6 ก.ย. 2564 นายอดิศร อาภาสุทธิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวาเมดิค จำกัด และ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยปัจจัยหนุนสำคัญมาจากความต้องการทางด้านการแพทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือการแพทย์ เลนส์แว่นตา ไซริงค์ ชุดสายน้ำเกลือ เป็นต้น โดยมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตมากกว่า 800 ราย ในขณะที่กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้จากการส่งเสริมของภาครัฐ ที่ได้ผลักดันผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ของไทยให้นำผลงานเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น ประกอบกับการมีจุดแข็งจากพื้นฐานอุตสาหกรรมเชื่อมโยงทั้งการผลิตรถยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม ระบบออโตเมชั่นต่างๆ ซึ่งคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพของไทยจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถยกระดับเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคได้
นายชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กล่าวว่า ทีเซลส์ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศ ซึ่งมีมูลค่ารวมมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตยา ชีววัตถุ สารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ เครื่องสำอาง อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์
ทั้งนี้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์นั้นมีอัตราการขยายตัวถึง 10% ต่อปี โดยปัจจุบันระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและ AI Medical ได้ถูกพัฒนาและนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวโน้มเข้ามามีบทบาททั้งต่อการรักษา การบริการทางการแพทย์ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทีเซลล์จึงจัดงานโครงการประกวดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ i-MEDBOT Innovation Contest 2021 ขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสนับสนุนผลงานของนวัตกรรมไทยให้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและส่งเสริมให้ก้าวสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมต่อไป
สำหรับการประกวดในครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และ ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้ก้าวสู่ยุค Next Normal อย่างมีศักยภาพ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 20 ทีมจาก ทั่วประเทศทั้งวงการแพทย์ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชน
“ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท และผลงานอื่นๆ ที่ได้รับรางวัล รวมถึงผลงานที่ผ่านเข้ารอบ ทาง ทีเซลส์ จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม นำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรม รองรับกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”นายชัยรัตน์ กล่าว
นายธนาวุฒิ ศรีนิรัตน์ จากทีม The Matrix ผู้ชนะเลิศประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 จากผลงาน Matrix UVC disinfection robot กล่าวว่า “Matrix UVC disinfection robot เป็นหุ่นยนต์สำหรับฆ่าเชื้อในอากาศโดยใช้รังสี UVC ที่ผลิตขึ้นภายใต้มาตรฐานของ CE MARK หุ่นยนต์ทำงานด้วยการตั้งค่า GPS เพื่อเคลื่อนที่ไปยังจุดที่กำหนด และจะปล่อยรังสีออกมาเพื่อกำจัดเชื้อโควิด-19 ได้ใน 64 วินาที และลำแสงจะถูกปิดทันทีหากมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในบริเวณที่หุ่นยนต์กำลังทำงาน ซึ่งผลงานนี้ได้ผลิตและจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในอนาคตได้วางแผนในการหาตัวแทนจำหน่าย และใช้โมเดลในการเคลื่อนที่อัตโนมัติของหุ่นยนต์ต่อยอดการผลิตหุ่นยนต์ส่งอาหาร หรือหุ่นยนต์ส่งของต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |