6 ก.ย. 64 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส.ส.จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบและเปลี่ยนระบบการคิดคะแนนผลการเลือกตั้งในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นการโหวตวาระสาม ซึ่งร่างแก้ไขรธน.ที่จะผ่านจากรัฐสภา จะต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เกินกึ่งหนึ่งขึ้นไปและในจำนวนดังกล่าวต้องมี สมาชิกวุฒิสภาด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว จึงจะผ่านความเห็นชอบ และจากนั้นจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร หรือบิ๊กเยิ้ม สมาชิกวุฒิสภา เพื่อนร่วมรุ่น ตท. 12 กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงเหมือนเดิม คือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ตอนรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรก ที่พรรคการเมืองเสนอเข้ามา 13 ร่างแล้ว โดยที่ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ดีอยู่แล้ว จะไปแก้ไขทำไม โดยเรื่องระบบการเลือกตั้ง ทางผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการพูดคุยวางแผนแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ โดยมีการคุยกันมาเป็นปี และคนที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เคยมีประสบการณ์การร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนแล้ว จนเห็นปัญหาต่างๆ จนทำออกมาให้ดีขึ้น ได้สิ่งที่ดีที่สุดมาอยู่แล้ว ในเมื่อมันดีอยู่แล้ว จะไปแก้ไขทำไม อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ผลการลงมติในวันที่ 10 ก.ย.นี้จะออกมาแบบไหน เพราะอย่างในกลุ่ม ส.ว.ด้วยกันเอง ก็ไม่ได้คุยกันเลย เพราะยังเหลือเวลาอยู่
เมื่อถามว่า ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่าระบบบัตรสองใบ จะทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาใช่หรือไม่ พลเอกธวัชชัย กล่าวว่า ก็อาจจะมีส่วน เพราะก็มีตัวอย่างมาแล้ว เพราะอย่างผมเคยเป็นทหารอยู่ที่ภาคอีสานมาตลอดชีวิต ผมรู้เรื่องพวกนี้ดีเยอะแยะไปหมด เพียงแต่ไม่อยากพูด
ขณะที่พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา หรือเสธอู้ กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า การลงมติวาระ 3 วันศุกร์นี้ ดูแล้วน่าจะผ่านความเห็นชอบไปได้ โดยในส่วนของ ส.ว.นั้น ส่วนใหญ่ไม่มีใครขัดข้องเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส. เพราะ ส.ว. เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของส ส. ที่อยากได้ระบบเลือกตั้งแบบไหน อีกทั้งก็เห็นกันแล้วว่า ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวและการคิดคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นระบบที่สร้างปัญหามาก ทำให้หากเทียบกับที่เสนอแก้ไข แม้จะถอยหลังกลับไปใช้กติกาตอนปี 2540 และตอนปี 2554 แต่โดยรวมก็ยังดีกว่าที่เขียนในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพราะทุกอย่างชัดเจน ไม่สลับซับซ้อน การคำนวณคะแนนทำได้ง่ายกว่า จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของเดิม เพราะเห็นกันแล้วว่า ระบบบัตรใบเดียว มันสร้างปัญหามากมาย
เมื่อถามถึงเสียงทักท้วง ข้อเป็นห่วงว่าระบบเลือกตั้งส.ส. ที่แก้ไข จะทำให้เกิดระบบเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมากแบบในอดีต เพราะการตรวจสอบฝ่ายบริหารจะทำไม่ได้ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า หากดูจากรธน.ฉบับปี 2560 ผู้ร่างรธน. ระมัดระวังเรื่องเผด็จการัฐสภาไว้แล้ว เลยเขียนไว้ว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกและรัฐมนตรีให้ใช้เสียงส.ส.ฝ่ายค้านแค่หนึ่งในห้า คือหนึ่งร้อยคนขึ้นไปเท่านั้นในการลงชื่อเสนอญัตติขออภิปรายรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่า ยังไง ฝ่ายค้าน ก็เกินหนึ่งร้อยเสียงอยู่แล้ว ขนาดเลือกตั้งปี 2548 ที่ไทยรักไทยได้ส.ส.มากถึง 377 เสียงเพียงพรรคเดียว ตอนนั้น ฝ่ายค้านก็ยังมี 123 เสียง อีกทั้ง เผด็จการรัฐสภาจะเกิดขึ้นได้ หลักคือจะเกิดการรวมพรรคกันหลังเลือกตั้ง เห็นได้จากตอนไทยรักไทย ที่ไปนำพรรคการเมืองอื่นมารวมเข้าด้วยกัน (ความหวังใหม่-เสรีธรรม-ชาติพัฒนา) โดยพรรคที่ไปรวมก็เห็นว่าไปรวมดีกว่า ไม่ต้องไปหาเสียง ไม่ต้องควักเงิน ก็เลยโดดเรือลำเดียวกัน แต่วันนี้มันยากมาก เพราะพรรคการเมืองปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่าอดีต โอกาสจะไปรวมกันเป็นพรรคเดียว มันเลยยาก หรือถึงต่อให้ไม่รวม แต่ตอนตั้งรัฐบาล ก็ไม่เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลจะใช้วิธีตั้งรัฐบาลให้ได้ส.ส.เกินสี่ร้อยเสียงเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปราย เพราะทำแบบนั้น โควตารัฐมนตรีก็ต้องถูกแบ่งออกไปหลายพรรค อย่างมากก็ตั้งรัฐบาลแค่สามร้อยเสียง เผด็จการรัฐสภาจึงไม่น่าเป็นห่วงมาก
นอกจากนี้ ในร่างแก้ไขรธน.ที่เสนอมา มีการให้ลดจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 150 คนเหลือ 100 คน แล้วไปเพิ่มส.ส.เขตจาก 350 เป็น 400 เขต ทำให้โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองไหนจะได้ส.ส.เขตเกิน 300 คนจากระบบเขต มันยากมาก จำนวนส.ส.เขตจะกระจายไปยังพรรคต่างๆ เพราะประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น
"ระบบที่เสนอแก้ไขครั้งนี้ จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.หนึ่งคนเข้ามาเยอะ ที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่มีส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนเข้ามาหลายพรรค ก็เกิดจากการคำนวณคะแนนเลือกตั้งแบบปัดเศษ แต่ที่เสนอแก้ไข มีการลดจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลงเหลือ100 คน จะทำให้การมีเศษมันจะน้อยลง เพราะของเดิมมัน 150 คน มันก็เลยไปแบ่งคะแนนกันให้หลายพรรคการเมือง แต่เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว คะแนนที่จะปัดไปให้พรรคเล็กมันจะยากขึ้น เพราะจากปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน คำนวณแล้ว การจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จะต้องได้คะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 350,000 คะแนน ที่คิดจากคะแนนของประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศโดยประมาณ จึงจะได้เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ทำให้พรรคการเมืองที่เคยได้คะแนนเลือกตั้ง 30,000-40,000 คะแนนแล้วได้ส.ส.หนึ่งคนอย่างที่เป็นมา ต่อไปจะไม่มีทางได้ปัดเศษ แน่นอน เพราะหากจะปัดเศษกันจริงๆ ก็จะเหลือเต็มที่ก็จะประมาณ 200,000 กว่าคะแนน ที่ก็จะเหลือแค่ 6-7 เก้าอี้เท่านั้นจาก 100 เก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะไม่ใช่เศษแบบ 30,000-40,000 คะแนน แบบที่ผ่านมาอีกแล้ว ทำให้โอกาสที่จะเกิดพรรคการเมืองได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคละหนึ่งคนจะไม่มีเกิดขึ้นอีกแล้ว" พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมี ส.ว.บางส่วน ยังเห็นว่าระบบสัดส่วนผสมยังดีกว่าที่จะแก้ไขใหม่ โดยบางคนเกรงจะเกิดเผด็จการรัฐสภาหากแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่เสนอกัน แต่หากพิจารณาจากที่อธิบายเผด็จการรัฐสภา มันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่สิ่งที่ใช้อยู่ตอนนี้มันทำให้เกิดพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมาก ดูอย่างการเลือกตั้งรอบที่แล้วปี 2562 มีอย่างที่ไหนในโลก ที่มีผู้สมัครส.ส.เขตทั่วประเทศหนึ่งหมื่นกว่าคน และปาร์ตี้ลิสต์ยื่นชื่อไปอีกสองพันกว่าคน มีพรรคการเมืองส่งคนลงเลือกตั้ง 80 กว่าพรรค มีพรรคได้ ส.ส.รวม 29 พรรคการเมือง เป็นสถิติโลกเลย ในโลกนี้มีที่ไหนเป็นแบบนี้ ไม่มี แต่มันเกิดขึ้นก็เพราะช่องโหว่ที่เปิดเอาไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |