ทิศทางการเมืองหลังศึกซักฟอก อนาคต รบ.-แก้ รธน.บัตรสองใบ
จบไปแล้วกับ ศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นศึกซักฟอกที่การเมืองทั้งในและนอกห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร้อนแรงตลอดช่วงการอภิปรายพอสมควร โดยเฉพาะการเมืองนอกห้องประชุมกับปัญหาคลื่นใต้น้ำในพรรคพลังประชารัฐ กับเรื่องการออกเสียงไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จนเกิดความเคลื่อนไหวและกระแสข่าว ล้มบิ๊กตู่กลางสภา-เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม สุดท้ายที่ประชุมก็ลงมติออกเสียงไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ 5 รัฐมนตรีที่ถูกยื่นซักฟอก โดยมีคะแนนเสียงไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ แตกต่างกันไป
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกยื่นซักฟอก กล่าวก่อนการลงมติและจบศึกซักฟอก ถึงทิศทางการเมืองหลังรัฐบาลผ่านพ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ไม่เชื่อว่าหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะตอนนี้งานของรัฐบาลคือการแก้ปัญหาโควิด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยมีการเปิดประเทศ ประชาชนออกมาใช้ชีวิตตามปกติเพื่อทำมาหากินกันได้ตามปกติ สิ่งเหล่านี้คือภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งทำมากกว่าเรื่องการเมือง วันนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจหยุดชะงักทำต่อไปไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องรีบผลักดันตรงนี้ แก้ปัญหานี้ให้ผ่านไปให้ได้ก่อน
ส่วนปีหน้า 2565 หากสถานการณ์ดีขึ้น มีความพร้อมที่จะมีการเลือกตั้ง หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ค่อยมาว่ากัน ผมว่าช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาจะมามองเรื่องประเด็นการเมือง เพราะวันนี้ หากจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วจะแก้ปัญหาได้เลย จะทำให้เกิดการทะเลาะกันมากกว่า ควรทำให้ที่มีอยู่ตอนนี้ให้ทำงานต่อไปให้ได้ดีที่สุด ซึ่งผมก็คิดว่ารัฐบาลก็ทำได้ดีมากแล้ว ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายไป
-มีการมองกันว่ารัฐบาลอาจะอยู่ได้แค่ถึงสิ้นปีนี้หรือไม่เกินต้นปีหน้า โดยเฉพาะหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบ แก้ พ.ร.บ.เลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว?
อันนี้ตอบไม่ได้ รอให้แก้รัฐธรรมนูญเสร็จก่อนแล้วกัน แต่ผมว่ามันคงไม่เกี่ยวกัน เพราะเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็แก้กันไป แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังทำงานร่วมกันได้
"ผมเชื่อว่ารัฐบาลอยู่ครบเทอมอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลต้องยุบสภา ส.ส.ส่วนใหญ่ยังสนับสนุนพลเอกประยุทธ์อยู่ คุณให้เหตุผลมาหน่อยสิว่าทำไมต้องยุบสภา ผมยังนึกไม่ออกเลย ยังไงก็อยู่ครบเทอม จนกว่าจะพร้อมมีการเลือกตั้ง เพราะสภาเองตอนนี้ก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองได้ พิจารณาผ่านกฎหมายไป ไม่มีปัญหาอะไร"
เมื่อถามว่า มีการประเมินกันหลังจากนี้กระแสม็อบไล่รัฐบาลอาจจะเริ่มกลับมาแรงขึ้น หลังจบศึกซักฟอกและสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ชัยวุฒิ-รมว.ดีอีเอส มองว่า รัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลก็โดนม็อบมาไล่เกือบทุกรัฐบาล ก็ยังอยู่กันได้ไม่เห็นมีอะไร ประเทศไทยก็อยู่แบบนี้จนชินแล้วมั้ง สิบกว่าปีแล้ว จนคนไทยเริ่มชินแล้ว จนกลายเป็นเรื่องปกติ มันเป็นวิถีการเมืองไทย ไม่ต้องตกใจอะไร ก็มีทุกยุคทั้งทักษิณ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มันมีม็อบทุกยุค แต่อยู่ได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ยังดูไม่ออก ตอบไม่ได้
ชัยวุฒิ-รมว.ดีอีเอส ยังกล่าวถึงความเห็นที่แตกต่างกันของพรรคร่วมรัฐบาล เช่น ภูมิใจไทยที่ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องบัตรสองใบว่า เป็นเรื่องธรรมดา รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่เวลาเขียนขึ้นมา มีทั้งคนได้เปรียบและคนเสียเปรียบ ก็จะมีคนมองเห็นแตกต่างกันไป
“อย่างผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะอยู่ในพรรคเดียวกันเองในพรรคพลังประชารัฐ แต่ผมก็ไม่ได้เห็นด้วย”
...เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญลองเอานักการเมืองห้าคนมานั่งคุยกัน ให้คุยกันเรื่องนี้ ก็คิดกันไปห้าคนห้าแบบ ไม่มีใครคิดตรงกันหรอก เพราะเป็นเรื่องที่มีความคิดได้หลากหลายมาก เป็นเรื่องธรรมดา
-ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ทำไมพรรค พปชร.ถึงเอาด้วยกับเรื่องบัตรสองใบ ทั้งที่เป็นระบบเลือกตั้งที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นผลดีกับคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยมากกว่า?
อันนี้ผมก็ยังงงเหมือนกัน ก็รู้อยู่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์ ก็ไม่รู้ว่าไปคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เขาทำไม ก็ไม่รู้ ก็งงเหมือนกัน ส่วนการโหวตหลังจากนี้ต้องรอก่อน อย่าเพิ่งไปคาดเดาอนาคต รัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านเลย อาจจะไม่ผ่านก็ได้ ใครจะไปรู้ได้ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน อาจจะมีการต่อรอง ต้องวัดกันดูว่าจะเป็นยังไง อาจจะสูสี โอกาสจะผ่านหรือจะไม่ผ่านยังเดาไม่ได้ ยังดูไม่ออก
เฟกนิวส์มีการทำเป็นขบวนการ
ชัยวุฒิ-รมว.ดีอีเอส ยังกล่าวถึงเรื่องการควบคุมและดำเนินคดีการเผยแพร่ ข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ หลังจากนี้ว่า ปัญหาเฟกนิวส์กระทรวงก็มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรณรงค์ขอความร่วมมือภาคประชาสังคม เช่นเพจต่างๆ ให้ช่วยด้วย เช่นการช่วยแชร์ข้อมูลที่เราทำเรื่องเฟกนิวส์ ที่ตอนนี้ก็มีการทำกันอยู่
ส่วนการดำเนินงานของกระทรวงดีอีเอส และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ของกระทรวงดีอีเอสที่ผ่านมา มีการปิดกั้น ดำเนินคดี ในหนึ่งสัปดาห์มีร่วมเป็นร้อยเพจหรือร้อยโพสต์ ก็มีการทำอยู่ เนื้อหาก็มีทั้งพวกจาบจ้วงสถาบัน หรือเรื่องเกี่ยวกับการชักชวนให้เล่นการพนัน แต่ก็ยอมรับว่าคงไม่หมดไปเลยเสียทีเดียว เพราะปิดไปก็มีการเปิดใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ
วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการระวังป้องกัน ไม่ไปยุ่งเกี่ยว พยายามไม่แชร์หรือส่งต่อพวกเฟกนิวส์ เรื่องนี้ก็อยู่ที่ประชาชนด้วยในการต้องช่วยกันป้องกัน ซึ่งสาเหตุที่เฟกนิวส์เกิดขึ้นมากก็ต้องยอมรับว่าเพราะมีโซเชียลมีเดีย ใครคิดหรือนึกอยากโพสต์อะไรก็โพสต์กัน ไปห้ามไม่ได้
-ที่เฟกนิวส์เยอะเป็นเพราะกฎหมายที่ควบคุมเอาผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตอนนี้ยังอ่อนเกินไป บทลงโทษไม่รุนแรง คนเลยไม่กลัว?
จริงๆ กฎหมายบ้านเราก็เป็นไปตามมาตรฐานสากล ก็เหมือนกันเกือบทุกประเทศ แต่สุดท้ายมันอยู่ที่คน และสองเป็นเพราะมีขบวนการที่พยายามปลุกปั่นให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในสังคมไทย ซึ่งถ้าไม่มีขบวนการที่มาทำ ปัญหานี้อาจจะไม่รุนแรง เรื่อง "ความคึกคะนองเล่น" แล้วทำกัน จริงๆ มันก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ว่าขณะนี้มันคือการทำเป็นขบวนการ เช่นมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ หรือว่าอยากสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง มีขบวนการที่ทำอยู่ มันก็เลยมีเยอะ
ชัยวุฒิ ยอมรับว่า ช่วงสถานการณ์โควิดพบว่าเฟกนิวส์เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ โดยเป็นเฟกนิวส์เกี่ยวกับโควิด เช่นการพยายามดิสเครดิตวัคซีนโควิด รวมถึงเรื่องต่างๆ ที่ไม่พอใจรัฐบาลแล้วก็นำมาโพสต์กัน ก็มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องเท็จ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพราะเวลามีปัญหาในสังคมหรือเวลามีปัญหาใหญ่ๆ ในบ้านเมือง ก็ทำให้ข่าวหรือสิ่งที่คนสนใจเรื่องเหล่านี้ก็จะออกมาเยอะ ก็เป็นหน้าที่เราต้องคอยชี้แจงแก้ไข ส่วนที่นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานแก้ปัญหาเฟกนิวส์และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็เพราะเฟกนิวส์ส่วนหนึ่งก็เป็นเป็นเรื่องใหม่ แต่ละหน่วยงานก็พยายามปรับตัวทำกัน และเฟกนิวส์ก็มาเกิดเยอะช่วงหลังตอนนี้ช่วงโควิด มันก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวเหมือนกัน ต้องค่อยๆ ทำ ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงก็เพราะห่วงว่าหากปล่อยให้ขบวนการ หรือปัญหาเฟกนิวส์มันแพร่หลายแบบนี้ ประชาชนก็จะเกิดความสับสน เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อบ้านเมือง หรือเกิดความแตกแยกระหว่างประชาชน ซึ่งมันก็จะส่งผลให้บ้านเมืองวุ่นวาย ก็อาจส่งผลทำให้การบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ปัญหาต่างๆ จะทำได้ยาก
-การควบคุมจัดระเบียบโซเชียลมีเดียสามารถทำ หรือแยกได้ไหมว่าอันไหนเป็นสื่อจริงๆ อันไหนไม่ใช่?
ในทางเทคนิคทำยากเพราะทุกคนมีสิทธิ์ หากผมจะไปบอกบางแห่งว่าคุณไม่ใช่สื่อมวลชน แต่เขาก็มีสิทธิ์จะโพสต์อะไรต่างๆ ได้ เพราะเป็นพื้นที่โซเชียลมีเดีย จะไปห้ามเขาก็ไม่ได้ เพียงแต่เขาก็จะไปทำหนังสือพิมพ์ หรือออกสื่อแบบวิทยุ โทรทัศน์ไม่ได้ เพราะสื่อเหล่านี้ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มีสมาคมวิชาชีพ มีใบอนุญาตต่างๆ แต่พวกโซเชียลมีเดียไปคุมไม่ได้ หากจะคุมได้ก็ต้องทำแบบประเทศอื่นอย่างกัมพูชา จีน ซึ่งไม่ใช่แนวทางประเทศไทย
-ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมลงไปดูรายละเอียดไหมว่า กลุ่มที่เผยแพร่เฟกนิวส์เป็นกลุ่มไหนบ้างหลักๆ?
ผมก็ไม่ได้ลงไปดูรายละเอียด แต่เท่าที่ทราบก็คือทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เวลาเขาพบเฟกนิวส์ก็จะไล่ตรวจสอบโพสต์ไปเรื่อยๆ จนเจอแหล่งที่มาที่เป็นโพสต์แรกๆ แล้วก็จะมีการดำเนินคดีกับแหล่งแรกที่เริ่มโพสต์ รวมถึงกลุ่มที่มีการแชร์เฟกนิวส์ที่ก็จะเป็นกระบวนการเดียวกัน อันนี้ทางศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์ดำเนินการอยู่ แล้วก็ออกไปจับดำเนินคดี แต่กระบวนการยุติธรรมบ้านเรามีหลายขั้นตอน ต้องรวบรวมพยานหลักฐานอะไรต่างๆ บางอันออกหมายเรียกไปหลายรอบก็ไม่ยอมมา จนมีการออกหมายจับ คือบางทีเรื่องมันก็ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง ตำรวจก็อาจไม่อยากไปทำอะไรรุนแรงมาก คดีก็เลยอาจคืบหน้าช้า ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบการกระทำความผิดก็เป็นลักษณะความผิดส่วนบุคคล การจะไปพบว่าทำแบบเป็นกลุ่มบุคคลมันก็ยาก เพราะเรื่องพวกนี้ก็จะไม่ได้ทำในนามกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่เราก็จะรู้ว่าเป็นเครือข่ายกัน มีความเกี่ยวข้องกัน มีคนโพสต์แล้วก็มีการนำไปแชร์ต่อๆ กัน คนที่เอาไปแชร์ก็เป็นกลุ่มเดิมๆ
ส่วนเป้าหมายของคนที่ทำเฟกนิวส์ก็มีรวมๆ กัน เป็นลักษณะดิสเครดิตกระบวนการทำงาน บางทีก็มีเรื่องผลประโยชน์ด้วย บางทีเรื่องของธุรกิจก็มีการโจมตีกัน เช่นคนหนึ่งกำลังจะขายผลิตภัณฑ์ยา ก็จะมีการทำเรื่องออกมาเพื่อดิสเครดิตยาคู่แข่งขันว่าเป็นยาที่ไม่ดี หรืออยากจะนำเข้าวัคซีนมาขาย ก็บอกว่าวัคซีนอีกยี่ห้อไม่ดี หรือบางคนชอบสหรัฐอเมริกา ไม่ชอบจีน ก็ทำเรื่องดิสเครดิตจีน หรือชอบจีน ไม่ชอบอเมริกา ก็เลยดิสเครดิตอเมริกา มันก็เป็นแบบนี้ทุกประเทศในโลก
สกัดคนทำผิด 112
ทางโซเชียลมีเดีย
ชัยวุฒิ-รมว.ดีอีเอส ยังกล่าวถึงการควบคุม ติดตาม เอาผิดคนที่กระทำผิดมาตรา 112 ทางโซเชียลมีเดียด้วยว่า กระทรวงก็มีการเข้าไปดำเนินการปิดกั้น กระบวนการแบบนี้กระทรวงเราทำได้ ซึ่งการปิดกั้นก็ทำได้สองแบบคือ หนึ่ง-เป็นลักษณะการขอความร่วมมือกับทางเฟซบุ๊กโดยตรง โดยส่งอีเมลแจ้งไปว่าเว็บบางแห่งมีเนื้อหาไม่เหมาะสม รวมถึงการขอความร่วมมือด้วยการให้ลบโพสต์บางโพสต์ ซึ่งเขาก็ทำให้ วิธีที่สองคือการใช้คำสั่งศาล ก็ทำได้สองช่องทาง บางกรณีเฟซบุ๊กเขาก็ทำให้เลยถ้าพบว่าเนื้อหามันชัดเจน และทางกระทรวงช่วยยืนยันก็ส่งเรื่องไป
ส่วนความร่วมมือของแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ถ้าเป็นกรณีอย่างแอกเคาต์ปลอม ฉ้อโกง หลอกลวง พวกนี้เขาก็จะให้ความร่วมมือ รวมถึงกรณีที่เป็นลักษณะเกี่ยวกับความมั่นคง ที่อาจจะเข้าข่ายก่อความวุ่นวาย ทำให้เกิดความแตกแยก เช่นอย่างยุให้คนมาม็อบแบบนี้ บางทีเขาก็ปิดกั้นให้ ถ้าดูแล้วมันรุนแรงเกินไป ซึ่งอย่างที่สหรัฐอเมริกาเขาก็มีการทำให้ อย่างกรณีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ก่อเหตุตอนหลังเลือกตั้ง ก็มีการปิดกั้นไม่ให้ใช้ เขาเรียก Community Standard เป็นลักษณะแบบหลักการของเขา แต่อาจไม่ตรงกับหลักการของคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้บางกรณีก็ต้องใช้ คำสั่งศาล แต่บางทีถึงเป็นคำสั่งศาลก็จะไปบังคับเขาไม่ได้อยู่ดี
อย่างบางกรณีมีคำสั่งศาลให้ปิดเพจของบางคนก็ไม่มีการปิดให้ และอีกหลายเพจพวกเพจลักษณะล้มสถาบัน ทางเฟซบุ๊กก็ไม่ปิดให้ ก็ปิดยาก อาจเป็นเพราะเขา (สำนักงาน) ไม่ได้อยู่เมืองไทย ตรงนี้ก็อาจเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง อีกทั้งตัวผู้ถูกดำเนินคดี (ผู้ต้องหา) อยู่ต่างประเทศ เพราะการปิดกั้นก็มีการดำเนินคดีด้วย เช่นคนทำผิดมาตรา 112 ก็ถูกดำเนินคดี 112 หรือผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทำผิดเรื่องเผยแพร่เฟกนิวส์ แต่เมื่อผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศการดำเนินคดีก็ค่อนข้างยาก
ชัยวุฒิ-รมว.ดีอีเอส ยังกล่าวถึงการผลักดันนโยบายการบริหารงานของกระทรวงดีอีเอสที่จะต้องสานต่อว่า มีอีกหลายเรื่องโดยบางเรื่องก็ทำไปมากแล้ว เช่นนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ Cyber Security เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีประกาศออกมารองรับแล้ว หลังมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ National Cyber Security Agency: NCSA ที่ก็มีหน้าที่เช่น ก็จะไปกำหนดว่าสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้า ประปา ธนาคาร โรงพยาบาล เป็นหน่วยงานสำคัญที่ต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการ Cyber Security ที่ก็จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ แล้ว สกมช.ก็จะคอยกำกับดูแล ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างเราก็ทำตามมาตรฐานสากล โดยผู้ประกอบการอย่าง ธนาคาร บริษัทประกันภัย ก็มีระบบป้องกันอยู่แล้ว อย่าง โรงไฟฟ้า ก็จะมีการติดซอฟต์แวร์ป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์อยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นหากมีคนโจมตีเข้ามาแล้วโรงไฟฟ้าดับหมดก็เสียหาย เขาจึงมีระบบป้องกันที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ สกมช.ก็เข้าไปช่วยให้คำแนะนำกำกับดูแล
ส่วนแนวนโยบายเรื่องการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานกำลังพิจารณาดำเนินการอยู่ แต่การดำเนินการก็ต้องมีหลายอย่างประกอบ แต่สิ่งที่ได้ขับเคลื่อนไปก็คือ ทำให้เกิดมีโครงข่ายเกือบทุกพื้นที่แล้ว ก็พยายามขยายให้ครอบคลุมบ้านเรือนประชาชน ให้มี Wi-Fi ฟรีเพื่อให้ประชาชนได้ใช้มากขึ้น ล่าสุดก็ไปประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้รับเรื่องอินเทอร์เน็ตไว้เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในระดับท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นช่วยซัพพอร์ต เพราะท้องถิ่นเช่น องค์การบริหารส่วนตำบลก็มีงบประมาณ ก็ไปทำเรื่องการให้ประชาชนใช้อินเทอร์เน็ต Wi-Fi ฟรี เริ่มจากย่านชุมชน ในโรงเรียนให้เด็กนักเรียนใช้ โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่นมาสนับสนุน หรืองบจากส่วนอื่นก็ว่าไป เพราะภารกิจดังกล่าวควรเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต้องเข้ามาดูแลสนับสนุน เพราะท้องถิ่นจะรู้ว่าประชาชนมีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตตรงจุดไหนในชุมชน โดยส่วนกลางก็ไปดูเรื่อง เช่น การพัฒนาโครงสร้างและระบบการให้บริการ ตอนนี้กระทรวงดีอีเอสก็พยายามจะผลักดันให้เรื่องนี้เข้าไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้เห็นชอบออกมาเป็นแนวนโยบายต่อไป หากทำได้ก็จะช่วยพลิกระบบให้ดีขึ้น ลักษณะก็อาจให้ท้องถิ่นทำ แล้วท้องถิ่นจะใช้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตยี่ห้อไหนก็เปิดให้ประชาชนใช้
ส่วนในช่วงโควิดที่ค่าบริการอินเทอร์เน็ตลดลงไม่ได้ ก็เพราะเครือข่ายผู้ให้บริการมีหลายบริษัท การลดค่าบริการช่วงโควิดเลยทำไม่ได้ มันไม่เหมือนน้ำไฟที่เป็นของการประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ไปแล้ว เพื่อให้การให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แต่ขณะนี้บางส่วนที่รัฐทำอยู่ เช่น อินเทอร์เน็ตประชารัฐ ที่ก็มีอยู่แล้วที่ให้บริการฟรี แต่มันยังไม่ค่อยขยาย ก็จะทำให้ขยายมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 24,000 จุดที่กระทรวงดีอีเอสทำไว้ และของสำนักงาน กสทช.อีกประมาณ 15,000 จุด รวมแล้วก็ประมาณ 40,000 จุดในพื้นที่ห่างไกล ในกรุงเทพมหานครจะไม่ค่อยมี จะเป็นพื้นที่ห่างไกลซึ่งอินเทอร์เน็ตยังไปไม่ถึง ก็มีการลากสายไฟเบอร์ไปให้ เพื่อให้อินเทอร์เน็ตไปถึงตำบลต่างๆ ซึ่งการดำเนินการตามที่วางไว้ก็จะให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยนำไปขยายเครือข่าย โดยคิดค่าบริการกับประชาชนในพื้นที่ราคาไม่แพงมาก แต่หากไม่ต้องการก็สามารถไปใช้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี Wi-Fi ในพื้นที่ชุมชนที่ท้องถิ่นทำไว้ให้ได้ เช่น ศาลาวัด ศาลาหมู่บ้าน ซึ่งเรื่องนี้ทำมาหลายปีในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โครงข่ายต่างๆ ถือว่าดีแล้ว เพียงแต่ทำให้มันมีการนำมาใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น
-กรณีบอร์ด กสทช.มีคำสั่งยกเลิกและเลื่อนประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) จะมีผลกระทบอะไรกับการพัฒนาประเทศในด้านดิจิทัล การสื่อสาร หรือระบบ 5G อะไรหรือไม่?
