ปรับตัว เพื่ออยู่รอด!


เพิ่มเพื่อน    

“ภาคธุรกิจ” เป็นอีกหนึ่งกลไกทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างสาหัสไม่แพ้ส่วนอื่นๆ แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งออกมาตรการ และให้ความช่วยเหลือในหลายๆ มิติ แต่ก็อาจจะยังทำได้ไม่เต็มที่ หลายส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการหรือเครื่องมือต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ที่ผ่านมาอาจจะได้เห็นจนเกือบจะเป็นภาพที่ชินตาว่า ภาคธุรกิจหลายส่วนทนแบกรับภาระจากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสไม่ไหว ก็ทยอยปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก
    โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือน ส.ค.2564 พบว่า การฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดบางส่วน อาทิ การเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสำหรับขายแบบเดลิเวอรี การเปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และผ่อนคลายการเดินทางข้ามจังหวัดของแรงงาน แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงกดดันการฟื้นตัวในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิต
    ด้านการผลิต ยังคงเผชิญกับการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน และการปิดโรงงานของคู่ค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระทบกับระดับการผลิตในภาพรวม ขณะที่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ผ่อนคลายจากเดือนก่อนเล็กน้อย
    ทั้งนี้ ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นบ้างตามแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในบางพื้นที่ ส่วนภาคการค้ามีการจ้างแรงงานลดลง โดยธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิต อาทิ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารและธุรกิจก่อสร้าง
    “หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ ธุรกิจกว่าครึ่งเลือกที่จะปรับตัวด้วยการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านแรงงาน, ชะลอการลงทุน, ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง, หารายได้จากช่องทางอื่น และปิดกิจการชั่วคราว หรือปิดสาขา”
    ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง เจาะลึกการปรับตัวธุรกิจไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และการฟื้นตัวระยะปานกลางแบบ K-Shape โดยระบุว่าธุรกิจที่มีความเปราะบางมากที่สุดคือ กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะขนส่งทางอากาศและทางน้ำ รวมถึงกลุ่มบริการส่วนบุคคล โดยเฉพาะบันเทิงและการกีฬา
    ส่วนธุรกิจกำลังฟื้น ซึ่งเป็นไปตามกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มกลับมา ได้แก่ ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง เกษตรแปรรูป ไอทีและเทเลคอม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคและบริโภค เฟอร์นิเจอร์ ก็ยังมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากรายได้ใน 2 ปีที่ผ่านมาลดลง 10-30% ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อรอคอยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับมาฟื้น
    แต่ถ้ามองในอีก 1-2 ปีข้างหน้า (2565-2566) แม้ว่าการระบาดจะมีแนวโน้มบรรเทาลงจากการเร่งฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรของโลกและในประเทศไทยมากขึ้น แต่โควิด-19 ก็ยังไม่หมดไปและอาจจะกลายพันธุ์เพิ่มเติม ทำให้การแพร่ระบาดยังคงอยู่กับโลกต่อไปอย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะมีวัคซีนที่สามารถจัดการไวรัสได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นภาคธุรกิจจะเผชิญกับความท้าทาย 3 ด้าน คือ การระบาดที่ยังดำเนินต่อไป ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อการดำเนินธุรกิจให้ปลอดภัยทั้งจากการติดเชื้อในพนักงานและลูกค้า
    นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC การเป็นสังคมผู้สูงวัย เป็นต้น และยังจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยการเข้าถึงของผู้บริโภคจากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้นธุรกิจต้องผสมผสานอย่างสมดุล และใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่รอบตัว เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค
    “การปรับตัว” จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญของภาคธุรกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยกดดันที่หลากหลาย หากภาคธุรกิจมีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องงานกับทุกธุรกิจในภาวะที่มีปัจจัยกดดันเช่นในขณะนี้!!.

(ครองขวัญ รอดหมวน)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"