ผู้ติดเชื้อโควิดยังทรงตัว เตียงเริ่มว่าง ผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาตัวลดลงเรื่อยๆ อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วร่วม 25 ล้านคน ยันจัดหาไม่มีเงินทอน รัฐบาลจีนให้ความสำคัญคอร์รัปชัน หากมีไม่นิ่งเฉยแน่ วอนอย่าด้อยค่าวัคซีนจนหลายคนกลัวไม่ไปฉีดโดยเฉพาะผู้สูงอายุ สุดท้ายต้องเสียชีวิตก่อนได้รับวัคซีน ขณะที่ "หมอโสภณ" ยกภูเก็ตเป็นตัวอย่าง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ เพราะฉีดเยอะ
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,942 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 15,659 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13,549 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,110 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 277 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,265,082 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 20,351 ราย
ยอดรวมหายป่วยสะสม 1,097,317 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 155,134 ราย อาการหนัก 4,741 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,004 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 257 ราย เป็นชาย 135 ราย หญิง 122 ราย อยู่ใน กทม.มากที่สุด 57 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 12,631 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนวันที่ 3 ก.ย.เพิ่มขึ้น 925,627 โดส ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสม 35,218,164 โดส
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,835 ราย สมุทรปราการ 1,570 ราย ชลบุรี 955 ราย สมุทรสาคร 895 ราย ราชบุรี 502 ราย นนทบุรี 468 ราย ระยอง 446 ราย นราธิวาส 341 ราย นครปฐม 340 ราย และนครราชสีมา 296 ราย ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 220,616,345 ราย เสียชีวิตสะสม 4,566,961 ราย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการบริหารจัดการและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ได้ปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายด้วยกัน คณะแพทย์และสาธารณสุขก็มีนโยบายว่าเราจะดูแลเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีได้บ้าง ซึ่งเราจะได้วัคซีนไฟเซอร์ในเดือนกันยายน ก็จะพิจารณาในส่วนนี้เพื่อนำไปฉีดให้เด็ก ซึ่งตนเป็นห่วง และไฟเซอร์ก็เป็นวัคซีนที่เขารับรองว่าสามารถฉีดได้ ก็กำลังหารือกันอยู่ ซึ่งก็น่าจะดีกับเด็กนักเรียน
เมื่อถามว่า สถานการณ์วัคซีนในขณะนี้ดีขึ้นแล้วใช่หรือไม่ เพราะประเทศญี่ปุ่นกำลังจะบริจาคให้เราอีก นายกฯ ตอบว่า เขาบริจาคเข้ามาก็เพราะเขาอยากจะช่วยเรา วันข้างหน้าเราจะได้ช่วยประเทศรอบบ้านเราด้วย
วันเดียวกันนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกตอนนี้ยังเป็นขาขึ้น วันนี้มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 633,846 คน ทำให้ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 220 ล้านคน ยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 9,441 คน สะสมอยู่ที่ 4,566,961 คน โดยประเทศที่มีการระบาดมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 182,593 คน สะสม 40 ล้านคน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1,512 คน ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีน mRNA ค่อนข้างมาก
ดังนั้น วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันควบคุมโรค อย่างไรก็ตามการใช้วัคซีนอย่างเดียว โดยไม่มีมาตรการอื่น ไม่มีความร่วมมือจากประชาชนในเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง จะทำให้เราควบคุมการแพร่ระบาดได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้การระบาดยังคงคล้ายๆ เดิม ยังอยู่ที่ประเทศอินเดีย, บราซิล และในยุโรป
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 15,942 ราย สะสม 1,265,081 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 257 ราย สะสม 12,631 คน จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ต้องระวังและป้องกันอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมประชาชนอดทนใช้มาตรการป้องกันต่างๆ ที่มีคำแนะนำออกไป รวมถึงผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับวัคซีน ขออนุญาตให้ไปรับวัคซีนตามที่กำหนด เพื่อที่เราจะได้ควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดียิ่งขึ้นไป
ฉีดแล้ว 35 ล้านโดส
ถ้าดูแผนที่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากกราฟแผนที่แต่ละจังหวัดที่เป็นสีแดงที่บ่งบอกถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากได้เริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะแนวโน้มที่ดีในภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การระบาดส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง และบางจังหวัดของภาคใต้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ภาพรวมจะดีขึ้น แต่การเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วยยังสำคัญ
ในส่วนของการฉีดวัคซีน นพ.โอภาสกล่าวว่า ไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 35,218,164 โดส และในรอบ 24 ชม.ที่ผ่านมามีการรายงานฉีดเพิ่มขึ้น 925,627 โดส ถือว่าเป็นการรายงานรอบวันสูงที่สุด เชื่อว่าปริมาณวัคซีนที่เรามีและความเข้าใจของประชาชนมีความสำคัญมาก ขณะนี้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว 24,918,054 คน คิดเป็นร้อยละ 34 และเข็มที่สอง 9,698,842 คน หรือร้อยละ 13.5
นพ.โอภาสกล่าวยืนยันว่า การจัดซื้อจัดหาวัคซีนกระทรวงสาธารณสุขไม่มีเรื่องเงินทอนในเรื่องของวัคซีน อย่างวัคซีนซิโนแวคที่กระทรวงสาธารณสุขจัดหามาตั้งแต่เดือน ก.พ.64 ราคาวัคซีน 17 เหรียญ และในปัจจุบันที่มีการซื้อจำนวนมาก และความต้องการในการฉีดยังมี แต่ตลาดเปิดกว้างขึ้น ทำให้มีวัคซีนในตลาดค่อนข้างมาก ปัจจุบันราคาในขณะนี้อยู่ที่ 9 เหรียญ ถ้าเทียบกับวัคซีนเชื้อตายยี่ห้ออื่นจะถูกกว่า 50% ยืนยันว่าไม่เงินทอนแน่นอน ส่วนรายละเอียดองค์การเภสัชกรรมจะชี้แจงอีกครั้ง ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ถ้าเทียบกับบริษัทอื่นก็ถูกมากกว่าถึง 50% เช่นกัน ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้ทำสัญญาจองล่วงหน้าเป็นเวลานาน ราคาที่เราใช้ไปก็ถูกกว่าวัคซีนที่เราจัดหาได้
"การทำสัญญาวัคซีนเน้นย้ำว่าในปัจจุบันวัคซีนจะมีมาก แต่ตลาดก็ยังเป็นของผู้ขายและผู้ผลิตอยู่ เพราะความต้องการฉีดวัคซีนทั่วโลกมีมากกว่ากำลังการผลิตอย่างมาก การทำสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้าเราทำมาตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่การวิจัยยังไม่เสร็จ วัคซีนทุกชนิดยังวิจัยไม่เสร็จแม้ชนิดเดียว ดังนั้นเมื่อวิจัยไม่เสร็จก็ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน แค่พอเราเห็นแนวโน้มว่าจะสำเร็จ เราก็มีการเร่งทำสัญญาจองซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ตอนนั้น เพราะฉะนั้นการลงนามในสัญญาจึงไม่ใช่สัญญาปกติ เพราะการระบาดทั่วโลกถือว่าเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ถ้าระบบปกติการลงนามในสัญญาแบบนี้เราคงไม่ลงนามแน่ โดยเฉพาะระเบียบและกฎหมายของไทย เพราะของที่ผลิตจะเสร็จหรือไม่ก็ไม่ทราบ"
อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยว่า อย่างที่ทราบการลงนามในสัญญามีข้อกำหนดเกือบทุกครั้งว่า จะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในสัญญาจนกว่าจะได้รับความยินยอมจากบริษัท แต่เราก็จำเป็นต้องลงนามในสัญญา มิเช่นนั้นการฉีดวัคซีนคงทำไม่ได้ แต่เราก็ทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ที่มีการเปิดช่องให้สามารถทำได้ รวมถึงตัวสัญญามีการปรึกษาทางอัยการสูงสุดมาตลอด ส่วนการของบประมาณเป็นการใช้งบกลาง เพราะฉะนั้นการซื้อทุกครั้งต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ในปัจจุบันซีอีโอแอสตร้าเซนเนก้าได้ทำหนังสือแสดงความมุ่งมั่นถึงนายกรัฐมนตรี ที่จะส่งมอบวัคซีนตามที่เราทำสัญญาจองเอาไว้ 61 ล้านโดสภายในปีนี้ และโรงงานที่ผลิตในไทยมีศักยภาพการผลิตและผ่านไปได้ด้วยดี
“กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า การจัดซื้อจัดหาวัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล มีความโปร่งใสและไม่มีเรื่องเงินทอน เนื่องจากการส่งวัคซีนของจีนทุกครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางจีน ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นบริษัทระดับโลก หากมีเรื่องเงินทอนจริงคงไม่นิ่งเฉย และขออย่าด้อยค่าวัคซีนจนหลายคนกลัวไม่ไปฉีดโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนที่ผ่านมายังไม่มีรายใดเสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง ขอให้ไปรับวัคซีนตามที่กำหนด” นายแพทย์โอภาสกล่าว
ตุลามีวัคซีน 24 ล้านโดส
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เรามีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ภูเก็ตที่มีเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนที่สูงมาก โดยขณะนี้เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจำนวนกว่า 2 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการและแนวทางที่ ศบค.กำหนด ทุกคนที่เข้ามาก็ได้รับการตรวจตั้งแต่วันแรกที่มาถึง และตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง โดยข้อมูลปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อเป็นส่วนน้อยในกรณีของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พบผู้ติดเชื้อสะสม 85 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และมีอาการน้อย ส่วนที่ติดเชื้อและมีอาการก็ได้รับการรักษาหายแล้ว 20 คน ถ้าดูเปอร์เซ็นต์ก็ยังต่ำเพียงแค่ 0.13%
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดว่า คนที่มาจากต่างประเทศเข้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาทุกคน ยกเว้นเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปีที่มากับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้ว ทั้งนี้จากข้อมูลการตรวจแล้วทั้งหมด 77 ราย พบว่ามีประวัติการฉีดวัคซีนที่น่าสนใจ ซึ่งมีการฉีดวัคซีนทุกยี่ห้อ มีการติดเชื้อค่อนข้างต่ำ จะเห็นได้ว่าแม้มีการฉีดวัคซีนแล้วแต่ก็ยังมีการติดเชื้อ โดยคนกลุ่มนี้ไม่มีใครที่ป่วยหนัก และไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
นพ.โสภณกล่าวอีกว่า เดือน ก.ย.มีวัคซีนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนๆ ที่ผ่านมา คาดว่าในสิ้นเดือนนี้จะมีวัคซีนมากกว่า 15 ล้านโดสที่ใช้ในไทย ซึ่งมี 3 วัคซีนหลัก คือ ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ในเดือน ต.ค.เรามีวัคซีนเพิ่มขึ้น 24 ล้านโดส อีก 2 เดือนที่เหลือจะได้อีก 23 ล้านโดส โดยเป็นวัคซีนที่จะต้องส่งมอบให้ทั้งหมดภายใน ธ.ค. ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าทำไมเรายังไม่ได้สั่งเพิ่มวัคซีนซิโนแวคในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน เช่นการส่งมอบวัคซีนของ 2 ชนิด หรือความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนในเด็กก็จะมีการสั่งเข้ามาเพิ่มเมื่อมีความจำเป็น ส่วนวัคซีนทางเลือกอย่างซิโนฟาร์มและโมเดอร์นา ขึ้นอยู่กับการส่งมอบและกำลังมีการทยอยเข้ามา
ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 ถึง วันที่ 3 ก.ย.64 ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 112 ราย แยกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อพบในพื้นที่จังหวัด 49 ราย ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 63 ราย แยกเป็น ติดเชื้อมาจากจังหวัดเสี่ยง 16 ราย และติดเชื้อมาจากจังหวัดเสี่ยง (พบก่อนเข้าสถานกักกันตัว) LQ 47 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 14,055 ราย เสียชีวิตสะสม 40 ราย หายป่วยสะสม 12,231 ราย ยังรักษาอยู่ 1,784 ราย กระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัด
สมุทรปราการยังสาหัส
ส่วนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี รายงานผลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จ.ชลบุรี เพิ่มรายวัน 955 ราย ยอดสะสม 65,964 ราย เสียชีวิต 20 ราย เสียชีวิตสะสม 426 ราย กำลังรักษา 14,244 ราย รักษาหาย 1,248 ราย รักษาหายสะสม 51,294 ราย 3 อำเภอสูงสุด คือ อ.เมืองชลบุรี 229 ราย อ.ศรีราชา 228 ราย และ อ.บางละมุง 136 ราย พบผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว 297 ราย จากสถานที่ทำงาน 144 ราย บุคคลใกล้ชิด 28 ราย ร่วมวงสังสรรค์ 6 ราย
สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยตัวเลขล่าสุดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 (3 ก.ย.64) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 895 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก 45 ราย ในโรงพยาบาลภายในจังหวัด 463 ราย นอกจังหวัด 125 ราย ในบับเบิลแอนด์ซีล 262 ราย เสียชีวิต 15 ราย อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล 7,505 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 237 ราย และอยู่ระหว่างการสังเกตอาการอีก 9,029 ราย
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ฉีดได้มากถึง 9,082 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 5,098 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 3,984 โดส ยอดสะสมรวมทั้งสิ้น 624,876 โดส
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร มีคำสั่งออกมาว่าต้องตรวจตลาดสดทั้งหมดให้เสร็จภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ ภายใต้โครงการ "ตลาดสุขใจ" ปลอดภัยโควิด-19 โดยจะมีการตรวจ ATK ให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาด 100% ตรวจซ้ำทุกๆ 7-15 วัน พ่อค้าแม่ค้าต้องได้รับการฉีดวัคซีน 100% ตลาดต้องถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐานกรมอนามัย มีป้ายบอกราคาให้เห็นอย่างชัดเจน ตลาดไหนดีเด่นจะมีการมอบโล่รางวัลยกย่องให้ด้วย มอบป้ายการันตี "ตลาดสุขใจ" ไว้ที่ตลาดแห่งนั้น แสดงให้เห็นว่าตลาดนี้เข้ามาได้อย่างสบายใจ ปลอดภัยจากโควิด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของตลาดสดให้กลับคืนมาโดยเร็ว
ส่วน นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 1,570 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 1,412 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการจำนวน 391 ราย อำเภอพระประแดงจำนวน 189 ราย อำเภอพระสมุทรเจดีย์จำนวน 152 ราย อำเภอบางพลีจำนวน 238 ราย อำเภอบางบ่อจำนวน 170 ราย อำเภอบางเสาธงจำนวน 272 ราย โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการจำนวน 158 ราย เสียชีวิต 20 ราย เป็นเพศชายจำนวน 12 ราย เป็นเพศหญิงจำนวน 8 ราย อายุระหว่าง 36-92 ปี รวมเสียชีวิตสะสม 888 ราย ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงปัจจุบันจำนวน 85,228 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในโรงพยาบาลเอกชน และรักษาใน Hospitel มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการรวมจำนวน 18,229 ราย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |