20 ปีสงครามอัฟกานิสถาน ชัยชนะของสหรัฐ


เพิ่มเพื่อน    

ภาพ : ข้อตกลงสันติภาพระหว่างสหรัฐกับตอลิบัน 2020

เครดิตภาพ : https://www.state.gov/wp-content/uploads/2020/02/Agreement-For-Bringing-Peace-to-Afghanistan-02.29.20.pdf

 ----------------------

      การถอนทหารและอพยพคนของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ บ้างว่ารัฐบาลสหรัฐไม่อาจทนจ่ายงบประมาณเพื่อรักษาอำนาจในประเทศนี้ บ้างว่าสหรัฐกำลังถอนตัวออกจากภูมิภาค บ้างว่ารัฐบาลไบเดนคิดผิดที่ถอนทหาร

                บทความนี้นำเสนอมุมมองในแง่การถอนทหารของสหรัฐคือชัยชนะ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

            ประการแรก ตอลิบันใหม่ที่ไม่เป็นภัยคุกคามดังเช่นอดีต

                กลุ่มตอลิบันประกาศชัดว่านโยบายยุคปี 2021 ของตนต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อน แม้จะยึดหลักศาสนา สถาปนารัฐอิสลามในนาม Islamic Emirate of Afghanistan แต่ตีกฎหมายชารีอะห์ (sharia) ต่างจากเดิม ประเด็นสิทธิสตรีเป็นกรณีตัวอย่าง

                แม้ตอลิบันยังแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อรัฐบาลสหรัฐ มองว่าเป็นผู้รุกรานนักล่าอาณานิคม แต่อาจไม่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์ที่เป็นเป้าหมายของสหรัฐดังเช่นอดีต ซึ่งหมายความว่าตอลิบันในปี 2021 นี้ไม่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐมากเช่นอดีต

                ความสำเร็จข้อนี้สำคัญที่สุด เป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกส่งกองทัพนับแสนบุกถล่มอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อน หลายประเทศแสดงท่าทีนี้ชัดเจน เช่น โจเซฟ ฟอนเทลส์ (Josep Fontelles) หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศอียูชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับอัฟกานิสถานใหม่ขึ้นกับการตั้งรัฐบาลใหม่โดยสันติ เคารพสิทธิมนุษยชนของชาวอัฟกันทั้งมวล ไม่เป็นที่ซ่องสุมกบดานของผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะผู้ก่อการร้ายที่มุ่งโจมตีผลประโยชน์ของชาติตะวันตกกับพันธมิตร

                อัฟกานิสถานมีภูมิศาสตร์เป็นภูเขาซับซ้อน เป็นแหล่งกบดานซ่องสุมกำลังได้เป็นอย่างดี แม้สหรัฐมีหน่วยรบพิเศษมีเทคโนโลยีสูงสามารถปราบปรามผู้ก่อการร้ายแม้อยู่ห่างไกล แต่จะเป็นการดีกว่าประหยัดกว่าหากมีใครสักกลุ่มควบคุมพวกสุดโต่งที่เหลือ (ให้พวกสุดโต่งจัดการด้วยกันเอง ไม่ต้องส่งกองทัพนับแสนไปรบอีก) ตอลิบันที่รัฐบาลสหรัฐเดิมเคยตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเป็นตัวเลือกที่ดี และได้ตกลงกันแล้วว่าตอลิบันจะไม่ปล่อยให้ใครใช้ประเทศนี้เป็นแหล่งซ่องสุมผู้ก่อการร้าย ไม่โจมตีผลประโยชน์สหรัฐ

                ข้อนี้จะทำสำเร็จได้มากน้อยเพียงไรเป็นเรื่องน่าติดตาม

            ประการที่ 2 ปรับนโยบายเพื่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก

                ตอลิบันประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ สัมพันธ์กับนานาชาติ เพื่อเศรษฐกิจที่ประชาชนอยู่ดีกินดี คนอัฟกันต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตอลิบันจะส่งเสริมการค้าการลงทุนทั่วประเทศ ข้อมูลของธนาคารโลกเมื่อปี 2019 ระบุว่า งบประมาณ 75% ของรัฐบาลมาจากความช่วยเหลือของต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐ

                ไม่ว่าจะเพื่อการพัฒนาประเทศหรือค่าใช้จ่ายพื้นฐานของรัฐ ตอลิบันจะต้องปรับความสัมพันธ์กับนานาชาติ เปิดประเทศต้อนรับการค้าการลงทุน หากเป็นเช่นนี้จริงตอลิบันจะไม่ยึดแนวทางสุดโต่งเป็นที่พอใจของนานาชาติ ทุกวันนี้บางประเทศอย่างอิหร่าน เกาหลีเหนือ เป็นตัวอย่างที่ถูกนานาชาติกดดันปิดล้อม ตอลิบันยุคใหม่คงเข้าใจประเด็นนี้ดีและไม่เลือกเดินตามทาง 2 ประเทศนั้น ประชาคมโลกกำลังจับตาดูอยู่

                ตอลิบันที่ไม่สุดโต่งสัมพันธ์ดีกับประชาคมโลกแม้ต่างศาสนานิกายคืออีกชัยชนะของสหรัฐและโลก

            ประการที่ 3 การถอนทัพไม่ใช่เพราะแพ้เสมอไป

                บางคนยกประวัติศาสตร์ว่ามหาอำนาจในอดีตกับปัจจุบันต่างไม่สามารถยึดครองอัฟกานิสถานถาวร เช่น สมัยอาณาจักรเปอร์เซีย สมัยอเล็กซานเดอร์มหาราช จักรวรรดิอังกฤษ โซเวียตรัสเซียและล่าสุดคือสหรัฐ แต่การยึดครองครอบงำต้องพิจารณาเป้าหมาย ผลประโยชน์ที่ได้คุ้มค่า รวมทั้งบริบทอื่นๆ ด้วย หากผลประโยชน์ที่ได้จากอาณานิคมน้อยกว่ารายจ่ายที่ต้องเสียไป เช่นนี้ย่อมไม่ใช่การลงทุนที่ดี

                20 ปีก่อนกองทัพสหรัฐกับพวกสามารถล้มรัฐบาลตอลิบัน ไล่ล่าพวกอัลกออิดะห์ แต่ความจริงแล้วทหารอเมริกันกับพวกยึดครองพื้นที่บางส่วนเท่านั้น พื้นที่หลักคือเมืองหลวง เมืองสำคัญและบางพื้นที่ที่อิทธิพลไปถึง (กับท้องถิ่นที่ต่อต้านตอลิบัน) แม้ทหารสหรัฐกับทหารอัฟกันจะออกปฏิบัติการในบางพื้นที่เป็นระยะๆ แต่ไม่ได้ครอบครองจริง ยิ่งในระยะหลังพื้นที่อิทธิพลลดน้อยลงเมื่อสหรัฐพยายามลดปฏิบัติการทางทหารบนภาคพื้นดิน ปลายปี 2019 ฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานกล่าวว่า ทุกวันนี้พื้นที่กว่าครึ่งของประเทศยังอยู่ใต้การปกครองของพวกตอลิบัน ถ้ายึดตามขนาดพื้นที่ ตอลิบันในวันนี้เป็นผู้ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่

                เรื่องนี้เป็นอีกหลักฐานว่ารัฐบาลสหรัฐไม่คิดยึดครองอัฟกานิสถานตั้งแต่ต้น ได้แต่เป็นฐานปฏิบัติการกวาดล้างอัลกออิดะห์ เกิดรัฐบาลประชาธิปไตย

                ในช่วงสงครามดุเดือด สหรัฐกับพวกมีทหารในอัฟกานิสถานกว่าแสนนาย เมื่อการสู้รบซาลงรัฐบาลสหรัฐเริ่มถอนทหาร เมื่อเข้าสู่รัฐบาลโอบามาประกาศนโยบายถอนทหาร ปี 2014 เกิดข้อตกลง Bilateral Security Agreement (BSA) สหรัฐจะคงทหารในอัฟกานิสถาน 9,800 นาย โดยจะไม่ส่งทหารราบปะทะกับศัตรูซึ่งหน้า (เช่นเดียวกับทหารนาโตอื่นๆ ที่ประจำการอยู่)

                การสังหารนายอุซามะห์ บิน ลาดิน หรือโอซามา บิน ลาเดน (Osama Bin Laden) ผู้นำอัลกออิดะห์ ที่รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นอีกเหตุผลของการถอนทหาร รัฐบาลโอบามาประกาศความสำเร็จในสงครามอัฟกานิสถาน แม้เป็นผลในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า

                กุมภาพันธ์ 2020 รัฐบาลทรัมป์กับตอลิบันบรรลุข้อตกลงหยุดยิง ระงับความรุนแรงระหว่างกันและเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพ สหรัฐจะถอนกำลังออกจากประเทศทั้งหมดภายใน 14 เดือน (ในขั้นแรกจะลดเหลือ 8,600 นาย จากจำนวน 13,000 นาย) ตอลิบันต้องไม่ปล่อยให้อัลกออิดะห์หรือกลุ่มอื่นๆ ใช้ประเทศเป็นฐานปฏิบัติการ ส่วนอนาคตของอัฟกานิสถานเป็นเรื่องที่คนอัฟกันต้องตัดสินใจเอง

                หลักฐานมากมายชี้ว่าสหรัฐต้องการถอนทหารมานานแล้วและดำเนินการเรื่อยมา ไม่คิดคงทหารเพื่อยึดครอง รัฐบาลไบเดนคือรัฐบาลที่ต่อจากบุช โอบามาและทรัมป์ที่ทยอยถอนทหาร มาจบที่ไบเดนกินเวลาเกือบ 20 ปี การถอนทัพหลังเสร็จภารกิจเป็นเรื่องปกติทุกประเทศทำเช่นนี้

            ประการที่ 4 ทำสงครามเพื่อความเป็นอภิมหาอำนาจ

ถ้ามองในกรอบกว้างกว่าอัฟกานิสถาน นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าสงครามอัฟกานิสถานเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “สร้างศัตรู” ตัวใหม่ของสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสหวาดกลัวมุสลิม (Islamophobia) ที่เกิดขึ้นหลังเหตุก่อการร้ายเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยา 2001

James O. Ellis III วิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่าภัยก่อการร้าย (เน้นให้ชัดคือผู้ก่อการร้ายมุสลิม) กลายเป็นภัยคุกคามใหม่แทนที่คอมมิวนิสต์ เหตุ 9/11 คือจุดเริ่มต้น นับจากบัดนั้นเป็นต้นมาสงครามต่อต้านก่อการร้ายกลายเป็นสงครามหลักของสหรัฐ

                ในช่วงนั้น รัฐบาลสหรัฐประกาศให้นานาชาติเลือกข้างว่าจะสนับสนุนก่อการร้ายหรือต่อต้านก่อการร้าย เรื่องนี้เท่ากับสหรัฐกระชับความเป็นอภิมหาอำนาจของตน อัฟกานิสถานเป็นแพะที่จะต้องถูกรุกรานทำลาย

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

                สงครามอัฟกานิสถานที่ยาวนาน 20 ปี สร้างความสูญเสียมากมาย มีข้อมูลว่าฝ่ายทหารอเมริกันเสียชีวิต 2,443 นาย ส่วนคนอัฟกันเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 114,000 ราย ประธานาธิบดีการ์ไซกล่าวเมื่อปี 2014 อย่างน่าคิดว่า “ชาวอัฟกันต้องตายในสงครามที่ไม่ใช่ของเรา” การทำสงครามในอัฟกานิสถานมี “เพื่อความมั่นคงของสหรัฐและเพื่อผลประโยชน์ของชาติตะวันตก” คำพูดนี้น่าจะเป็นข้อสรุปที่ดี บัดนี้กองทัพสหรัฐกับพวกถอนตัวเพราะบรรลุภารกิจ ทั้งนี้ทั้งนั้น สหรัฐไม่ได้ชนะทั้งหมด มีที่ไม่เป็นไปตามหวังเช่นกัน เรื่องราวของอัฟกานิสถานเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเทศนี้อีก การเป็นมหาอำนาจยังเป็นเป้าหมายหลักที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นผลประโยชน์สำคัญยิ่งของอเมริกัน นี่คือข้อที่ต้องระลึกถึงเสมอ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"