจ้าง ลูกจ้างโรงแรมตกงาน ต้องกลับมาออกเรือหาปลาแต่ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะร้านอาหารบนเกาะปิดทั้งหมดทำให้ราคาอาหารทะเลตกต่ำ ส่งไปขายบนฝั่งตลาดก็ไม่มีความต้องการสูงเหมือนเดิม การออกทะเลจึงเป็นเพียงการหาปลาเพื่อนำมาบริโภคประทังชีวิตเป็นหลัก

“ชาวบ้านจะออกจากเกาะไปหางานทำก็ไม่ได้ เพราะต้องกักตัว ปิดเกาะ หลายคนตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟปั่นหน่วยละ 18 บาทให้เอกชน ค้างจ่ายไม่ได้ก็ต้องถูกตัดไฟ บางครอบครัวถูกตัดไฟมา 3-4 เดือนแล้ว โรงเรียนต้องเป็นสถานที่กักตัวเพราะคนติดเชื้อเยอะมาก ชาวบ้านต้องตั้งศูนย์ต้านโควิดด้วยสมุนไพร แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้าง หลายหน่วยงานได้ลงมาช่วยและกระจายการฉีดวัคซีนมากขึ้น” ครูแสงโสม กล่าว

ขณะที่นางสาวพรสุดา ประมงกิจ ชาวเลชุมชนแหลมตงบนเกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า แม้ชาวเลบนเกาะพีพีจะไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านบางส่วนที่มีอาชีพพึงพาการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรมหรือร้านอาหารต้องถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือนลงครึ่งหนึ่ง ชาวบ้านผู้ชายต้องอาศัยออกเรือหาปลามาขายและใช้เป็นอาหารในครัวเรือน ผู้หญิงออกหาหอยตามโขดหินประคับประคองตามสถานการณ์ การใช้จ่ายในครัวเรือต้องประหยัดอย่างที่สุด ขณะที่ปัญหาที่ดินนั้น ทางอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีแจ้งกับชาวบ้านว่า ชุมชนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติฯ ตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ มีสิทธิอยู่อาศัยและทำกินได้ไม่เกิน 20 ปี ซึ่งชาวบ้านรู้สึกตกใจว่าในอนาคตชุมชนอาจถูกขับไล่ออกจากเกาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมของชาวเล จึงร่วมมือกับเครือข่ายในการผลักดัน ร่าง พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชนของชาวเลในอันดามันทั้งหมด

“โควิดทำให้ไม่มีเรือเมล์วิ่งมาที่เกาะพีพี เหลือแต่เรือขนส่งสินค้าสัปดาห์ละครั้ง เกาะพีพีอยู่ห่างไกลมาก การช่วยเหลือหรือการดูแลอาจไม่ทั่วถึง โชคดีที่ฝั่งหาดแหลมตงยังไม่มีชาวเลติดเชื้อ แต่ก็ต้องอยู่อย่างลำบาก กินแต่ปลา ข้าวก็หุงน้อยลงเพราะราคาแพง ที่น่าเป็นห่วงคือหากมีชาวบ้านป่วยหนัก คนที่ไม่มีเงินหรือไม่มีเรือหางก็จะไปหาหมอลำบากบนฝั่งลำบากเพราะเรือเมล์ไม่มีวิ่ง ตอนนี้ชาวบ้านก็เตรียมพร้อมหาสมุนไพรมาปลูก เผื่อไว้รักษาอาการป่วย” นางสาวพรสุดา กล่าว

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชาวเลในอันดามันที่เป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านสิทธิชุมชนอยู่แล้วก็ยังได้รับผลกระทบจากโควิดซ้ำเติมด้วย โดยมีการร้องเรียนเข้ามาหลายกรณี เช่น ปัญหาที่ดินชุมชนบนเกาะหลีเป๊ะที่มีข้อพิพาทกับเอกชนและอุทยานฯ กำลังเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่กรณีเร่งด่วนที่มีการร้องเรียนล่าสุด คือ กรณีเกาะจำ จ.กระบี่ ที่ทางอุทยานแห่งชาติฯ แจ้งกับชาวบ้านให้รื้อถอนบาฆัด (ที่อยู่อาศัยและใช้เก็บอุปกรณ์หาปลาตามวิถีดั้งเดิมของชาวเล) ออกภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 แต่ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตามข้อมูลการสำรวจชาวบ้านตั้งบากัสมากว่า 60-70 ปีแล้ว รวมไปถึงเกาะพีพีด้วย ซึ่งจะหมุนเวียนเข้าไปใช้บาฆัดหนีลมมรสุม โดยเรื่องนี้อาจเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ และเป็นข้อขัดแย้ง ทาง กสม.จะเข้าไปตรวจสอบด้วย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"