3ก.ย.64-ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
#เรื่องร้ายแรงที่สุด ของพลเอกประยุทธ์
7 ปีผ่านไป ประเทศไทยได้ระบบที่ #นายกรัฐมนตรีไม่ถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน
การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา โดนข้อกล่าวหามากมายอย่างที่แทบไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนเคยเจอมาก่อน แต่เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าจะร้ายแรงที่สุด แล้วอาจจะยังไม่ได้มีการพูดถึงมากนักในการอภิปรายครั้งนี้ คือเรื่อง #การทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และ #ความโปร่งใสของระบบการเมืองของประเทศ ครับ
ที่ชัดเจนที่สุดคือ การที่ ปปช.ไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประยุทธ์ตอนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งที่สองหลังการเลือกตั้งในปี 2562 โดยประธาน ปปช. ชี้แจงว่า เพราะกฎหมาย ปปช. ฉบับใหม่ไม่ได้ให้อำนาจ ปปช.ไปตรวจสอบ
ทีแรกผมสงสัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ปปช. พ.ศ.2561 ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบโดย สนช. ที่เลือกมาโดยพลเอกประยุทธ์ จะเขียนชัดเขียนไว้ชัดเจนอย่างนั้นเชียวหรือ เพราะดูจะน่าเกลียดเกินไป ผมจึงไปเปิดดูแล้วก็พบว่า เขียนไว้ให้ ปปช.ไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประยุทธ์ไม่ได้จริงๆ ครับ
โดยมาตรา 105 วรรคสี่ กำหนดว่า ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดพ้นตำแหน่ง แต่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรง “ตำแหน่งเดิม” หรือ “ตำแหน่งใหม่” ภายในหนี่งเดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยมีประโยคปิดท้ายว่า “แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน” คือไม่บังคับให้ยื่น แต่ถ้าอยากยื่นก็ยื่นได้ ว่าง่ายๆ คือขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้นั้นว่าอยากจะยื่นหรือไม่ ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายที่ดูจะเอาใจผู้มีอำนาจจนน่าเกลียด
นี่เองทำให้ ปปช.ไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินพลเอกประยุทธ์ตอนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง รวมถึงรัฐมนตรีอีกบางคน และ ส.ว.จำนวนมากที่เป็น สนช. ไม่ได้ครับ
โดยหลักความโปร่งใส และหลักการที่ผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องถูกตรวจสอบได้นั้น ใครยิ่งอยู่นาน ยิ่งเป็นหลายสมัย ยิ่งต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แต่ภายใต้กฎหมาย ปปช. ฉบับใหม่กลับตรงกันข้าม เพราะยิ่งเป็นต่อ ยิ่งเป็นหลายสมัยยิ่งตรวจสอบไม่ได้ นี่จึงทำให้ผมใช้คำว่าน่าประหลาด เพราะนอกจากจะตรงข้ามกับหลักการ แล้วยังเขียนไว้ตรงๆ แบบไม่ค่อยเกรงใจประชาชนเลย
แต่แม้ว่าจะไม่ได้บังคับให้ยื่นบัญชีทรัพย์ แต่ถ้าจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐานก็ยื่นได้ ซึ่งเท่าที่เราทราบกันคือพลเอกประยุทธ์ก็ได้ยื่นให้ ปปช.แล้ว และก็มีคนไปขอคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารให้สั่ง ปปช.ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินพลเอกประยุทธ์ ซึ่งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเห็นว่าเป็นข้อมูลสาธารณะ เมื่อสมัครใจยื่นมาแล้ว มีคนขอดูก็ควรเปิดให้ดูได้ แต่ ปปช. ก็ไม่ยอมเปิดเผยโดยประธาน ปปช.อ้างว่าไม่มีอำนาจ
ซึ่งอันนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะองค์กรอิสระทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญ 2540 สถาปนาขึ้นมาให้มาตรวจสอบรัฐบาล ตอนนี้ก็กลายเป็นองค์กรที่ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าเป็นอิสระ เพราะล้วนแต่มีที่มาที่ยึดโยงกับพลเอกประยุทธ์ คือมาจาก สนช. และ ส.ว.ที่พลเอกประยุทธ์เลือกไว้ทั้งสิ้น
ไม่ต้องพูดถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้นทางคือตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ปราบปราม จับกุม และตั้งข้อหา ที่อยู่ใต้อำนาจนายกรัฐมนตรีตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติ โดย 7 ปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไม่ยอมแก้ไขหรือปฏิรูปอะไรเลย
ที่เมื่อ 7 ปีที่แล้วพูดกันว่าจะต้อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” จนทำให้พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจได้ และมีอำนาจมาจนทุกวันนี้ น่าจะสรุปกันได้เสียทีแล้วว่าเหลว แล้วยิ่งจะอยู่นานไปทั้งการเมืองและบ้านเมืองดูท่าจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่
7 ที่แล้วมีการพูดว่า ชัตดาวน์กรุงเทพเพื่อจะรีสตาร์ทประเทศไทย ผมว่าตอนนี้ถ้าจะรีสตาร์ทประเทศไทยที่เสียหายมา 7 ปีแล้ว จะยืมคำ 7 ปีที่แล้วมาใช้ว่า ต้องชัตดาวน์พลเอกประยุทธ์ ก็ดูก็จะแรงเกินไป จึงขอใช้คำว่า ชัตดาวน์ คสช. คือปิดสวิทช์ คสช.ให้จบไป ทั้งนี้ในวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญนะครับ ประเทศไทยและประชาธิปไตยจะได้ฟื้นตัวเสียที
ในการลงมติหลังการอภิปรายครั้งนี้ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรไม่ว่าจะสังกัดพรรคไหนก็สามารถช่วยกันปิดสวิตช์ คสช.ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นการก้าวข้ามพลเอกประยุทธ์ก็ได้ เพื่อประเทศไทยจะได้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ครับ
#อภิปรายไม่ไว้วางใจ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |