สว.ส่อคว่ำร่างรธน. แก้ถอยหลังเข้าคลอง วิปฯยังลุ้นผ่านวาระ3


เพิ่มเพื่อน    

ประธานวิปรัฐบาลกัดฟันเชื่อโหวตวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านได้ “ปชป.” ประกาศดันสุดลิ่มมาตั้งแต่วาระแรก ส่วนเพื่อไทยบอกขอดูทิศทางลมก่อน! “ส.ว.” เสียงแตก รอดูสัญญาณช่วงเย็นวันที่ 9 ก.ย. แต่ “วันชัย” ชี้โหวตคว่ำมาแรง อ้างผลพวงอภิปราย แก้ถอยหลังเข้าคลอง แค่ประโยชน์นักการเมือง “คำนูณ” ซัดเหล้าเก่าในขวดใหม่ รัฐบาลจับมือฝ่ายค้านกินรวบประเทศเหมือน 16 ปีที่แล้ว 
    เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กันยายน เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) ในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย. เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนคือการลงมติในวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) 
โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงความมั่นใจในการโหวตวันที่ 10 ก.ย.ว่า เราก็ผ่านมาและยืดมาหลายครั้ง ตั้งใจและคิดว่าน่าจะผ่าน แต่ถ้าไม่ผ่านก็อยู่ที่ ส.ว.จะกรุณา เพราะเท่าที่อ่านข่าวมาก็เห็นนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ออกมาแสดงความคิดคนเดียว ส่วน ส.ว.คนอื่นก็ยังไม่เห็นมีท่าทีอะไร    
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่า ได้นัด ส.ส.พรรค รวมทั้งรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องเข้าประชุมร่วมกันในวันอังคารที่ 7 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมแล้ว ซึ่งพรรคเห็นชอบตั้งแต่วาระรับหลักการจนถึงวาระที่ 2 ไม่ใช่เพราะเป็นร่างแก้ไขที่พรรคเสนอ แต่เป็นเพราะการแก้ไขจะช่วยทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้การแก้ไขครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมองทั่วไปดูเหมือนว่า ส.ส.แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เมื่อมองอย่างถี่ถ้วนแล้วจะเห็นว่าการแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพราะการเลือกตั้งแบบเดิมจะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่เมื่อแก้ไขแล้วจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบคือ เลือก ส.ส. เขต 1 ใบ เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือเลือกพรรคอีก 1 ใบ เท่ากับเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงเจตจำนงในการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัด และทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งตามไปด้วย
“ที่พรรคการเมืองบางพรรคจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัย ก็เป็นสิทธิที่จะยื่นเรื่องให้วินิจฉัย แต่ในส่วนของพรรคยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีอะไรขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด”
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวเรื่องนี้ว่า ต้องรอประชุมพรรคในช่วงเช้าวันพุธที่ 8 ก.ย.นี้ เพราะพรรคเวลาโหวตต้องประชุมกันก่อน หลังประชุมจึงตอบได้ว่ามีทิศทางอย่างไร
    ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า พรรคกำลังดูกระแสโหวตคว่ำและให้ผ่านว่าเขาจะใช้วิธีคิดอย่างไร อาจเป็นไปได้ 2 ทาง ยังไม่ได้ฟังเสียงใดเสียงหนึ่ง คนที่เสนอความเห็นออกมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว พรรคจะรอประเมินถึงนาทีสุดท้าย ส่วนความกังวล การลงมติต้องใช้เสียง 1 ใน 3 จาก ส.ว.ด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่าหากคิดตามหลักเหตุผลน่าจะผ่านได้ แต่ถ้าไม่อยู่บนหลักเหตุผลก็น่าจะเสี่ยง    
แจงสัญญาณคว่ำแรง
    ด้านความคิดเห็นของ ส.ว.นั้น นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า ตั้งแต่การพิจารณาวาระ 2 มีสัญญาณอยู่แล้วถ้าไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในบางบทหรือบางมาตรา เชื่อว่าอาจไม่ผ่านการพิจารณาในวันนั้น ซึ่งจากเหตุการณ์หลังลงคะแนนในวาระ 2 ที่ผ่านมา ส.ว.ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันตลอด ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองและนักการเมืองล้วนๆ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น เราเห็นว่าหากระบบแบบนี้มีข้อบกพร่อง และย้อนรอยกลับไปตั้งแต่ปี 2540 ไม่ได้แก้ไขเพื่อเดินหน้า แต่เป็นการแก้ถอยหลัง และจนวันนี้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่าง ส.ว.เป็นจำนวนมากในทำนองว่าจะรับหรือไม่รับ แม้กระทั่งวันนี้ก็มีหลายกลุ่มที่พูดคุยกัน และเชื่อว่าในวันที่ 9 ก.ย.จะชัดเจน แต่เท่าที่ติดตามมาโดยตลอดมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าอาจไม่รับร่างครั้งนี้ก็ได้ แต่ต้องรอดูกันต่อไป เพราะแต่ละวันมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยตลอด
    เมื่อถามถึงกรณีที่พรรค พปชร.มีปัญหากันช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะส่งต่อการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายวันชัยยอมรับว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เกิดแรงกระเพื่อมไปทุกฝ่าย แม้จะบอกว่าไม่ได้มีผลโดยตรง แต่ก็เกิดแรงกระเพื่อมในการเปลี่ยนแปลงเรื่องการโหวตได้ แต่ไม่ได้มีสัญญาณมาจากฝ่ายการเมือง หรือสัญญาณจากผู้มีอำนาจให้โหวตอย่างไร โดยเท่าที่ดูจากการแลกเปลี่ยนของ ส.ว.มาจากความรู้สึกนึกคิดของพวกเรากันเอง และสัญญาณนี้เท่าที่ดูนั้นพบว่าจะไม่รับร่างแรงพอสมควร
“ผมงดออกเสียงมาตั้งแต่ต้น และแต่ละคนเชื่อว่าเขาจะตอบได้ แต่จะตอบอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เชื่อว่าเรามีหลักการและเหตุผลยืนยันมาตลอด เพราะเราพูดกันมาแล้วว่าการแก้ไขครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เพื่ออำนาจและความได้เปรียบทางการเมืองล้วนๆ” นายวันชัยกล่าวตอบข้อถามว่าจะชี้แจงสังคมอย่างไรในเมื่อ ส.ว.กว่า 100 คนโหวตรับร่างมาแล้ว แต่ในวาระ 3 จะมาคว่ำร่าง
     นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การลงมติของ ส.ว.เป็นฟรีโหวตที่แต่ละคนจะลงมติได้โดยอิสระและชอบธรรม ซึ่ง ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับบัตรสองใบ เพราะเกรงจะเกิดเผด็จการรัฐสภาแบบในอดีตนั้น ก็เป็นเรื่องที่กังวลใจหากกลับไปใช้บัตรสองใบ เพราะเราเคยมีบทเรียนมาแล้วในเรื่องนี้
    นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. กล่าวเช่นกันว่า จะลงมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะแม้บัตรใบเดียวทำให้ฝ่ายบริหารทำงานยาก เพราะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กมากเกินไปในสภาและในรัฐบาล และก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับระบบที่เสนอแก้ไขมาในระบบคิดคะแนนและจำนวน ส.ส.ในสภาของพรรคการเมือง ซึ่งระบบบัตรสองใบจะทำให้เกิดระบบการเมืองและการเลือกตั้งแบบพับสนาม ทำให้มีพรรคการเมืองอาจได้ ส.ส.ในสภาเกือบ 400 เสียงแบบในอดีต จนเกิดเสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ท่วมท้นล้นหลาม ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับเผด็จการ แม้สภาจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ระบบก็คือเผด็จการ ฝ่ายค้านจะไม่มีน้ำยาในการตรวจสอบ ฝ่ายค้านตรวจสอบไม่ได้ สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความรุนแรง การเมืองก็จะลงสู่ท้องถนนอีก แล้วก็เกิดเงื่อนไขจนนำไปสู่การยึดอำนาจขึ้นอีก 
“หากถามว่าแนวโน้มการลงมติวันศุกร์นี้จะออกมาแบบไหน ความเห็นส่วนตัวมองว่าก็น่าจะผ่านวาระ 3” นายมณเฑียรกล่าว  
เพื่อนร่วมรุ่นบิ๊กตู่ไม่เอา
พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร หรือบิ๊กเยิ้ม เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเหมือนเดิม คือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก เพราะที่ใช้อยู่ปัจจุบันดีอยู่แล้ว จะไปแก้ไขทำไม ส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับบัตร 2 ใบนั้น ส่วนหนึ่งเพราะมีตัวอย่างมาแล้วในเผด็จการสภา เพราะเคยเป็นทหารอยู่ที่ภาคอีสานมาตลอดชีวิต รู้เรื่องพวกนี้ดีเยอะแยะไปหมด เพียงแต่ไม่อยากพูด
ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวว่า การลงมติวาระ 3 ในวันที่ 10 ก.ย. ดูแล้วน่าจะผ่านความเห็นชอบไปได้ โดยในส่วนของ ส.ว.นั้น ส่วนใหญ่ไม่มีใครขัดข้องเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. เพราะ ส.ว.เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส ส.ที่อยากได้ระบบเลือกตั้งแบบไหน อีกทั้งก็เห็นกันแล้วว่าระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวและการคิดคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นระบบที่สร้างปัญหามาก ทำให้หากเทียบกับที่เสนอแก้ไข แม้จะถอยหลังกลับไปใช้กติกาตอนปี 2540 และตอนปี 2554 แต่โดยรวมก็ยังดีกว่าที่เขียนในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพราะทุกอย่างชัดเจน ไม่สลับซับซ้อน 
“เผด็จการรัฐสภาจะเกิดขึ้นได้ หลักคือเกิดการรวมพรรคกันหลังเลือกตั้ง เห็นได้จากตอนไทยรักไทย ที่ไปนำพรรคการเมืองอื่นมารวมเข้าด้วยกัน แต่วันนี้มันยากมาก เพราะพรรคการเมืองปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่าอดีต โอกาสไปรวมกันเป็นพรรคเดียวมันยาก เพราะทำแบบนั้น โควตารัฐมนตรีก็ต้องถูกแบ่งออกไปหลายพรรค เผด็จการรัฐสภาจึงไม่น่าเป็นห่วงมาก”
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ตั้งคำถามต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พันธมิตรใหญ่ระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน กำลังปรองดองเพื่อกินรวบประเทศหรืออย่างไร เพราะจะกลับไปใช้ระบบที่ก่อวิกฤตเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ระบบเหล้าเก่าในขวดใหม่ 
มีรายงานจาก ส.ว.ว่า ขณะนี้ ส.ว.ได้เริ่มแลกเปลี่ยนความเห็น และจับกลุ่มพูดคุยเรื่องการลงมติในวันศุกร์นี้กันแล้ว รวมถึงหยั่งท่าทีและแสดงความคิดเห็นเรื่องการลงมติผ่านไลน์ส่วนตัวและไลน์กลุ่มเล็กๆ ของ ส.ว.บางส่วน ซึ่งเสียงก็ยังแตกเป็นเป็น 2 ส่วน โดย ส.ว.ที่เป็นมือประสานรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ ส.ว.จำนวนไม่น้อยคุยกันแล้ว ส.ว.หลายคนบอกว่า ตอนโหวตวาระแรกกับวาระ 2 เขาได้ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขครั้งนี้ จนทำให้ร่างแก้ไขผ่านมาจนถึงวาระ 3 ดังนั้นหากจะมาเปลี่ยนไม่เห็นชอบวาระ 3 ที่ต้องขานชื่อทีละคน แล้วมาเปลี่ยนใจไม่เห็นชอบ เขาก็บอกว่ามันก็ตอบสังคมลำบาก ที่ทำไมลงมติไม่เหมือนสองครั้งก่อนหน้านั้น ทำให้ ส.ว.จำนวนไม่น้อยที่เคยลงมติเห็นชอบวาระแรกและวาระ 2 ก็จะลงมติเห็นชอบในวาระ 3 หากไม่มีเหตุให้เปลี่ยนใจวันศุกร์นี้
“ส.ว.ตอนนี้ต่างบอกว่าขอรอดูท่าทีและสัญญาณการเมืองบางอย่างจนถึงช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 9 ก.ย.ว่าจะเอาอย่างไร" ส.ว.มือประสานรายหนึ่งระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"