คสช.จะเป็นกบฏ?
ในหมู่คนที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว กำลังลุ้นว่า วันที่ ๒๒ มิถุนายนนี้ ศาลฎีกาจะชี้คดี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นกบฏหรือไม่
คสช.นำโดย ลุงตู่ ลุงป้อม จะติดคุกตอนแก่หรือเปล่า
ไปกันใหญ่!
ฟังความกันมาอย่างไรไม่ทราบได้ ผิดเพี้ยนไปเสียหมด บางคนเป็นถึงดอกเตอร์ เป็นนักเขียน นักกฎหมาย นักการเมือง นักฯลฯ อ่านหนังสือไม่แตก
แต่ไปประโคมในโลกออนไลน์มานานนับเดือนว่า....
ถ้าวันที่ ๒๒ มิถุนายนนี้ บรรดาแกนนำ คสช.ไม่ติดคุก ไม่ถูกพิพากษาว่าเป็นกบฏ เท่ากับความยุติธรรมสองมาตรฐานบังเกิดขึ้นมาอีกครั้งแล้ว
ถึงขั้นด่าศาลฎีกาล่วงหน้าก็มีให้เห็น
สงสัยใช่มั้ยครับว่ามันคดีอะไร
คดีนี้เปิดฉากตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘
กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ "พ่อน้องเฌอ"
"น้องเฌอ" คือใคร?....คือ สมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กหนุ่มวัย ๑๗ เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมทางการเมืองที่ราชประสงค์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ จากกระสุนปริศนา!
"พ่อน้องเฌอ" กับพวก ๑๕ คน ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก เอาผิดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อีก ๔ คน
ประกอบด้วย พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย,
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว
และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร
ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
คำฟ้องบรรยายพฤติการณ์ว่า....
"...ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๔ พ.ค.๒๕๕๗ จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๕ ให้สิ้นสุดลง
ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช.หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง ๑๕ คนได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๑๓ และ ๑๑๔..."
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ในคำพิพากษาระบุเอาไว้ว่า
แม้การยึดอำนาจไม่เป็นประชาธิปไตย แต่มาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนั้นใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ บัญญัติยกเว้นความผิดไว้แก่ คสช.
มาตรา ๔๘ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ กำหนดไว้ว่าอย่างไร?
"...บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติรวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง..."
ต่อมาวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น
บรรยายฟ้องว่า...
“ขอให้ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบห้าไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๒ เมื่อโจทก์ทั้งสิบห้ายื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง แล้ววินิจฉัยไปตามรูปคดี ไม่ใช่ปฏิเสธการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรมและไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ได้ใช้สิทธิทางศาลที่จะพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นนำเอาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยอาชญากร ซึ่งก่ออาชญากรรมต่อรัฐและประชาชนมายกเว้นการรับผิดให้กับจำเลยทั้ง ๕ คน โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจในการไต่สวน เหตุมาตรา ๔๘ ถูกประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ระบุการกระทำใดๆ ของ คสช.ย่อมถูกต้องตามกฎหมาย
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ กลุ่มพลเมืองโต้กลับยื่นฎีกา มีสาระสำคัญ อาทิ
....มาตรา ๔๗ และ ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีสภาพเป็นกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อเสียงแห่งมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษยชาติอย่างชัดแจ้ง อันมีผลทางให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นกฎหมายแต่อย่างใด และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานทั่วไปของระบบกฎหมายที่ว่า "บุคคลหาอาจถือเอาประโยชน์จากความฉ้อฉลที่ตนได้ก่อขึ้น หาอาจเรียกร้องใดบนความอยุติธรรมของตน หาได้รับยกเว้นความรับผิดจากอาชญากรรมของตัวเองได้" การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่อาจจะพ้นจากความรับผิดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ กำหนดไว้ได้...."
....กลุ่มพลเมืองโต้กลับโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อความที่ว่า "วัตถุประสงค์ของการไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก็เพื่อให้ศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานของโจทก์ในเบื้องต้นว่า โจทก์มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยในชั้นพิจารณาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดีในชั้นตรวจรับฟ้องนั้น หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องเพื่อวินิจฉัยมูลคดีก่อนประทับฟ้อง"....
...โจทก์ทั้งสิบห้าขอเรียนต่อศาลว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการร่วมกันใช้กำลังบังคับให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศอันมิใช่วิถีทางตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดไว้ อันถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ และมาตรา ๑๑๔...การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพิกเฉยต่อการย่ำยีระบบกฎหมายของจำเลยทั้งห้ากับพวก ย่อมเป็นการรองรับและนับเอากระบวนการรัฐประหารอันผิดต่อกฎหมายให้กลายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่คณะรัฐประหารกำลังทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ประหนึ่งดั่งไฟที่กำลังลามทุ่งจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและขัดแย้งทุกย่อมหญ้า คงมีเพียงอำนาจของศาลฎีกาเท่านั้นในฐานะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่จะช่วยผดุงความยุติธรรมตรวจสอบการใช้อำนาจ ถ่วงดุล และคานอำนาจของคณะรัฐประหารได้ ทั้งนี้หากกลไกในกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปด้วยความยุติธรรม นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ สังคมย่อมตระหนักว่ากระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการยังคงเป็นเสาหลักอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริงโดยปราศจากอคติ อีกทั้งยังป้องกันมิให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่างในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชนและดำรงตนอยู่เหนือกฎหมาย และเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยดั่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"...
ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาวันที่ ๒๒ มิถุนายนที่จะถึงนี้
แต่มีประเด็นไปไกลกว่าที่คิด อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง อารมณ์ค้างทั้งหลาย ชักจูงมวลชนไปไกล ว่า ๒๒ มิถุนายนนี้ ชี้ชะตา คสช.ติดคุกหรือไม่?
ทั้งที่ความจริงแล้วคำพิพากษาในวันที่ ๒๒ มิถุนายนนี้ ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร กระบวนการฟ้องร้องในข้อหากบฏนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น
เพราะนับแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ สิ่งที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับนำขึ้นศาล เป็นเพียงกระบวนการต่อสู้เพื่อร้องขอให้ศาลรับคดีไว้พิจารณา
ก็สู้เรื่อยมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และกำลังจะฎีกา
หากศาลฎีกาพิพากษายืน คดีนี้ก็ปิดฉาก
เป็นการปิดฉากในศาล แต่นอกศาลน่าจะไม่จบ ไม่จบอย่างไรเดี๋ยวมาว่ากัน
แต่หากศาลชี้ว่าให้ศาลชั้นต้นพิจารณา นั่นจะนำไปสู่กระบวนการไต่สวนในคดีกบฏ "บิ๊กตู่" และบรรดา คสช.ทั้งหลายจะติดคุกหรือไม่ ก็จะได้รู้ตามกระบวนการนี้
ที่บอกว่านอกศาลไม่จบเพราะจะมีการนำคำพิพากษาของศาลชั้นต้นบางส่วนไปใช้ประโยชน์
"การยึดอำนาจไม่เป็นประชาธิปไตย" ประโยคนี้จะถูกนำไปขยายความ
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การรัฐประหาร คือการยึดอำนาจไม่ว่ายึดจากรัฐบาลประชาธิปไตย หรือยึดจากรัฐบาลเผด็จการ ล้วนเรียกว่ารัฐประหาร
และใช้วิธีที่เรียกว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น
แต่เมื่อประเทศมีกฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ การที่ศาลจะวินิจฉัยคดีโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สามารถอธิบายด้วยหลักกฎหมาย
อธิบายได้เพียงหลักกู
หลักที่กูอยากให้เป็นเท่านั้น
อันที่จริงประเด็นนี้มีการพูดถึงแทบทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร หรือทุกครั้งที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เคยมีเสียงเรียกร้องให้บัญญัติไว้ว่า การทำรัฐประหารเป็นกบฏแผ่นดินมีโทษหนัก
แต่...มีคำถามว่า เมื่อทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ที่บัญญัติเอาไว้ก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด
อีกทั้งทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร ก็มีการเขียนนิรโทษกรรมเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถัดไป
มีคำถามว่า หากจะต่อต้านรัฐประหารกันจริงๆ ควรทำอย่างไรที่จะไม่เปิดช่องให้ทหารยึดอำนาจ ที่สำคัญทำอย่างไรไม่ให้การยึดอำนาจนั้นได้รับการยอมรับจากประชาชน
ก็ต้องย้อนกลับไปที่ประชาชนเป็นลำดับแรก
ในวันที่มวลชนออกมาประท้วงเรียกร้องให้อำนาจกลับไปอยู่ในมือทักษิณ วันนั้นประชาชนคิดอย่างไร เหตุใดไปจบที่การเผาบ้านเผาเมือง
เคยคิดหรือไม่ว่าถ้าประชาชนไม่สนับสนุนการเมืองขี้โกงอย่างระบอบทักษิณ ก็ยากที่จะเกิดการรัฐประหาร
เคยคิดหรือไม่ว่าถ้ารัฐบาลเป็นของประชาชน ทำเพื่อประชาชนจริงๆ การรัฐประหารไม่มีทางได้รับการยอมรับจากประชาชน
นั่นอธิบายได้ว่าทำไมรัฐประหารปี ๒๕๓๔ ถึงนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์ที่ประชาชนทุกฝ่ายลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการทหาร
กลุ่มที่บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เคยหันกลับมาวิเคราะห์หรือไม่ว่า ทำไมรัฐประหารคสช.ถึงได้รับการยอมรับมากกว่า ทั้งๆ ที่ทำลายหลักประชาธิปไตยเหมือนกัน
อย่าเอาแต่เพ้อเจ้อว่าไม่มีใครเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยมากไปกว่าตัวเอง สถาปนาตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่บูชาคนโกง
ฝากเป็นข้อคิด ถ้าประชาชนไม่ยอมรับรัฐบาลคอร์รัปชันมากพอๆ กับชิงชังรัฐบาลรัฐประหาร
ประชาธิปไตยไทยเดินไปไกลโขแล้ว.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |