ไทยติดเชื้อขาลง 1.3 หมื่นราย ดับต่ำกว่า 200 คน เตือนการ์ดอย่าตก คุมไม่ดีหวั่น ต.ค.พุ่งกลับ 3 หมื่นราย นายกฯ นัดถก ศบค.ชุดใหญ่ศุกร์นี้ ประเมินตัวเลข 14 วัน จ่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบ ศบค. ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขแทน "เลขาฯ สมช." ฟุ้ง กม.ใหม่แก้ตรงจุดรับมือสถานการณ์ดีกว่า ยังไม่ทบทวนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 กันยายน เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,988 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,527 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,561 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,966 ราย และมาจากเรือนจำ 444 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,294,522 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 17,284 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,132,858 ราย อยู่ระหว่างรักษา 148,622 ราย อาการหนัก 4,601 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,013 ราย ตัวเลขตรงนี้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ถือเป็นข่าวดี จะได้ใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลน้อยลง
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 187 ราย เป็นชาย 101 ราย หญิง 86 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 131 ราย มีโรคเรื้อรัง 41 ราย มีเด็กอายุ 13 ปีเสียชีวิต 1 ราย พบว่ามีโรคประจำตัวที่ จ.ตาก เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย อยู่ที่ จ.ระยอง ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 13,042 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อใหม่ 221,542,850 ราย เสียชีวิตสะสม 4,581,744 ราย ไทยอยู่อันดับที่ 29 ของโลก ซึ่งดูจากอัตราผู้ติดเชื้อของประเทศต่างๆ ที่มีเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นช่วงๆ จึงไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดที่ตรงไหน เราต้องเรียนรู้ แต่ถ้าดูเฉพาะอัตราการเสียชีวิตของโลกจะอยู่ที่ 2.07% แต่ของไทยอยู่ที่ 1.02% ถือว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามทำกันอยู่คือ การพยายามให้วัคซีนที่จะช่วยลดการเจ็บหนักและเสียชีวิต ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 325,218 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 35,912,894 โดส ถือว่าเราฉีดมาได้ครึ่งทางของเป้าหมายแล้ว แต่ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ยังต่ำอยู่ จึงขอเชิญชวนให้มาฉีด
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,610 ราย, สมุทรปราการ 868 ราย, สมุทรสาคร 711 ราย, ชลบุรี 703 ราย, เพชรบูรณ์ 488 ราย, ระยอง 464 ราย, นนทบุรี 300 ราย, พระนครศรีอยุธยา 294 ราย, นครราชสีมา 278 ราย, ราชบุรี 267 ราย ทั้งนี้ หากไปดูฉากทัศน์การคาดการณ์ผู้ติดเชื้อที่มีการทำไว้ก่อนหน้านี้จะเห็นว่า มาตรการที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนระดับหนึ่ง ทำให้สถานการณ์จริงเป็นไปตามคาดการณ์ผู้ติดเชื้อกรณีประชาชนให้ความร่วมมือร้อยละ 25 และวันนี้ถือว่าต่ำกว่ากราฟผู้ติดเชื้อที่มีการคาดการณ์เอาไว้แล้ว แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ ขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองให้ดี การ์ดอย่าตก ไม่เช่นนั้นแรงเฉื่อยจะทำให้ช่วงปลายเดือน ก.ย.กับต้นเดือน ต.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นกลับมา และหากคุมไม่ดีอาจไปแตะ 3 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตในปัจจุบันสอดคล้องกับเส้นกราฟที่มีการคาดการณ์กันไว้ในกรณีประชาชนให้ความร่วมมือร้อยละ 25 แต่เดือน ต.ค.ยอดอาจจะพุ่งได้เช่นกัน
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ขอให้ทุกคนได้ติดตามสถานการณ์จากที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นวันศุกร์ที่ 10 ก.ย.นี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. จะเป็นประธานการประชุมด้วยตัวเอง เพื่อพิจารณาตัวเลขผู้ติดเชื้อในรอบ 14 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ ขอย้ำกับทุกคนว่าวันนี้เรากินบุญเก่าของ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อที่จะมีผลดีในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้กิจการกิจกรรมต่างๆ สามารถผ่อนคลายมาตรการ
มีรายงานข่าวจาก ศบค.ว่า ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทั้งมาตรา 5 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่จะให้สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และมาตรา 9 ซึ่งใช้ออกข้อกำหนดต่างๆ โดยกลับไปใช้กฎหมายปกติ อย่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน ซึ่งจะส่งผลให้ ศบค.สิ้นสภาพไปโดยปริยาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตามหน้าที่ปกติ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงกระแสข่าว ศปก.ศบค.เตรียมเสนอให้พิจารณาให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า ทุกอย่างต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า เรื่องนี้ นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค.มีนโยบายให้เตรียมการไว้อยู่แล้ว และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ผ่านมาสังคมก็ไม่สบายใจ แม้จะอยู่ร่วมกับกฎหมายดังกล่าวโดยแทบไม่รู้สึก แต่การใช้ต้องมีวันสิ้นสุด ส่วนจะให้สิ้นสุดเมื่อไหร่แล้วแต่นโยบายของรัฐบาลและ ศบค.
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์แพร่ระบาดไม่ได้เป็นตัวชี้วัดการมีอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง แต่วันนี้อาจจะมีกฎหมายอื่น สธ.กำลังปรับปรุงพัฒนา พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้ หากกฎหมายเสร็จสิ้น ทางศบค.พร้อมที่จะนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อถามว่า แนวโน้มจะไม่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนก.ย.นี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เป็นไปได้ ถ้าสถานการณ์การระบาดทรงตัวอยู่ในลักษณะนี้ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนดีพอสมควร และประชาชนเข้าใจกันมากพอสมควร แม้จะมีบางส่วนที่ยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ถ้าอยู่ระดับนี้ต่อหรือดียิ่งขึ้นก็สามารถพิจารณาได้ แต่ที่จริงสถานการณ์ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ เพียงแต่เป็นปัจจัยที่จะนำมาพิจารณา โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. และนโยบายของรัฐบาลพิจารณา
"ถ้าไม่ได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค.ก็ต้องหมดและจบภารกิจไป แต่ไม่ใช่ว่าจบแล้วหายไปจากวงจรจากระบบ แต่อาจจะแปรสภาพเป็นระบบอื่นที่มีกฎหมายใหม่รองรับ ส่วนรูปแบบจะขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข หรือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติทีมใหม่ ว่าจะใช้รูปแบบ ศบค. ปัจจุบัน หรือรูปแบบอื่น โดยกฎหมายใหม่ที่จะรองรับรัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ และเท่าที่เห็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขผ่านตา น่าจะตอบโจทย์และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ และน่าจะดีกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีแต่ความเข้มข้น แต่ไม่ตอบโจทย์ทุกกรณี ส่วนกฎหมายใหม่ตอบโจทย์ได้ทุกกรณี สามารถรับมือสถานการณ์ได้แน่นอน และผ่านการเสนอโดย สธ.ทราบดีว่าอะไรคือปัญหา ต่างจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้คลุมในทุกเรื่อง" พล.อ.ณัฐพลระบุ
ส่วนมีแนวโน้มจะพิจารณาคลายล็อกมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ครั้งต่อไปหรือไม่นั้น นโยบายของ ศบค. ต้องฟังจาก สธ.ก่อน จากนั้นจึงไปหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่ามีความเห็นอย่างไร เช่น กระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ และกระทรวงทางด้านสังคม มีข้อพิจารณาว่าทำแบบนี้จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมอย่างไร หรือจะขอผ่อนคลายต้องพูดคุยกันในที่ประชุม
เมื่อถามถึงกรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อประมาณ 900 คน มีโอกาสที่จะทบทวนโครงการดังกล่าวหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ดูอยู่ทุกวัน โดย ศปก.ศบค.คุยกับหน่วยงานดังกล่าววันเว้นวัน ตามที่นายกฯ สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด แม้จะเป็นตัวเลขที่มาก และจัดเตรียมพร้อมไว้แล้ว แต่ความเห็นจากทางสาธารณสุขยังไม่น่าหนักใจ ยืนยันว่าเวลาที่จะพิจารณาในแต่ละมาตรการ ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต และขีดความสามารถของเตียงที่จะใช้รองรับ และเท่าที่รับฟังจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตยืนยันว่ายังมีขีดความสามารถในการดูแล
ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงว่า เตียงในกรุงเทพฯ ยังมีความตึงตัว จะเห็นจากกราฟที่จำนวนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการที่เป็นสีเขียวเข้มบวกกับผู้ป่วยสีเขียวอ่อน จะเห็นได้ว่าตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 75% ส่วนคนไข้สีเหลืองอยู่ที่ 20% และคนไข้สีแดงอยู่ที่ 3% โดยสรุปแล้วคนไข้ที่ครองเตียงทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณกว่า 4 หมื่นราย สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตและใช้เครื่องช่วยหายใจแนวโน้มตัวเลขลดลง ยังยืนยันว่าสถานการณ์กรุงเทพฯ และปริมณฑลตอนนี้ค่อนข้างดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สำหรับศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตร ตอนนี้เหลือแค่ 9 คนเท่านั้น และจะปิดตัวในวันที่ 30 ก.ย. ส่วนโรงพยาบาลบุษราคัม ขณะนี้ว่างอยู่ 1,376 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ 800 คน ซึ่งคาดการณ์เอาไว้ว่าสัญญากับทางอิมแพ็คจะหมดสิ้นเดือน ต.ค. ยืนยันว่าการบริหารเตียงรวมถึงเตียงสีแดงค่อนข้างสบายขึ้นแล้ว ผู้ป่วยที่ต้องการเข้าโรงพยาบาลแม้แต่สีแดงภายใน 24 ชม. เราก็หาเตียงให้ได้แล้ว
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ในต่างประเทศ เช่น สายพันธุ์มิว ที่มีคนบอกว่าอาจจะหนีวัคซีนหรือภูมิได้ดี ในต่างประเทศมีการวิจัยยาหลายตัวที่อยู่ในเฟส 2 ต่อเฟส 3 และจะได้ผลในสิ้นเดือน ก.ย.-พ.ย. สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเจรจากับบริษัทผู้แทนจำหน่ายยาของต่างประเทศทั้งหมด โดยในต่างประเทศตอนนี้มีการออกข่าวว่า ยา molnupiravir, Protease Inhibitor ของไฟเซอร์ ว่าถ้าเขาทดลองเฟส 3 ซึ่งถ้าได้ผลดี มีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง เราจะรีบนำมาใช้ถ้ามีการระบาดระลอกถัดไป รวมถึงการศึกษาการใช้ยาในประเทศไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |