จับตา’ฝน’ 3 เดือน! เปลี่ยนท่วมเป็นทุนสู้แล้งหน้า


เพิ่มเพื่อน    

 

 

   

          ปีนี้เข้าเดือนกันยายนฝนตกหนัก หลังทิ้งช่วงมานาน มีหลายจังหวัดฝนตกติดต่อกัน จนเกิดน้ำท่วมรุนแรง โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ ฝนถล่ม4 ชั่วโมงใน 4 อำเภอ เมื่อวันที่ 28-29 ส.ค.ที่ผ่านมา วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 120 มิลิเมตร ทำให้น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง การระบายน้ำล่าช้าจากเมืองที่เติบโตและสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ    พื้นที่ลุ่มต่ำอย่างนิคมอุตสาหกรรมบางปูเสียหายหนัก ทั้งเครื่องจักรโรงงาน รถจมน้ำมิดคัน ไม่พูดถึงบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เดือดร้อนสาหัส

            ปริมาณฝนที่เทกระหน่ำอย่างหนัก ยังมีอีกหลายจังหวัดที่น้ำท่วม อย่าง จ.ระยอง และเขตเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จมบาดาล น้ำทะลักเข้าบ้าน รถลอยน้ำ  ทำให้ต้องจับตาและเกาะติดสถานการณ์ฝนปีนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้นำมาวางแผนการจัดการน้ำ ให้รอดพ้นจากวิกฤตน้ำท่วม รวมถึง เก็บเกี่ยวหาโอกาสเก็บน้ำฝนที่มีมากในช่วงนี้สำรองไว้เยียวยายาภัยแล้งที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า   มาไล่เรียงประเด็นกันชัดๆ ผ่านเวทีพูดคุยออนไลน์ชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทุน จัดโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และ SCG เมื่อวันก่อน

 

สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สสน.

 

                    สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า ปี 2564 ผ่านมาแล้ว 8 เดือน ภาพรวมฝนตกน้อยในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงทำให้พื้นที่ภาคกลาง มีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค ขณะเดียวกันลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของประเทศ มีการปลูกข้าวนาปีมาตั้งแต่ต้นฤดูฝน เมื่อฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบกับชาวนา เฉพาะเดือนสิงหาคมประเทศไทยมีฝนน้อยกว่าค่าปกติ 32%

              ฝนน้อย ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยลง น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีแค่ 1,643 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนแล้วควรจะมีปริมาณน้ำ ถึง 8,000-12,000 ล้าน ลบ.ม. แต่จริงๆมีแค่1,600 ล้าน ลบ.ม.ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก 5,700 ล้าน ลบ.ม. และแนวโน้มน้ำในเขื่อนจะลดระดับลงอีก เพราะต้องนำไปใช้รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม และเพื่ออุปโภคบริโภค เป็นหลัก จากรายงานประเทศไทยเคยแล้งที่สุดปี 2558 มีปริมาณน้ำ 1,839 ล้าน ลบ.ม.

            กล่าวได้ว่า ปีนี้ปริมาณน้ำใช้การมีน้อยที่สุด ทุบสถิติปี 58 ปีที่แล้งที่สุด อีกทั้งยังมีสถานการณ์ที่ต้องจับตา ผอ.สสน. กล่าวว่า สสน. คาดการณ์ฤดูฝนตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีแนวโน้มฝนเพิ่มมากขึ้นและตกมากกว่าปกติ จะทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่ และคาดว่าช่วงเดือนนี้จะมีแนวโน้มพายุพัดเข้ามาประเทศไทย 1 ลูก ส่วนราชการต้องเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก แต่ก็เป็นโอกาสดีส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเครือข่ายชุมชน เกษตรกร สามารถกักเก็บน้ำ ในแหล่งน้ำท้องถิ่น ขุดสระ ในพื้นที่การเกษตรเก็บน้ำให้มากที่สุด ช่วยลดน้ำท่วมและมีน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เก็บน้ำสร้างอาชีพ

 

 


            ส่วนเดือนพฤศจิกายน ผอ.สสน. กล่าวเตือนว่า มีแนวโน้มสูง ที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังแรง อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมภาคใต้ พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย มีตั้งแต่นครศรีธรรมราช เป็นต้นมา พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา หน่วยงานรัฐและประชาชนควรเตรียมความพร้อมรับมือและเก็บน้ำไว้ใช้เช่นเดียวกัน เพราะจะมีน้ำเพิ่มเข้ามา


           " 8 เดือนที่ผ่านมา ไทยมีฝนตกแบบกระจุกตัว ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่เป็นการตกแบบกระจุกตัวเฉพาะพื้นที่ จะเห็นฝนตกหนักน้ำท่วมหนักบางจุดเท่านั้น เช่น จังหวัดปราจีนบุรี นครราชสีมา ชลบุรี สมุทรปราการ พังงา กระบี่ เป็นต้น"สุทัศน์กล่าว

 

 



          น้ำท่วมนิคมอุสาหกรรมบางปู ระดับน้ำสูงมากกว่า 1 เมตร เมื่อวันที่ 28-29 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น สสน. ชี้ว่าเป็นตัวอย่างของ"ฝนกระจุกตัว " ตกหนักเฉพาะจุด โดยฝนตกสะสม 24 ชั่วโมง ได้ปริมาณฝน 115.8 มิลลิเมตร และมีความเข้มข้นฝนสูง 100 มิลลิเมตร ภายใน 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ตั้งนิคมอุตสาหรรมบางปู เป็นพื้นที่แอ่งท้องกระทะ มีถนนขวางเส้นทางระบายน้ำ ขณะที่คลองลำสลัด ที่ใช้ระบายน้ำมีขนาดเล็ก แคบและถูกบุกรุก เมื่อระบายน้ำออกจากนิคมลงคลองชายทะเล ไม่มีทางออกทะเลโดยตรง ต้องสูบผ่านสถานีสูบน้ำตำหรุ และสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน จะฝนตกหนัก อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะแห้ง ถ้าไม่มีฝนสะสม
                แม้ฝนตกมาก แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย ดร.รอยล จิตรดอล ประธานกรรมการ สสน. กล่าวว่า ปีนี้ฝนตกมาก แต่น้ำไม่ลงเขื่อน พื้นที่เขื่อนใหญ่ๆ ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก แต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเวลาฝนมา จะฝนตกหนักและทิ้งช่วงหายไปยาว ถ้าไม่มีพื้นที่เก็บกักน้ำ โอกาสจะประสบปัญหาการเกษตรหนักมาก การบริหารจัดการน้ำต้องทำเป็นเครือข่าย ปัจจุบัน สสน. ทำงานร่วมกับเครือข่าย 1,700 หมู่บ้าน ขับเคลื่อนการจัดการน้ำ ต่อยอดสู่การจัดการเกษตร การจัดการเงินและการตลาด

            “ แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นเที่ยวนี้ ในช่วงที่เกิดโควิด คนไม่มีงานทำขาดรายได้กลับบ้าน 4-5 ล้านคน มีเกษตรกรในพื้นที่อยู่แล้ว 5-6 ล้านครัวเรือน เกษตรกรจะกลายเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของประเทศ เราไม่อยากเห็นภาพเหมือนปี 2542 พอเศรษฐกิจฟื้น คนแห่กลับเข้าเมือง ซึ่งในสภาวะแวดล้อมแบบนี้ โรคระบาดจะกลับมาได้อีก ฉะนั้น ทำอย่างไรจะพัฒนาอาชีพอคนที่ยู่ในพื้นที่ได้เลย เรามีตัวอย่างความสำเร็จกระจายทุกภูมิภาค ซึ่งพร้อมจะเป็นพี่เลี้ยง น้ำคือ ทุน และจุดเริ่มต้น

        ประธาน สสน. ได้ยกตัวอย่าง จ.แพร่ เป็นจังหวัดที่จนติดอันดับ 2 ของภาคเหนือ แต่เมื่อได้พัฒนาศูนย์น้ำจังหวัด แก้ไขปัญหาการบริหารอ่าง เกิดการจัดการน้ำระดับจังหวัด โดยสำรวจพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำ 163 อ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ค่อยๆ ทยอยฟื้นอ่าง บริหารจัดการน้ำ นำมาสู่การบริหารการผลิต และบริหารการขาย ทำให้ชาวบ้านฐานะดีขึ้น จังหวัดแพร่เจอวิกฤตแล้งปี 2558 2562 และ 2563 หลังเริ่มบริหารน้ำ ไม่ใช่สร้าง คำว่าท่วมและแล้งแทบจะหายไปเลย ส่วนเขาหัวโล้นฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ อ่างเก็บน้ำสลอยความจุ 7 แสน ลบ.ม. ปรับใหม่ได้เพิ่มมาเป็น 1.2 ล้าน ลบ.ม. ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ถ้าสร้างเครือข่ายจัดการน้ำชุมชตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 จะทำให้มีน้ำทำเกษตรตลอดปี แก้ท่วม แล้ง

              “ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า น้ำในเขื่อนแปรปรวนมาก ประชาชนจะพึ่งน้ำในเขื่อนอย่างเดียวไมได้ ปีหน้ายังมีโอกาสเผชิญน้ำแล้งอีก ควรสำรองน้ำในพื้นที่เกษตรของตัวเอง ดักน้ำหลากเข้าเก็บในแหล่งน้ำดร.รอยลย้ำ


ฝนตกหนักติดต่อกันส่งผลน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปู และ4 อำเภอ จ.สมุทรปราการ
   

              ด้าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้พอมี พอกิน อีกประการหนึ่งโควิดให้บทเรียน เศรษฐกิจทรุดตัว คนหลายล้านกลับถิ่นฐาน อยู่บ้านจะมีกินมั้ย เวลานี้ดินทุกกระเบียดนิ้วต้องทำประโยชน์ได้ พื้นที่เล็กๆ หลังบ้านอย่าปล่อยปละละเลย ปลูกผัก ทำบ่อขนาดเล็ก ผลิตอาหารเพื่อตัวเอง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกระบวนการความคิด สอนให้คิดมีน้ำเท่านี้ จะใช้น้ำอย่างไร ชุมชนต้องประเมินต้นทุนน้ำ วางแผนเพาะปลูกแต่ละแปลงก่อนทำการเกษตร ปรับตามสภาพ จะเจอความสุขในชีวิตไม่ใช่ความสนุก

             “ บ้าน ชุมชน มีบ่อหรือสระอยู่แล้ว ให้เก็บน้ำมากที่สุด ให้บริหารน้ำเหมือนเงินเดือน เงินออกแล้ว แต่ต้องใช้ไปอีก 29 วัน ฝนที่จะมาใน 3 เดือนนี้ ต้องพร้อมเก็บ เพื่อให้พอใช้อีก 9 เดือนข้างหน้า ก่อนเข้าฤดูฝนปีหน้า เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ประโยชน์จะเกิดขึ้น ดร.สุเมธ บอก

                ดร.สุเมธ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันที่ ร.9 ทรงฝากไว้ในเศรษฐกิจพอเพียง คือ การเตรียมพร้อมเผชิญสิ่งต่างๆ โดยมีเรามีชีวิตรอด และเผื่อแผ่ไปสู่คนรุ่นลูกหลาน ถ้าทำได้จะเกิดความยั่งยืน ฝากคนกลับถิ่นให้สนใจและลองทำการเพาะปลูกพืชเกษตรโตเร็ว เช่น ไผ่ ซึ่งรองรับการเติบโตของประชากรที่เพิ่มขึ้น ก่อนวางแผนระยะกลาง และระยะยาว ทฤษฎีใหม่ในหลวงทรงวางไว้ 3 ขั้นตอน เหลือกินใช้ นำไปขาย และขยับสู่วิสาหกิจชุมชนที่เป็นเศรษฐีได้ อย่าเข้าใจด้วนๆ แล้วหยุด ขอให้แสวงหาโอกาส “ ดร.สุเมธ กล่าว

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล


               นอกจากสถานการณ์น้ำที่น่ากังวล ปัจจุบันโรคระบาดโควิดยังไม่คลี่คลาย คนจำนวนมากกลับคืนถิ่นด้วยฤทธิ์โควิด หันมาทำเกษตรที่บ้าน เรียนรู้และลงมือจัดการน้ำ เอาตัวรอดจากวิกฤต ล่าสุด พวกเขามาชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทัน สื่อสารถึงการสร้างโอกาสเก็บน้ำฝนในช่วง 3 เดือนนี้ ไว้เป็นทุนรับมือกับภัยแล้งปีหน้า

                   ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์ กลับบ้านเกิด อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี เมื่อ 5 ปีก่อน หาทางแก้หนี้หลักล้าน จนพบทางออกใช้น้ำเป็นทุนขุดบ่อเลี้ยงปลา แปรรูปเป็นปลาส้ม สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้สามารถจัดการหนี้เดิมหมดแล้ว และขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นจัดตั้งวิสาหกิจวังธรรม

             " ผมขุดบ่อรอบบ้าน จับปลาจากบ่อและอีกส่วนซื้อจากตลาดนำมาแปรรูปเป็นสินค้าปลาส้ม ได้ผลตอบแทนเร็วมาก มีทั้งสูตรโบราณและสูตรที่พัฒนาใหม่ ปัจจุบันวางขาย 2 อำเภอ 4 จุดบริการ รายได้จุดละ 1,000 บาทต่อวัน หนี้่ผมไม่มีแล้ว ส่วนวิสาหกิจวังธรรม วางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม เลี้ยงอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มช่องทางขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันมีสมาชิก 3 ตำบล ขุดบ่อเลี้ยงปลา ผลประกอบการส่งต่อมอบทุนการศึกษาในลูกหลานในชุมชนเกิดเป็นภูมิคุ้มกัน "ยศวัจน์เล่า

               เกษตรกรหญิง อลิสสา อุ่นเมือง อดีตพนักงานห้างดังในเมืองกรุง ปัจจุบันร่วมเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ต.ขุนควร อ.บ่ง จ.พะเยา บอกว่า เจอโควิดมารอบ 3 ตัดสินใจกลับบ้าน มาช่วยแม่เก็บมะขามขาย แต่เก็บได้ปีละครั้ง ก็คิดหาทางมีรายได้ตลอดปี แต่เรามีต้นทุนทางเกษตร ที่ดิน และสระน้ำที่ชุมชนเก็บน้ำฤดูฝนไว้ใช้หน้าแล้ง จึงเกิดความคิดปลูกผักระยะสั้น ใช้น้ำน้อย เช่น แตงกวา แตงไท มะเขือเทศ พริก มะเขือพวง มีรายได้ 5,000 บาทต่อวัน พออยู่พอกิน ไม่มีค่าใช้จ่าย โควิดทำให้เราคิดได้ว่า บ้านเกิดเป็นที่พักพิงและจุดเริ่มต้นไม่รู้จบ ตอนนี้ยังต่อยอดขายผักท้องถิ่นผ่านออนไลน์ เช่น ผักหวานป่า หาทางถนอมอาหาร ทุกวันนี้หาทางเก็บน้ำฝนให้มากที่สุด เพราะนี่คือทุนของชีวิตที่ไม่ต้องลงทุน

            จันทร์สุดา กุศลสอนนาม แรงงานก่อสร้าง ผู้กระทบจากโควิดปิดแคมป์ ตัดสินใจกลับขอนแก่นหันมาทำเกษตร กล่าวว่า หนีโควิดกลับบ้าน ได้มาเรียนรู้ทำเกษตรกับเครือข่ายจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำกับพ่อเข็ม เดชศรี ได้รับความช่วยเหลือพ่อเข็มแบ่งที่นา 5 ไร่ และบ่อเลี้ยงปลา 1 บ่อ เพื่อทำกิน ปัจจุบันเลี้ยงปลาหมอ ปลูกพริก มะเขือ ชุมชนนี้มีต้นทุนน้ำ จากการเก็บน้ำตั้งแต่ปี 60 ก็ใช้น้ำแบบประหยัด ใช้น้ำมือสองเหลือจากบ่อปลา ตอนนี้ฝนตกเริ่มเก็บในแหล่งน้ำ เพื่อหาทุนไว้สู้ในอนาคตอีก 3-4 ปี พ่อเข็มสอนให้วางแผนบริหารจัดการที่ดินและน้ำ จะมีน้ำพอใจ คนจะลำบากน้อยลง ปุ๋ยจากขี้วัว เป็ด ไก่ มาใส่พืชผล ไม่ใช้สารเคมี

                “ เป็นคนงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ มา 20ปี ค่าแรงวันละ 500 บาท เคยถูกโกงค่าแรง ก่อนกลับขอนแก่นนายจ้างโกงค่าแรงเกือบ30,000 บาท แต่มาทำเกษตร รายจ่ายลดลง ไม่ต้องซื้อผักปลา ปลูกผักกินเอง แล้วยังรับจ้างต่อเติมบ้าน ก่อสร้างในพื้นที่ด้วย ไม่คิดกลับกรุงเทพฯ อีกแล้ว อยู่นี่มีอยู่มีกิน ฝนที่จะตกใน2 เดือนนี้ ต้องช่วยกันเก็บ เสียงจากจันทร์สุดา คนคืนถิ่น ชวนคนไทยเปลี่ยนฝนเป็นทุน

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"