วันศุกร์นี้ 10 ก.ย. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะมีการประชุมเพื่อลงมติ ให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มีการแก้ไขเรื่องการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส.ส. จากระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นบัตรสองใบ รวมถึงแก้ไขระบบการคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง
การประชุมครั้งนี้ เป็นการโหวตวาระสาม ซึ่งร่างแก้ไข รธน.ที่จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จะต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เกินกึ่งหนึ่งขึ้นไป และในจำนวนดังกล่าวต้องมี ส.ว.ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง ร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวจึงจะผ่านความเห็นชอบ และจากนั้นจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
ดังนั้น เสียงลงมติที่จะชี้ชะตาว่าบัตร 2ใบจะเกิดขึ้นหรือสะดุดในยกสุดท้ายก็คือ สมาชิกวุฒิสภา นั่นเอง
ท่าทีจากสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนสะท้อนไว้ดังนี้ "พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร หรือบิ๊กเยิ้ม - เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" ย้ำว่า จุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเหมือนเดิม คือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก เพราะระบบที่ใช้อยู่ปัจจุบันดีและแก้ปัญหาต่างๆ ในอดีตไว้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข
เมื่อถามว่า ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่าระบบบัตรสองใบ จะทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาใช่หรือไม่ "พลเอกธวัชชัย" กล่าวว่า ก็อาจจะมีส่วน เพราะก็มีตัวอย่างมาแล้ว เพราะอย่างผมเคยเป็นทหารอยู่ที่ภาคอีสานมาตลอดชีวิต จึงรู้เรื่องพวกนี้ดีเยอะแยะไปหมด เพียงแต่ไม่อยากพูด
ขณะที่ “สังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว.”กล่าวว่า การลงมติของ ส.ว.เป็นฟรีโหวต ที่ ส.ว.แต่ละคนจะลงมติได้โดยอิสระและชอบธรรม และเมื่อถามว่ายังมี ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับบัตรสองใบเพราะเกรงจะเกิดเผด็จการรัฐสภาแบบในอดีต "สังศิต" แสดงท่าทีไว้ชัดๆ ว่า "ก็เป็นเรื่องที่กังวลใจ หากกลับไปใช้บัตรสองใบแล้วทำให้จะเกิดเผด็จการรัฐสภาแบบในอดีตอีก เพราะเราเคยมีบทเรียนมาแล้ว”
เช่นเดียวกับ "มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา" กล่าวเช่นกันว่า จะลงมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะระบบที่เสนอแก้ไขจะทำให้เกิดระบบการเมืองและการเลือกตั้งแบบพับสนาม เนื่องจากอาจมีพรรคการเมืองได้ส.ส.ในสภาเกือบ 400 เสียงแบบในอดีต จนเกิดเสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ท่วมท้นล้นหลาม ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับเผด็จการ แม้สภาจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ระบบก็คือเผด็จการ เพราะฝ่ายค้านจะไม่มีน้ำยาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เมื่อฝ่ายค้านตรวจสอบไม่ได้ สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความรุนแรง การเมืองก็จะลงสู่ท้องถนนอีก แล้วก็เกิดเงื่อนไขจนนำไปสู่การยึดอำนาจขึ้น แต่หากถามว่าแนวโน้มการลงมติวันศุกร์นี้จะออกมาแบบไหน ถึงตอนนี้ยังมองว่าก็มีโอกาสน่าจะผ่านวาระสาม
ส่วน "พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช -ส.ว." เชื่อมั่นว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะลงมติเห็นชอบกับการแก้ไข รธน.ครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของ ส.ส. ที่ต้องการอยากได้ระบบเลือกตั้งที่ต้องการ ที่สำคัญ ตอนนี้หลายคนเห็นแล้วว่าระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวและการคิดคำนวณจำนวนที่นั่งส.ส.ในสภาที่เขียนไว้ใน รธน.ฉบับปี 2560 เป็นระบบที่สร้างปัญหามาก แต่ระบบที่แก้ไขครั้งนี้ มีความชัดเจน ไม่สลับซับซ้อน การคำนวณคะแนนทำได้ง่ายกว่า จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าระบบบัตรใบเดียว
เมื่อถามถึงเสียงทักท้วง ข้อเป็นห่วงว่าระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่แก้ไขจะทำให้เกิดระบบเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมากแบบในอดีต "พลเอกเลิศรัตน์" มองว่า หากดูจาก รธน.ฉบับปี 2560 ผู้ร่าง รธน.ระมัดระวังเรื่องเผด็จการรัฐสภาไว้แล้ว เลยเขียนไว้ว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีให้ใช้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้านเพียงแค่ 1 ใน 5 คือ 100 คนขึ้นไปเท่านั้นในการลงชื่อเสนอญัตติขออภิปรายรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่าหลังเลือกตั้งหากใช้ระบบนี้ ฝ่ายค้านมี ส.ส.เกิน 100 คนแน่นอน ขนาดเลือกตั้งปี 2548 ที่ไทยรักไทยได้ ส.ส.มากถึง 377 เสียงเพียงพรรคเดียว ตอนนั้น ฝ่ายค้านก็ยังมี 123 เสียง อีกทั้ง เผด็จการรัฐสภาจะเกิดขึ้นได้ หลักคือจะเกิดการรวมพรรคกันหลังเลือกตั้ง เห็นได้จากตอนไทยรักไทย ที่ไปนำพรรคการเมืองอื่นมารวมเข้าด้วยกัน (ความหวังใหม่-เสรีธรรม-ชาติพัฒนา) แต่สถานการณ์เวลานี้ มันยากมากที่จะเกิดการรวมพรรคแบบในอดีตได้ เพราะพรรคการเมืองปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่าอดีต โอกาสจะไปรวมกันเป็นพรรคเดียวมันจึงยาก เรื่องที่ห่วงกันว่าจะเกิดเผด็จการรัฐสภาจึงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ
"พลเอกเลิศรัตน์" กล่าวถึงข้อดีของการแก้ไข รธน.รอบนี้ว่า ระบบที่เสนอแก้ไขครั้งนี้ ที่มีการลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลงจาก 150 คน เหลือ 100 คน สัดส่วนเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ จะถูกแบ่งไปให้หลายพรรคการเมือง คะแนนที่จะปัดไปให้พรรคเล็กมันจะยากขึ้น เพราะระบบที่แก้ไข การจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน จะต้องได้คะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 350,000 คะแนน ที่คิดจากคะแนนของประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศโดยประมาณ ทำให้พรรคการเมืองที่เคยได้คะแนนเลือกตั้ง 30,000-40,000 คะแนนแล้วได้ ส.ส.พรรคและหนึ่งคนอย่างที่เป็นมาจะไม่มีอีกแล้ว
ข่าวหลายกระแสในสภาสูง ส.ว.หลายคนยังเทน้ำหนักไว้ว่า ส.ว.จะออกเสียงสนับสนุนการแก้ไข รธน.ครั้งนี้เกิน 84 คน แต่ ส.ว.บางส่วนที่เป็น ส.ว.เสียงข้างน้อยยังหวังว่าสถานการณ์อาจพลิกในช่วงโค้งสุดท้าย หากมีสัญญาณบางอย่างส่งซิกมา ซึ่งสุดท้ายต้องรอติดตามศุกร์นี้ 10 ก.ย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |