โพลหนุนบิ๊กตู่ปรับ ครม. แนะอัปเปหิ เขี่ยทิ้งพวกภาพลักษณ์ไม่ดีออกให้หมด จี้ต้องจัดการจุดอ่อน-หอกข้างแคร่ พท.ขึงขังเอาผิด ส.ส.แหกโผ โหวตแก้ รธน.บัตร 2 ใบวาระสามศุกร์นี้ สูตรใหม่พรรคเล็กสูญพันธุ์เกลี้ยง เหตุต้องได้ขั้นต่ำ 3.5 แสนคะแนนถึงได้ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ผลการลงมติออกเสียงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านไป ถือว่าคะแนนยังเกาะกลุ่มกัน ซึ่งถือว่ายังสะท้อนความเป็นเอกภาพในรัฐบาลอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นต่อสถานการณ์ของรัฐบาลอย่างไรว่าจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ครบเทอม แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งหนึ่งที่เราควรถือเป็นหลักกันไว้ก็คือ ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นมา สมมติถ้ามันจะเกิด ก็ขอให้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีทางไปตามระบบ ถ้าทุกคนยึดหลักอันนี้ คิดว่าการเมืองก็ไปต่อได้
เมื่อถามถึงสัญญาณการปรับคณะรัฐมนตรี นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับประชาธิปัตย์ยังไม่ได้รับสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนเรื่องการจะมี ส.ส.ขอย้ายเข้ามาสังกัดพรรค ปชป.นั้นก็มี แต่ไม่ขอตอบรายละเอียดว่าเป็นใคร จังหวัดไหน เขตไหน แต่มีสมาชิกและบุคคลที่มีศักยภาพที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคในปัจจุบันที่ประสงค์จะเดินเข้ามาร่วมกับพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีแจ้งความจำนงมา แต่อยู่ที่พรรคจะพิจารณาต่อไป โดยมีทั้งคนรุ่นใหม่ คนที่มีศักยภาพ นักธุรกิจ นักกฎหมาย ผู้บริหาร มีหลายวงการที่จะเข้ามา
นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อภิปรายให้ตายนายกฯ ก็ยังอยู่ ซึ่งต้องไล่และเขียนรัฐธรรมนูญประชาชนไปพร้อมกัน โดยเห็นว่าคุณหญิงสุดารัตน์คงจะผิดหวังกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ที่นายกฯ ได้ไปต่อ เพราะอยากจะอาศัยจังหวะนี้มาตีกินทางการเมือง แต่พอไม่ได้ก็ออกมาปั่นให้ประชาชนออกมาไล่นายกฯ ถือว่าเป็นนักการเมืองไม่ใช่มืออาชีพ ยืนยันว่าพลเอกประยุทธ์จะยังคงทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ ซึ่งหากคุณหญิงสุดารัตน์อยากเข้ามาเป็นรัฐบาล ขอให้ไปสู้ตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญในสนามเลือกตั้ง แต่ขอให้ระวังไว้ว่าหากยังมีพฤติกรรมที่จะเล่นแต่การเมือง ไม่ทำประโยชน์อะไร ประชาชนอาจเบื่อหน่าย เลือกตั้งครั้งต่อไปอาจไม่มีโอกาสเข้ามาอีกก็ได้ ซ้ำร้ายคุณหญิงสุดารัตน์อาจจะตกม้าตาย เพราะความไม่ยึดมั่นในกติกาชอบหาวิธีเรียนลัดเข้าสู่อำนาจเสียจนเคยชินด้วยวิธีคิดแคมเปญทำลายคนอื่น ประชาชนเขาจับได้ไล่ทัน จะเสียผู้เสียคนเอาได้
นายเสกสกลกล่าวอีกว่า ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง จากกลุ่มก้าว ต่อไปเพื่อประชาธิปไตย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คะแนนโหวตอภิปรายฯ สะท้อนความขัดแย้งในรัฐบาล และปัญหาต่อไปจะมีนายกรัฐมนตรีที่บริหารล้มเหลวอย่างร้ายแรงนั้น ก็เห็นว่าต่อให้นายกฯ ทำดีแค่ไหนนายจาตุรนต์ก็คงไม่ยอมรับ จึงไม่ควรให้ค่าให้ราคาในคำพูดนายจาตุรนต์ โดยหากนายจาตุรนต์ว่างมาก ควรเอาเวลาไปปรึกษากับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำสู้แล้วรวย เพื่อเตรียมจัดตั้งพรรคใหม่ ซึ่งน่าจะเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น "พรรคเผาบ้านเผาเมือง" จะดีกว่า เพราะทราบข่าวว่าที่ทำงานพรรคใหม่จดทะเบียนที่บ้านนายณัฐวุฒิ จ.นครศรีธรรมราช เพราะความคิดของนายจาตุรนต์คงเหมือนกัน เอาความคิดเผาทำลายคนอื่นได้ทุกสิ่งจริงๆ จึงทำให้ด้อยค่าตัวเองเสื่อมศรัทธาในสายตาประชาชนตกต่ำไปเรื่อยๆ ความคิดไม่สมราคาที่เคยผ่านการเป็นรองนายกฯ และ รมต.มาแล้ว ยิ่งคิดยิ่งน่าอับอายขายขี้หน้าประชาชน ประชาชนไม่ได้โง่ ฉลาดรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมนักการเมืองปลิ้นปล้อนกันหมดแล้ว จะมาใช้วาจาเล่นวาทะตีกินทางการเมืองและด้อยค่าคนอื่นเช่นนี้บ่อยๆ จะยิ่งไม่เหลือค่าราคาความเป็นผู้ใหญ่ในวงการการเมืองอีกต่อไป
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2565 จากพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตามที่นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จ่ายเงินให้ ส.ส.หัวละ 5 ล้านบาทที่อาคารรัฐสภา ชั้น 3 เมื่อวันที่ 2 ก.ย.นั้น เห็นว่าคำกล่าวหาดังกล่าวพูดถึงการกระทำที่เกิดขึ้นนอกห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร แม้ผู้พูดจะอยู่ในห้องประชุม แต่น่าจะไม่ได้รับความคุ้มครองรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 อาจเป็นการพูดใส่ร้ายที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมของสภา
นายเรืองไกรกล่าวว่า ตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีข้อกำหนดไว้หลายข้อ หากมีข้อเท็จจริงตามที่นายวิสารกล่าวหา เรื่องนี้จะเป็นความผิดทางอาญาตามมาได้ ทั้งตัวนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาว่าให้เงิน และตัว ส.ส. ที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงินคนละ 5 ล้านบาท เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะพูดโดยไม่รับผิดชอบโดยอ้างเอกสิทธิ์หาได้ไม่ เพราะกระทบความน่าเชื่อถือทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงตามมาได้
"จึงเห็นว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องรีบเข้ามาไต่สวนโดยเร็ว โดยหากไม่มีมูลความจริง และเป็นการใส่ร้าย บิดเบือน ก็ควรดำเนินการกับนายวิสาร ตามมาตรฐานทางจริยธรรม แต่หากมีมูล ก็ต้องดำเนินการกับนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.ที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมและดำเนินการทางอาญา ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงต้องร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงจากนายวิสารก่อนเป็นลำดับแรก จึงจะส่งหนังสือถึง ป.ป.ช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้" นายเรืองไกรกล่าว
ด้านท่าทีพรรคฝ่ายค้าน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ผู้นำรัฐบาลได้คะแนนไว้วางใจมาเป็นลำดับที่ 4 เกือบรั้งท้าย คะแนนโหวตไม่ไว้วางใจนำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง เสียรังวัดมากขนาดไหน ยังจะดันทุรังอยู่ต่อ คะแนนไว้วางใจที่ได้มา มาจากอุดมกล้วยหรืออุดมการณ์ มาจากฝีมือหรือล็อบบี้เสนอผลประโยชน์ พล.อ.ประยุทธ์ถูกขึงพืด รุมถล่ม 4 วันเต็ม ประชาชนทั้งประเทศจะลุกขึ้นมายกระดับขับไล่ จนรัฐบาลอยู่ไม่ได้
โพลจี้บิ๊กตู่ปรับครม.กู้ศรัทธา
วันเดียวกันนี้ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ศึกอภิปรายฯ ในสายตาประชาชน โดยสำรวจจาก 1,146 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2564
ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.8 เข้าใจการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 ระบุ อภิปรายเรื่องเดิมๆ ที่รู้อยู่แล้ว ใช้คำพูดเสียดสี หยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนและประเทศชาติ ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.1 ระบุหลังได้ข้อมูลชี้แจงจากรัฐบาลทำให้เข้าใจและเชื่อมั่นรัฐบาลมากขึ้น
เมื่อถามถึงเรื่องการเมืองในบรรยากาศศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 98.9 ระบุพรรคร่วมรัฐบาลบางคนบางกลุ่มต้องการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง รองลงมาคือร้อยละ 98.3 ระบุคนในฝ่ายรัฐบาลไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ต่อรองราคา และสมประโยชน์กัน
ที่น่าพิจารณาคือ ก้าวต่อไปของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.6 ระบุนำแนวทางสร้างสรรค์จาก ส.ส. กลุ่มการเมืองใหม่ไปเร่งแก้วิกฤต พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สะสางปัญหาปากท้องของประชาชนและวิกฤตโควิดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ผลสำรวจยังเปิดเผยประเด็นที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 เห็นด้วยต่อการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะต้องการให้ปรับคนไม่มีผลงาน ทำงานไม่ดี ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่โปร่งใสและมีปัญหาภาพลักษณ์ ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 11.2 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 6.9 ไม่เห็นด้วย เพราะปรับไปก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์ และอื่นๆ เป็นต้น
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจรัฐบาลมากขึ้น และยังเชื่อมั่นการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ขณะที่ส่วนใหญ่เช่นกัน ต้องการให้รัฐบาลนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปปรับปรุงการทำงาน ตอบสนองประชาชนในการแก้ปัญหาโควิดให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจฐานราก ปลดล็อกทุกกลุ่มครอบคลุมเป้าหมาย
“อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เบื่อหน่ายและไม่พอใจต่อการอภิปรายในสภาของ ส.ส.บางคนที่ไม่สร้างสรรค์ รับไม่ได้กับกลุ่มการเมืองเก่าที่มีพฤติกรรมใส่ร้าย ด่าทอ หยาบคายและให้ข้อมูลเท็จ เพื่อหวังผลสร้างความเกลียดชัง นำมาซึ่งความเสื่อมถอยของสภาผู้ทรงเกียรติ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งภายในพรรค รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านแม้เป็นเรื่องปกติ แต่รับไม่ได้กับการต่อรองที่ติดยึดกับอำนาจผลประโยชน์เฉพาะตนและพวกพ้องโดยไม่เห็นหัวประชาชน ถ้าไม่สยบจุดอ่อนของรัฐบาลนี้ได้ มันอาจจะพังกันทั้งประเทศ เพราะเนื้อร้ายหรือหอกข้างแคร่ของรัฐบาลที่ถูกปล่อยไว้ให้กัดกร่อนรัฐบาล และอาจจะลุกลามไปยังเสาหลักของชาติอื่นๆ ได้” ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าว
โหวตแก้รธน.บัตรสองใบศุกร์นี้
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส.ส.จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบและเปลี่ยนระบบการคิดคะแนนผลการเลือกตั้งในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นการโหวตวาระสาม ซึ่งร่างแก้ไข รธน.ที่จะผ่านจากรัฐสภา จะต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เกินกึ่งหนึ่งขึ้นไป และในจำนวนดังกล่าวต้องมี สมาชิกวุฒิสภาด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง ร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวจึงจะผ่านความเห็นชอบ และจากนั้นจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข รธน.รายมาตราดังกล่าวจากพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการลงมติวาระ 3 วันศุกร์นี้ว่า เรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้ว พรรคสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ต้องยืนยันอีกแล้ว ทุกคนถึงเวลาวาระ 3 ก็โหวตเห็น ชอบทุกคน ส่วนการโหวตของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็แล้วแต่เขา แต่พรรคประชาธิปัตย์คงเห็นด้วยหมด ส่วนทางพรรคฝ่ายค้านก็มีพรรคเพื่อไทย ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาก็ได้เสียงมากพอสมควร การพิจารณาวาระที่ 3 จะได้เสียงมากขึ้นเพราะการพิจารณาในวาระที่ 2 สมาชิกสภาอาจมาไม่ครบ แต่ในวาระที่ 3 ส่วนใหญ่จะมา ฉะนั้นเสียงโหวตจะมากขึ้น
เมื่อถามถึงความมั่นใจว่าการพิจารณาลงมติวาระที่ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวันที่ 10 ก.ย.นี้จะผ่านฉลุยใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ผ่าน เป็นไปตามหลักเกณฑ์แน่นอน เพราะไม่มีปัญหาอะไร
ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า การลงมติวาระ 3 วันศุกร์นี้ ดูแล้วน่าจะผ่านความเห็นชอบไปได้ โดยในส่วนของ ส.ว.นั้น ส่วนใหญ่ไม่มีใครขัดข้องเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.เพราะ ส.ว.เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส. ส.ที่อยากได้ระบบเลือกตั้งแบบไหน อีกทั้ง ก็เห็นกันแล้วว่าระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวและการคิดคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาที่เขียนไว้ใน รธน.ฉบับปี 2560 เป็นระบบที่สร้งปัญหามาก ทำให้หากเทียบกับที่เสนอแก้ไข แม้จะถอยหลังกลับไปใช้กติกาตอนปี 2540 และตอนปี 2554 แต่โดยรวมก็ยังดีกว่าที่เขียนใน รธน.ปัจจุบัน เพราะทุกอย่างชัดเจน ไม่สลับซับซ้อน การคำนวณคะแนนทำได้ง่ายกว่า จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของเดิม เพราะเห็นกันแล้วว่าระบบบัตรใบเดียวมันสร้างปัญหามากมาย
เมื่อถามถึงเสียงทักท้วง ข้อเป็นห่วงว่าระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่แก้ไขจะทำให้เกิดระบบเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมากแบบในอดีต เพราะการตรวจสอบฝ่ายบริหารจะทำไม่ได้ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า หากดูจาก รธน.ฉบับปี 2560 ผู้ร่าง รธน.ระมัดระวังเรื่องเผด็จการรัฐสภาไว้แล้ว เลยเขียนไว้ว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกและรัฐมนตรีให้ใช้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้านแค่ 1 ใน 5 คือ 100 คนขึ้นไปเท่านั้นในการลงชื่อเสนอญัตติขออภิปรายรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่ายังไงฝ่ายค้านก็เกิน 100 เสียงอยู่แล้ว ขนาดเลือกตั้งปี 2548 ที่ไทยรักไทยได้ ส.ส.มากถึง 377 เสียงเพียงพรรคเดียว ตอนนั้นฝ่ายค้านก็ยังมี 123 เสียง อีกทั้งเผด็จการรัฐสภาจะเกิดขึ้นได้ หลักคือจะเกิดการรวมพรรคกันหลังเลือกตั้ง เห็นได้จากตอนไทยรักไทย ที่ไปนำพรรคการเมืองอื่นมารวมเข้าด้วยกัน (ความหวังใหม่-เสรีธรรม-ชาติพัฒนา) โดยพรรคที่ไปรวมก็เห็นว่าไปรวมดีกว่า ไม่ต้องไปหาเสียง ไม่ต้องควักเงิน ก็เลยโดดเรือลำเดียวกัน แต่วันนี้มันยากมาก เพราะพรรคการเมืองปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่าอดีต โอกาสจะไปรวมกันเป็นพรรคเดียว มันเลยยาก หรือถึงต่อให้ไม่รวม แต่ตอนตั้งรัฐบาล ก็ไม่เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลจะใช้วิธีตั้งรัฐบาลให้ได้ ส.ส.เกิน 400 เสียงเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปราย เพราะทำแบบนั้นโควตารัฐมนตรีก็ต้องถูกแบ่งออกไปหลายพรรค อย่างมากก็ตั้งรัฐบาลแค่ 300 เสียง เผด็จการรัฐสภาจึงไม่น่าเป็นห่วงมาก
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอมา มีการให้ลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 150 คนเหลือ 100 คน แล้วไปเพิ่ม ส.ส.เขตจาก 350 เป็น 400 เขต ทำให้โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองไหนจะได้ ส.ส.เขตเกิน 300 คนจากระบบเขต มันยากมาก จำนวนส.ส.เขตจะกระจายไปยังพรรคต่างๆ เพราะประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น
"ระบบที่เสนอแก้ไขครั้งนี้ จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.หนึ่งคนเข้ามาเยอะ ที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนเข้ามาหลายพรรค ก็เกิดจากการคำนวณคะแนนเลือกตั้งแบบปัดเศษ แต่ที่เสนอแก้ไข มีการลดจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลงเหลือ 100 คน จะทำให้การมีเศษมันจะน้อยลง เพราะของเดิมมัน 150 คน มันก็เลยไปแบ่งคะแนนกันให้หลายพรรคการเมือง แต่เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว คะแนนที่จะปัดไปให้พรรคเล็กมันจะยากขึ้น เพราะจากปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน คำนวณแล้วการจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จะต้องได้คะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 350,000 คะแนน ที่คิดจากคะแนนของประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศโดยประมาณ จึงจะได้เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ทำให้พรรคการเมืองที่เคยได้คะแนนเลือกตั้ง 30,000-40,000 คะแนนแล้วได้ ส.ส. 1 คนอย่างที่เป็นมา ต่อไปจะไม่มีทางได้ปัดเศษแน่นอน เพราะหากจะปัดเศษกันจริงๆ ก็จะเหลือเต็มที่ก็จะประมาณกว่า 200,000 คะแนน ที่ก็จะเหลือแค่ 6-7 เก้าอี้เท่านั้นจาก 100 เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะไม่ใช่เศษแบบ 30,000-40,000 คะแนนแบบที่ผ่านมาอีกแล้ว ทำให้โอกาสที่จะเกิดพรรคการเมืองได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคละ 1 คนจะไม่มีเกิดขึ้นอีกแล้ว" พล.อ.เลิศรัตน์ระบุ
พล.อ.เลิศรัตน์ยอมรับว่า อย่างไรก็ตาม ก็ยังมี ส.ว.บางส่วนเห็นว่าระบบสัดส่วนผสมยังดีกว่าที่จะแก้ไขใหม่ โดยบางคนเกรงจะเกิดเผด็จการรัฐสภาหากแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่เสนอกัน แต่หากพิจารณาจากที่อธิบายเผด็จการรัฐสภา มันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่สิ่งที่ใช้อยู่ตอนนี้มันทำให้เกิดพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมาก ดูอย่างการเลือกตั้งรอบที่แล้วปี 2562 มีอย่างที่ไหนในโลก ที่มีผู้สมัครส.ส.เขตทั่วประเทศกว่า 10,000 คน และปาร์ตี้ลิสต์ยื่นชื่อไปอีกกว่า 2,000 คน มีพรรคการเมืองส่งคนลงเลือกตั้งกว่า 80 พรรค มีพรรคได้ ส.ส.รวม 29 พรรคการเมือง เป็นสถิติโลกเลย ในโลกนี้มีที่ไหนเป็นแบบนี้ มันไม่มี แต่มันเกิดขึ้นก็เพราะช่องโหว่ที่เปิดเอาไว้
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย 7 คน ไม่ดำเนินการตามมติพรรคในการลงมติโหวตไม่ไว้วางใจว่า วันที่ 6 ก.ย. คณะกรรมการจริยธรรมพรรคเพื่อไทยจะประชุมดำเนินการ จะเรียก ส.ส.ทั้ง 7 คนมาชี้แจงเหตุผล จะรับฟังและให้ความเป็นธรรมกับทุกคน เนื่องจากทั้ง 7 คนมีกรณีที่แตกต่างกันไป ทั้งไม่มาประชุม ลงมติแตกต่างกัน นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก แจ้งมายังตนแล้วว่าติดโควิด ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสภาได้ ถ้าเหตุผลฟังขึ้น คงลงโทษไม่ได้ ถ้าเหตุผลฟังไม่ขึ้น พรรคจะพิจารณาดำเนินการตามข้อบังคับอย่างเด็ดขาด ส่วนกรณี ส.ส.ที่แถลงข่าวให้ร้ายพรรค แม้จะไม่เกี่ยวกับการลงมติ ก็จะพิจารณาลงโทษเช่นเดียวกัน เพราะทำให้พรรคเพื่อไทยเสียหาย ยืนยันครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเอาจริง ไม่มีมวยล้มต้มคนดู วันที่ 10 ก.ย. ที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทางพรรคเพื่อไทยก็จะประชุมเพื่อมีมติให้ ส.ส.ของพรรคโหวตไปในทิศทางเดียวกันเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |