สธ.แจงแนวทางให้วัคซีนผู้เคยป่วยโควิด-19 ที่รับวัคซีนยังไม่ครบให้รับเข็มที่ 2 ได้ใน 1-3 เดือนนับแต่วันเริ่มป่วย ตามแนวทางกรมควบคุมโรคกำหนดภายใต้ข้อแนะนำคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำจัดซื้อซิโนแวคไม่มีส่วนต่างที่เข้ากระเป๋าใครทั้งสิ้น "หมอโสภณ" ยันวัคซีนสูตรไขว้ผ่านการวิจัยมีมาตรฐานความปลอดภัย นายกฯ กำชับ สธ.-สปสช.วางแผนให้รัดกุมก่อนแจก ATK ฟรี 8.5 ล้านชุด 15 ก.ย.นี้ พร้อมอธิบายขั้นตอนการใช้ให้ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 5 กันยายน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่ขณะนี้ได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางการให้วัคซีนแก่ผู้ที่เคยป่วยโควิด-19 ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หายป่วยแล้วยังต้องรับวัคซีนหรือไม่ หรือหากต้องรับต้องเว้นระยะเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยนานเพียงใด ได้สอบถามกรณีนี้ไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และได้รับการชี้แจงว่าจะต้องเป็นไปตามแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทยฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่กรมควบคุมโรคออกแนวทางและเผยแพร่ให้บุคลากรการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการให้วัคซีนตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีแนวทางว่า ในกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน หรือฉีดยังไม่ครบ 2 เข็ม หากป่วยเป็นโรคโควิด-19 ให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดใดก็ได้เพิ่มอีก 1 เข็ม ภายใน 1-3 เดือนหลังจากเริ่มป่วย คนที่เคยได้ครบ 2 เข็มแล้วไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก
“การให้วัคซีนทั้งแก่ประชาชนจะดำเนินการตามแนวทางที่กรมควบคุมโรคกำหนด ซึ่งมีการปรับปรุงไปตามข้อมูลที่มีมากขึ้น เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งคณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้นำข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาวิเคราะห์ก่อนวางแนวทางออกมาเพื่อการให้วัคซีนแก่ประชาชนมีความปลอดภัยสูงสุด”
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-3 ก.ย.2564 มีการฉีดวัคซีนรวมแล้ว 35.21 ล้านโดส แยกเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 24.91 ล้านโดส, เข็มที่ 2 จำนวน 9.69 ล้านโดส และเข็มที่ 3 จำนวน 6.01 แสนโดส ในส่วนของข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้มีการตอบข้อซักถาม ข้อกล่าวหาของสมาชิกฝ่ายค้านในทุกประเด็นในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-4 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา
"โดยเฉพาะในประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับส่วนต่างระหว่างกรอบงบประมาณให้จัดซื้อวัคซีนซิโนแวคกับราคาจริงของวัคซีนนั้น นอกจากการชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ผู้บริหารสธ.ก็ได้ชี้แจงให้ความชัดเจนด้วยว่า จากที่มีการส่งมอบวัคซีนซิโนแวคแล้วทั้งหมด 16 ครั้ง ราคาวัคซีนถูกลงเรื่อยๆ จากล็อตแรกที่ซื้อ 2 ล้านโดส ราคาซื้ออยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส แต่ในเวลาต่อมาซื้อจำนวนมากขึ้น มีการต่อรองราคาจึงถูกลง ตามลำดับ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 11.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ในขั้นตอนการจัดซื้อ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการจัดซื้อ ได้ใช้งบประมาณของ อภ.จัดซื้อไปก่อน ประกอบด้วยค่าวัคซีน ค่าจัดส่งและค่าความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนรวมอยู่ด้วย จากนั้น อภ.จะส่งวัคซีนให้กรมควบคุมโรคแล้วเรียกเก็บเงินที่ราคาจริง ที่เป็นค่าวัคซีนรวมค่าจัดส่งและอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวในแต่ละรอบการจัดส่ง (shipment) ดังนั้นจึง ไม่มีส่วนต่างใดๆ ที่ตกถึง อภ. ส่วนงบประมาณที่ขอไว้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของราคาวัคซีนนั้นก็เป็นเพียงการขออนุมัติกรอบงบประมาณไว้ แต่ในขั้นตอนการจ่ายงบประมาณนั้นกรมควบคุมโรคจะจ่ายที่ราคาค่าวัคซีนรวมค่าบริหารจัดการตามที่ อภ.เรียกเก็บจริงเท่านั้น จึงไม่ได้มีส่วนต่างที่เข้ากระเป๋าใครทั้งสิ้น" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประสิทธิผลวัคซีนทุกชนิดที่ใช้ในประเทศไทย ยืนยัน วัคซีนสูตรไขว้ได้ผ่านการวิจัย และมีมาตรฐานความปลอดภัย จากผลการวิจัย สธ.ได้อนุมัติให้เริ่มฉีดวัคซีนสูตรไขว้ SV + AZ ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.64 (สายพันธุ์ Delta เริ่มระบาด) สร้างภูมิคุ้มกันต้าน Delta ได้หลังฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 2 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพ 75% กระทรวงสาธารณสุขได้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ SV + AZ ให้ประชาชนแล้ว 2.5 ล้านคน ตั้งแต่เดือน ก.ค.พบการเสียชีวิตจากโควิด-19 เพียง 1 รายเท่านั้น เช่นเดียวกับผู้ที่ฉีดวัคซีน AZ 2 เข็ม เสียชีวิต 2 ราย จาก 2.4 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขการเสียชีวิตที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน 1 ล้านคน จะเสียชีวิตจากโควิด-19 ถึง 132 คน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนไว้ใจและไปรับวัคซีนตามที่กำหนด ไม่อยากให้ด้อยค่าวัคซีนจนหลายคนกลัวไม่ไปฉีด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “อีกสองล้านถึงเมืองไทยเช้านี้ เด็กๆ จะมีโอกาสได้ใช้ไหมนี่ ต้องรอคำตอบจาก อย.ก่อนนะครับ ผมว่าทุกภาคส่วน พร้อมที่จะช่วยกันอย่างรวดเร็วในการดูแลลูกหลานเราด้วยกันแน่นอน”
ทั้งนี้ เพจ “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” โพสต์ภาพพร้อมข้อความแจ้งว่า 5 กันยายน 2564 : วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตที่ 8 จำนวน 2 ล้านโดส เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประเทศไทยแล้ว รวมจำนวนวัคซีนซิโนฟาร์มที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วตั้งแต่ 20 มิ.ย.-5 ก.ย.2564 เป็นจำนวน 11 ล้านโดส
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า มีคนถามผมเข้ามาว่าคนต่างชาติจะสามารถวอล์กอินฉีดวัคซีนได้ไหม ผมตอบเลยนะครับว่า ได้ครับ ทุกๆ คนที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาครต้องมีสิทธิได้รับวัคซีนทุกคน ไม่ว่าจะมีทะเบียนบ้านอยู่นี่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เพียงแต่คนต่างชาติอาจจะยุ่งยากนิดหน่อยในเรื่องของภาษา ขอเวลาเตรียมล่ามไว้ให้พร้อมก่อน โดยคนต่างชาติจะเริ่มวอล์กอินรับวัคซีนได้ ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายนนี้ เตรียมตัวกันไว้ให้พร้อม
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมความพร้อมการกระจายชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง หรือ Antigen Test Kit (ATK) ภายหลังผู้อำนวยการ อภ.ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มแจกจ่ายประชาชนกลุ่มเป้าหมายในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ สปสช.ได้เตรียมการกระจายชุดตรวจ ATK ผ่านหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพใน 2 รูปแบบ คือ 1.แจกให้ชุมชนแออัด รวมทั้งตลาด โดยให้ผู้นำชุมชน ผู้ประสานงาน หรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มารับชุดตรวจและกระจายให้กลุ่มเป้าหมาย โดยที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางมารับที่หน่วยบริการ 2.แจกที่หน่วยบริการได้แก่ รพ.และ รพ.สต.ทุกแห่ง รวมถึงคลินิกและร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยประชาชนขอรับผ่านแอปเป๋าตังที่ธนาคารกรุงไทยกำลังพัฒนาระบบอัปเดตแอปเป๋าตังเพิ่มเมนูรับชุดตรวจโควิด-19 ฟรี
"นายกรัฐมนตรีขอให้มีการวางแผนการกระจายชุดตรวจ ATK อย่างรัดกุม ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการดำเนินงาน ที่สำคัญยังกำชับให้ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่ง ประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการหรือขั้นการรับชุดตรวจ ATK รวมถึงกลุ่มเป้าหมายสำหรับการกระจาย ATK ในชุดแรก 8.5 ล้านชุด พร้อมจัดทำชุดข้อมูล ข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนใช้ชุดตรวจ ATK อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน กล่าวว่า ในส่วนของช่องทางการกระจายผ่านร้านยานั้น จากการพูดคุยเบื้องต้นกับ สปสช. คือให้ผู้ประสงค์จะรับชุดตรวจ ATK ลงทะเบียนและทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยสามารถเลือกร้านยาที่จะเข้าไปรับชุดตรวจได้ รวมทั้งอาจ วอล์กอินมาที่ร้านยา ให้ร้านยาประเมินความเสี่ยงและบันทึกข้อมูลเข้ามาในระบบแอปเป๋าตังเช่นกัน
ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK จะแจกสำหรับให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในบ้านเป็น อยู่ในชุมชนแออัด มีการสัมผัสอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ระบาด กลุ่มที่ให้บริการผู้อื่น เช่น แม่ค้าในตลาด เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถกระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ในช่วงกลางเดือนก.ย.นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |