ปลุกผีนิรโทษกรรม! 'เอนก'ชูร่วมมือเพื่อไทย เลือกตั้ง'ท้องถิ่น'ส่อยาว


เพิ่มเพื่อน    

    "เอนก" ฟันธงสมัยหน้าเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค เปิดช่องรัฐบาลแห่งชาติพร้อมจับมือเพื่อไทยหนุนนิรโทษกรรมสร้างปรองดอง อ้างสถานการณ์ทำให้ต้องร่วมกับทุกฝ่าย เปรียบ "ทรัมป์-คิม" ยังคืนดีกันได้ "พท.ขอฉันทามติ 8 เดือนโรดแมปต้องชัดเจน"  กฤษฎีกาส่งร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นให้ กกต.รับฟังความเห็นแล้ว คาดประกาศใช้ปลายปี ส่อเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นหลังระดับชาติช่วงเดือน พ.ค.62 "วิษณุ" โบ้ยอยู่นอกเหนือการควบคุม 
    เมื่อวันอาทิตย์ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ให้สัมภาษณ์ ว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้าภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ จะมีพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงเข้าไปในสภาหลายพรรค กระจัดกระจายไม่ต่ำกว่า 10 พรรค จึงเป็นโอกาสของทุกพรรคที่จะมีโอกาสได้เข้าไปทำงาน จึงเชื่อว่ารัฐบาลในสมัยหน้าจะต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และไม่มีทางที่พรรคการเมืองเดียวจะตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติ เพราะการเลือกตั้งแบบนี้ไม่มีพรรคใดได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงต้องพยายามประนีประนอมรอมชอมรวบรวมเก้าอี้ให้ได้มากที่สุด 
    ส่วนที่เคยมีแกนนำ กปปส.ประกาศว่าจะไม่ร่วมกับระบอบทักษิณ นายเอนกย้อนถามว่า ระบอบทักษิณหมายถึงอะไร หากหมายถึงอะไรที่ผิดกฎหมายไม่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องเรียกชื่อว่าเป็นระบอบอะไรก็ไม่สามารถทำงานด้วยได้ แต่หากกับพรรคเพื่อไทยที่ตั้งต้น ณ เวลานี้ ยังไม่ได้ทำอะไรที่ผิดพลาดเลย ก็ไม่ถือว่าเป็นศัตรูโดยกำเนิด และจะต้องดูท่าทีกันต่อไป ทั้งนี้ ไม่ควรผูกใจเจ็บเป็นศัตรูกันเหมือนกรณีเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ เพราะสุดท้าย ณ วันหนึ่งจำเป็นที่จะต้องลืมและให้อภัยกัน แต่ย้ำว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมาย 
    “พร้อมทำงานกับทุกฝ่ายมากที่สุด เพราะสถานการณ์ทำให้เราต้องทำอย่างนั้น มันเหมือนถ้วยกระเบื้องที่แตกร้าว ถ้าเราพูดว่าพยายามเอาถ้วยที่แตกร้าวมาต่อให้เป็นถ้วยเดิมคงไม่ผิด แต่เวลาต่อ บางชิ้นอาจจะไม่เอา บางชิ้นอาจต้องเอาของใหม่มา ต้องไปดู ณ จุดเกิดเหตุ" นายเอนกกล่าว
    นายเอนกยอมรับว่าเป็นไปได้ที่จะมีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเชื่อว่าทุกคนล้วนแต่ต้องการให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกที่ในประเทศจะมีการแบ่งกันเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย   
    “ทำได้ทั้งนั้น คอมมิวนิสต์ในป่ายังเอามาเป็นพวกได้ แล้วนี่หนักหนาอะไรกัน ทำไมต้องแข็งกันอย่างนี้ ขนาดเกาหลีเหนือเกาหลีใต้รบกันจนคนตายฝ่ายละล้าน ยังคืนดีกันได้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กับนายคิม จองอึน ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือยังคืนดีกันได้ ขนาดมีการฆ่ากันตายฝ่ายละหลายแสนคน ทำไมถึงคิดกันไม่ออก ส่วนคนที่สูญเสีย ก็ต้องเยียวยากันไป แต่จะมาบอกว่าไม่ให้ลืม แล้วทุกคนต้องฆ่ากันต่อไป ก็ไม่เป็นธรรมอีก” นายเอนกกล่าว 
     สำหรับกรณีที่มีเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกนั้น นายเอนก กล่าวว่า เป็นสิทธิของคนที่สนับสนุน ในส่วนของพรรคยังไม่ชัดว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ บัญชีรายชื่อ เพราะยังไม่เห็นอะไร และยังไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยอมลงสมัครหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ และส่วนตัวก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรค หากจำเป็นก็ต้องทำให้ได้
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องเชื่อว่าการเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลประกาศไว้ เพราะยังไม่มีอย่างอื่นที่ทำให้โรดแมปต้องเคลื่อน ส่วนความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาตินั้น เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วจะมีปัญหาหลังเลือกตั้ง คือการตั้งรัฐบาลไม่ได้สูตรรัฐบาลก็ไม่รู้จะเอาใครผสมกับใครก็มีปัญหาทั้งนั้น ส่วนรัฐบาลแห่งชาติไม่น่าเกิดขึ้น เพียงแต่เราไม่รู้จะเอาพรรคไหนรวมกับพรรคไหน ส่วนทางออกควรจะเป็นอย่างไรนั้น คงพูดไม่ได้ แต่คอยดูก็แล้วกันว่าตั้งรัฐบาลยาก
    ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวถึงกรณีหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งจะรวบรวมเสียง ส.ส.และ ส.ว.ให้ได้ 376 เสียง เพื่อทำประชามติจัดตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยฉีกรัฐธรรมนูญปัจจุบันทิ้งไป เพราะเป็นผลพวงของเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย ว่าผู้พูดควรชี้ให้ชัดว่าบทบัญญัติใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยควรแก้ไข ด้วยเหตุใด การพูดแบบนี้เป็นการเหมารวมเข่งอย่างไม่ยุติธรรมต่อประชาชน 16.8 ล้านคนที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และถ้าเกิดฉีกได้แล้วร่างได้ขึ้นมาจริงๆ คิดหรือว่าจะไม่มีคนอื่นมาฉีกใหม่มาร่างใหม่อีก
พท.ขอฉันทามติ 8 เดือน
      นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีหลายพรรคการเมืองกังวลเรื่องระบบไพรมารีโหวตว่า การเลือกตั้งขั้นต้นที่เรียกว่าไพรมารีเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูปพรรคการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตย โดยการเพิ่มสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกพรรคให้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. เพื่อให้สมาชิกพรรคมีความเป็นเจ้าของพรรคและ ส.ส.ของพรรคมากขึ้น ยังเป็นการช่วยให้พรรคการเมืองพ้นจากการถูกครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์และนักการเมืองกังฉิน หากต้องการปฏิรูปการเมืองให้บังเกิดผล ต้องเริ่มจากระบบไพรมารี หวังว่าพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่จะช่วยกันขับเคลื่อนระบบไพรมารีในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้จะยากและต้องสละอำนาจของผู้บริหารพรรคหรือกลุ่มผลประโยชน์ให้กับสมาชิกพรรคก็ต้องทำ 
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงที่ประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งเสนอ 3 ทางออก ให้ใช้ พ.ร.บ., พ.ร.ก. และ ม.44 แก้ปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ว่า ความจริงว่าปัญหานี้มีจุดกำเนิดมาจาก คสช.ทั้งสิ้นถ้า คสช.ตัดสินใจแก้ปัญหาถูกวิธี ก็มีโอกาสที่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมป แต่ถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกวิธี ก็มีโอกาสที่ปัญหาจะบานปลายออกไปกลายเป็นวัวพันหลักจนยากต่อการแก้ไข และอาจสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก การหาทางออกเพื่อให้มีการเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ.2562 จึงเป็นความรับผิดชอบของ คสช.โดยตรง ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมเข้าร่วมประชุมกับรัฐบาล คสช. เพราะการพบปะพูดคุยกันจะสามารถสร้างความเข้าใจก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการหันหลังให้กัน 
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงผลการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้ง โดยเตรียมเสนอ 4 ประเด็นปัญหาให้นายกฯ และ คสช.หาทางออกว่า จนถึงขณะนี้ประชาชนก็ยังต้องพิสูจน์ความจริงใจในการนำพาประเทศกลับเข้าสู่การเลือกตั้งของรัฐบาล คสช.ต่อไป การที่ยังไม่ยอมปลดล็อก และพยายามสร้างเงื่อนไขใหม่ที่จะทำให้พรรคการเมืองขยับไม่ได้นั้น เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองหรือไม่ ถ้ารัฐบาล คสช.มั่นใจว่ามีผลงาน กลัวอะไรกับการไปให้ประชาชนตัดสินที่คูหาเลือกตั้ง ช่วงเวลาที่เหลือควรจะเป็นช่วงเวลาของการสร้างความชัดเจนที่จะนำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง
     นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อปักหมุดการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.ปีหน้า ซึ่งเหลือเวลา 8 เดือน ประเทศควรต้องมีเป้าหมายร่วมกัน เราต้องเอาประเทศเป็นตัวตั้ง สร้างความชัดเจนแน่นอนและให้เป็นฉันทามติร่วมกัน ผู้มีอำนาจต้องป้องกันไม่ให้ 8 เดือนก่อนเลือกตั้งเป็น 8 เดือนที่คลุมเครือ ขอเสนอ 5 ทางออก 1.เร่งทำให้บ้านเมืองมีความเป็นปกติ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งต้นปีหน้า 2.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำหน้าที่ของตนได้ 3.ยกเลิกคำสั่งที่ 3/58 ให้คนมีเสรีภาพชุมนุมทางการเมืองได้ 4.ยกเลิกคำสั่งที่ 53/60 เพื่อให้พรรคการเมืองทำหน้าที่และดำเนินการต่างๆ ตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ 5. สร้างฉันทามติว่าการเลือกตั้งต้นปีหน้าจะต้องเสรี เป็นธรรม มีความน่าเชื่อถือ ต้องไม่มีการเอาเปรียบทางการเมือง และสร้างความเสียเปรียบให้ฝ่ายใด และควรมีการประกาศว่าจะไม่ใช้อำนาจตาม ม.44 ที่จะกระทบการเลือกตั้ง 
เลือกตั้งท้องถิ่น พ.ค.62
     วันเดียวกัน เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … ซึ่งเป็นร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้ว และส่งให้ กกต.รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีทั้งหมด 141 มาตรา ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นประมาณ 30 วัน และหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ กกต.จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง และคาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม จะสามารถส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป 
    โดยในขั้นตอนนี้ สนช.มีกรอบเวลาในการพิจารณา 60 วัน ก่อนจะทำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งจะมีกรอบเวลาอีก 90 วัน ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่า พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะประกาศใช้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2561 แต่จะยังไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เพราะระยะเวลากระชั้นชิดกับการเลือกตั้ง ส.ส. ตามโรดแมปที่รัฐบาลประกาศไว้ และ กกต.ได้เสนอว่า การเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นควรมีการเว้นระยะห่างกันประมาณ 3 เดือน 
    "ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 โดยจะมีการเลือกตั้งก่อน 3 ส่วน คือ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด 77 จังหวัด ขณะที่องค์กรบริหารส่วนตำบลและเทศบาล จะต้องมีกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน"
    สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แต่มีส่วนที่ปรับแก้ตามข้อเสนอของ กกต. เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาทิ การกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง การกำหนดให้ กกต.สามารถประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อน และสามารถสืบสวนหรือวินิจฉัย เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือกรณีเห็นว่าในการจัดเลือกตั้งมีการกระทำการไปในทางที่อาจเกิดความเสียหายแก่การจัดเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต.หรือกรรมการ กกต.อาจมีคำสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เห็นสมควร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร หากมีการใช้จ่ายเกินค่าใช้จ่ายที่กำหนด กกต.สามารถยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นได้ 
    นอกจากนั้น ในการหาเสียงยังห้ามทำการโฆษณาด้วยการจัดมหรสพรื่นเริงต่างๆ ขณะเดียวกัน หากผู้บริหารหรือสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอนุมัติโครงการที่มีลักษณะจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายใน 90 วัน ก่อนครบวาระหรือก่อนลาออก ให้ถือว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อห้าม เว้นแต่โครงการลักษณะบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ และการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการและทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุในการออกเสียง ภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการประจำหน่วย 
    นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขที่น่าสนใจ อาทิ กรณีการหาเสียงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หากฝ่าฝืนหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของ กกต. ให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ไขหรือลบข้อมูลได้ทันที หรือในกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครแล้ว เป็นเหตุให้ต้องเลือกตั้งใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้ผู้นั้นจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่ ตามประมาณการที่ กกต.แถลงต่อศาล หรือกรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งโดยได้คะแนนมากกว่าคะแนนเสียงที่เลือกผู้ใด ให้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่ผู้สมัครรายเดิมไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
    ขณะที่บทกำหนดโทษ อาทิ การทำเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครคนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และหากเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยทำต่อ กกต.เป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และหากการกระทำดังกล่าวหัวหน้าพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุน ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังให้ กกต.มีอำนาจกันบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้เป็นพยาน และไม่ดำเนินคดีก็ได้ เป็นต้น
นอกเหนือการควบคุม
    นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จไปแล้ว 1 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ซึ่งทั้ง กกต.และคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังรับฟังความเห็นอยู่ ส่วนที่เหลืออีก 5 ฉบับ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ร่างเอาไว้นานแล้ว ขณะนี้กำลังเอามาดูอีกรอบ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยและ กกต.ได้เสนอเพิ่มเติมมานิดหน่อย เป็นเรื่องคุณสมบัติต่างๆ รวมทั้งจะสอบถามความเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอามาปรับให้ตรงและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวและคาดการณ์ว่าเลือกตั้งท้องถิ่นได้ในเดือน พ.ค.62 ว่า ตนไม่มีความเห็น เพราะว่าข้อเท็จจริงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมีจำนวน 6 ฉบับ และจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณา สนช.พร้อมกันทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งขณะนี้บางฉบับยังไม่เสร็จ ส่วนที่ กกต.นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เสร็จแล้วไปรับฟังความเห็นก่อนสามารถทำได้ เพื่อเป็นการทุ่นเวลา
    ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลบอกจะจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ นายวิษณุ กล่าวว่า เดิมเราคิดกันไว้อย่างนั้น แต่ทีนี้จะเสร็จหรือไม่ มันอยู่นอกเหนือการควบคุม ขณะนี้เข้าใจว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอยู่ ซึ่งหากฉบับใดเสร็จแล้วสามารถนำไปทยอยรับฟังความคิดเห็นได้ก่อน และไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ส่ง สนช.พิจารณาได้ในเดือนไหน ต้องรอให้กฎหมายมาถึงรัฐบาลก่อนถึงจะรู้
    "เรื่องนี้ กกต.ระบุว่าไม่อยากให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนหรือหลังการเลือกตั้งระดับชาติ ที่มีระยะเวลาห่างกันน้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งควรจะทิ้งระยะเวลาไว้สัก 3 เดือน" นายวิษณุกล่าว เมื่อถามย้ำว่า แม้จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทีหลังการเลือกตั้งระดับชาติ ก็ไม่ส่งผลกระทบใช่หรือไม่
    ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรม สถ.มีส่วนร่วมในการเป็นตัวแทนของกระทรวงไปร่วมแสดงข้อคิดเห็น และร่วมประชุมพิจารณาร่างกฎหมายท้องถิ่นทั้งสิ้น 6 ฉบับ โดยร่างแรกคือร่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ เป็นร่างที่ กกต.เสนอปรับแก้มากที่สุด คือเกือบทั้งฉบับ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการปรับแก้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เป็นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่หลายช่องทาง ทั้งส่งโดยตรงไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาล นายกสมาคม อบจ. นายกฯ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยกำหนดระยะเวลาว่าภายในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ ให้ส่งความเห็นกลับมาเพื่อเข้าสู่คณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง 
    อธิบดี สถ.กล่าวว่า โอกาสนี้เชิญชวนทุกท่าน จะเข้าไปในเว็บไซต์ของ กกต.ของ สถ. หรือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ความเห็น ส่วนอีก 5 ฉบับอยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ พ.ร.บ.จัดตั้งเทศบาล อบต. อบจ. เมืองพัทยา และ กทม. ขณะนี้ที่ กมธ.กำลังพิจารณาอยู่เป็นส่วนของ อบต. ซึ่งพิจารณาเกือบหมดแล้ว เมื่อพิจารณาครบแล้วก็จะดำเนินการรับฟังความเห็นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ กฎหมายทั้ง 5 ฉบับคิดว่าจะไม่ล่าช้า เพราะฉบับที่ใช้เวลานานที่สุดเสร็จแล้ว หาก ครม.เห็นชอบแล้วก็จะเข้าสู่สภาเสนอเป็นกฎหมายออกมา
    "ไม่ทราบว่าจะเลือกตั้งก่อนเลือกตั้งใหญ่หรือเลือกหลังเลือกตั้งใหญ่ แต่หากดู หากจะเลือกก่อนกฎหมายก็มีโอกาสเสร็จ เชื่อว่าจะเลือกก่อนหรือหลัง กกต.ท่านพร้อมอยู่แล้ว กรมเราซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนก็ต้องพร้อม" นายสุทธิพงษ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"