ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ


เพิ่มเพื่อน    

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะผ่านจุดที่พีกที่สุดมาได้แล้ว แต่ก็ยังวางใจไม่ได้เด็ดขาด เพราะรัฐบาลเพิ่งมีคำสั่งในการคลายล็อก เริ่มเปิดให้เดินทางและกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บางส่วน ซึ่งการคลายล็อกดังกล่าวก็เหมือนการเปิดช่องให้เจ้าเชื้อร้ายกลับมาโจมตีได้อีก แม้ว่าจะมีข่าวดีที่พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากพอสมควรแล้ว ซึ่งอย่างน้อยก็จะมีภูมิป้องกันระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเจ้าไวรัสมันก็ร้ายพอที่จะทำให้กลับมาระบาดใหญ่ได้อีก

            ดังนั้น การคลายล็อกจึงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ทั้งจากตัวประชาชนเอง ส่วนหนึ่งที่จะต้องยึดการเว้นระยะ หลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมาก ทำกิจกรรมแต่พอดี ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือแล้ว ในส่วนเอกชนก็ต้องยกการ์ดสูง การเปิดให้บริการจะต้องมาพร้อมกับมาตรฐานการป้องกันโรค ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

            แน่นอนการคลายล็อกคือข่าวดีของภาคเอกชน เพราะมันมาช่วยต่อลมหายใจของธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ล่าสุดทาง กกร.ได้มีการปรับประมาณการทางเศรษฐกิจใหม่ ดีขึ้นพอสมควร หลังจากมีการเริ่มคลายล็อกในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา

            โดย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 1% จากก่อนหน้านี้คาดไว้อยู่ในกรอบ -0.5 ถึง 0% เนื่องจากช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย จากแผนการจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น และแนวโน้มการติดเชื้อที่เริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

            “เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านจุดพีกไปแล้ว หากไม่มีการล็อกดาวน์ ไม่มีการปิดโรงงานอีก ก็ไม่ทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับรัฐบาลมีการทำงานเชิงรุกในการควบคุมการแพร่ระบาด มีวัคซีนเข้ามาเพียงพอภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่ กกร.คาดไว้ แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้” นายผยงกล่าว

            ในส่วนของการส่งออกปี 2564 กกร.คาดว่าจะโต 12-14% จากเดิมคาดไว้โต 10-12% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี

            อย่างไรก็ดี สิ่งที่เอกชนเสนอคือ ภาครัฐจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% จะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท สำหรับสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มีแรงขับเคลื่อนกับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (โค-เพย์เมนต์) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น

            นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง 3,000-6,000 บาท ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยการลงทุนภาครัฐควรทำต่อเนื่องทั้งการลงทุนโดยรัฐเอง และการลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) สร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ

              ในจุดนี้แสดงให้เห็นว่า การคลายล็อกอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีมาตรการเสริม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"