จริงๆ ไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไหร่ เพราะดาวเทียมตอนนี้จริงๆ ใช้บรอดแคสต์ (Broadcast) เป็นหลัก เช่นเรื่องของระบบทีวี อย่างการถ่ายทอดสดหรือการสื่อสาร เรื่อง Broadband อินเทอร์เน็ต แต่ก็จะมีผลกระทบกับคนที่อยู่ชายขอบหน่อยที่ไฟเบอร์ออปติกไปไม่ถึง แต่ก็ไม่เยอะ เข้าใจว่าตอนนี้มีประมาณสองพันกว่าหมู่บ้าน สองพันกว่าจุดที่ใช้อินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม แต่ก็ยังไม่ได้เลิกไป ยังมีอยู่อีกประมาณ 2-3 ปี เราก็ต้องแก้ปัญหาว่าจะยิงดาวเทียมดวงใหม่อย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร
โดยหลังวันที่ 10 ก.ย. ทางบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (National Telecom Public Company Limited) ก็จะเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ และไทยคม 6) หลังสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทาน (บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ) เรียกว่าการ operate ต่อ แล้วก็ไปดูเรื่องการปรับโครงสร้าง รายได้ รายจ่าย จะทำอย่างไร เพราะต่อไปจะเป็นของรัฐแล้ว ไม่ใช่ของไทยคม ส่วนที่มีการเปิดประมูล เป็นเรื่องของการทำดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปเพื่อให้บริการประชาชน ซึ่งตอนที่เปิดประมูลมีบริษัทเอกชนยื่นแค่รายเดียว (บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด มีบริษัท ไทยคมฯ ถือหุ้น 100%) ทาง กสทช.เลยให้เลื่อนไปก่อน
...หากประมูล ไทยคมที่ตอนนี้เป็นแค่เจ้าเดียว และที่ผ่านมาก็ทำเพียงรายเดียวมาสามสิบปี วันนี้ก็เป็นปัญหาท้าทายว่า หากเปิดประมูล ก็จะมีแค่รายเดียวที่ก็คือไทยคมที่มายื่นประมูล เพราะทำเป็นอยู่รายเดียว โดยหากเปิดประมูลแล้วเขาได้ไป เขาก็จะผูกขาดต่อไปอีกยี่สิบปี ก็เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ตกผลึก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงดีอีเอสหรือเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของสำนักงาน กสทช.ที่เป็นหน่วยงานอิสระ ที่จะไปสั่งอะไรเขาไม่ได้
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะต้องผลักดัน เช่น Digital Locations ที่เป็นลักษณะเช่นหากมีคนจะสั่งซื้อพิซซ่ามากินที่สำนักงานแห่งหนึ่ง ปกติตอนนี้ก็จะใช้จีพีเอส หรือ Google Maps ซึ่งจริง ๆ ทุกคนควรมีอีเมลและจีพีเอสของตัวเอง คือเวลาคนคนหนึ่งเช่นนาย ก.สั่งพิซซ่ามาที่สำนักงานของตนเอง ทางผู้จำหน่ายพิซซ่าเขาก็สามารถมาส่งพิซซ่าถึงสถานที่ location ของคนที่สั่งได้เลย รวมถึงอย่างอื่นเช่น ใบสั่ง หมายศาล ทำให้สามารถส่งของหรือสินค้าไปถึงคนคนนั้นได้เลย รวมถึงส่งเอกสารต่างๆ พวกใบสั่ง หมายศาล ใบแจ้งเสียภาษี ปกติจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ก็จะให้สามารถส่งทางอีเมลได้เลยโดยไม่ต้องส่งเป็นกระดาษ เขาเรียกว่าเป็นอีเมลของประชาชนและบวก location มาให้ด้วยเลย
...โดยหากส่งของก็ส่งทางโลเกชัน แต่หากส่งเป็นเอกสารก็ส่งทาง อิเล็กทรอนิกส์เมล ทางบริษัทไปรษณีย์ไทยฯ ก็คิดจะทำอยู่ เพื่อให้การติดต่อทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้หมด ไม่ต้องใช้กระดาษ เป็น Eco-system เพื่อรองรับการเติบโตของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็น Digital Location ที่ทุกคนก็ต้องมีอีเมลที่สามารถติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำให้ต่อไปการทำธุรกรรมออนไลน์ การทำธุรกิจในโลกโซเชียลมีเดียก็จะครอบคลุม ซึ่งทุกฝ่ายกำลังผลักดันกันอยู่.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |