เวลานี้เชื่อได้ว่าบิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.กำลังอยู่ระหว่างการขอคำปรึกษาแนะนำจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกุนซือด้านกฎหมายและการเมือง ก่อนที่จะตัดสินใจเคาะปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมการเมืองในรูปแบบอย่างไร โดยไม่ต้อง ปลดล็อกพรรคการเมือง ที่ คสช.พยายามยื้อออกไปให้นานที่สุด โดยอ้างเหตุผลว่าสถานการณ์ในประเทศยังไม่นิ่ง หากปลดล็อกเท่ากับเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ประชุมพรรคการเมือง ชุมนุมการเมืองเกิน 5 คนได้ และนั่นอาจนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ ท่ามกลางเสียงต้านจากหลายฝ่ายที่เห็นว่า คสช.ควรปลดล็อกได้แล้ว
การตัดสินใจของ บิ๊กตู่ จะเกิดขึ้นในช่วงต่อจากนี้ หลังผลการหารือร่วมกัน 5 ฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช., คณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ข้อสรุปที่เป็นแนวทางออกมาให้รัฐบาล คสช.ตัดสินใจไว้ 3 แนวทาง คือ 1.การออกพระราชกำหนด 2.การออกเป็นพระราชบัญญัตติ และ 3.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.
โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบิ๊กตู่-คสช. ที่เชื่อว่าจะทำภายหลังมีการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาล คสช.ที่ส่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปคุยกับตัวแทนพรรคการเมือง ที่เคาะออกมาแล้วว่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนนี้
เมื่อทิศทาง-โรดแมปต่างๆ เริ่มชัดขึ้น ก็ทำให้แต่ละพรรคการเมืองต้องเริ่มขยับ เตรียมการรองรับการเลือกตั้งกันแล้ว
เหลียวไปดูพรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทย ที่แม้ช่วงหลังสัญญาณการเมืองชัดเจนว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อาจได้รับไฟเขียวจาก ทักษิณ ชินวัตร และบ้านจันทร์ส่องหล้า ให้ขึ้นมาถือธงนำพรรคเพื่อไทยสู้ศึกเลือกตั้ง แต่กระนั้น แรงต้านสุดารัตน์ ในเพื่อไทยก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะในสายนักการเมือง-อดีต ส.ส.ของเพื่อไทยในโซนอีสานและภาคเหนือ แม้ช่วงหลังอาจลดแรงกระเพื่อมลง แต่ไม่หายไปแน่นอน เพียงรอวัน-เวลาที่จะปะทุขึ้นมาเท่านั้น
อย่างล่าสุด การออกมาแสดงความเห็นของคนเพื่อไทย-สายเสื้อแดงอย่าง วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ที่บอกว่าเมื่อ คสช.เปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมได้ พรรคเพื่อไทยก็ต้องเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ และจากการพูดคุยกับอดีต ส.ส.และแกนนำพรรคส่วนหนึ่ง รวมถึงสอบถามความต้องการประชาชน มีความเห็นตรงกันว่า คุณสมบัติของผู้นำพรรคต้องยืนฝ่ายประชาธิปไตยต่อสู้กับเผด็จการเคียงข้างประชาชนมาตลอด และต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เพราะนี่คือจุดแข็งของพรรค ตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงสมัยเพื่อไทย ที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นต่อพรรค
"ใครที่มาเป็นผู้นำแล้วไม่มีสองอย่างนี้ พรรคคงจะเดินด้วยความยากลำบาก เพราะการจะมาเป็นผู้นำพรรค อดีต ส.ส.และประชาชนที่สนับสนุนพรรคต้องให้การยอมรับ ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคต้องได้รับการคัดเลือกจากสมาชิก ไม่มีใครสามารถสั่งการได้"
หากแกะรอยคำพูดของ วรชัย ที่อ้างว่าความเห็นดังกล่าวเกิดจากการพูดคุยกับอดีต ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่ง แล้วชี้ว่าผู้นำพรรคต้องต่อสู้กับเผด็จการเคียงข้างประชาชนมาตลอด และต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง
สเปกดังกล่าวชื่อของ สุดารัตน์ ย่อมไม่ตอบโจทย์
แน่นอนแม้ช่วงหลังเธอจะออกมาชนกับ คสช.หลายเรื่องหลายครั้ง แต่ก็เป็นการออกมาในลักษณะ โหนกระแส ไปวันต่อวันเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทอะไรโดดเด่น
อีกทั้งสุดารัตน์ก็ไม่ได้มีภาพของคนที่เก่งหรือเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจแต่อย่างใด ต่อให้ออกมาพูดเรื่องเศรษฐกิจก็ดูไม่น่าเชื่อถือ สังคมไม่ให้น้ำหนัก
เห็นร่องรอย ท่าทีคนเพื่อไทยสายเสื้อแดงแบบนี้ ทั้งที่การขยับของเพื่อไทยกับการเลือกผู้นำพรรคยังไม่เกิดขึ้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าแรงต้าน "สุดารัตน์" ในเพื่อไทยยังมีอยู่ ดังนั้นเส้นทางของเธอในการจะขึ้นมานำทัพเพื่อไทย บอกเลยไม่ง่ายแน่นอน
ส่วน พรรคใหม่-รอแจ้งเกิด หลายพรรค พบว่าบางพรรคเห็นทิศทางแล้วว่าจะไปทางไหน เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย-พรรคอนาคตใหม่-พรรคประชาชนปฏิรูป แต่บางพรรค แม้จะยื่นเรื่องขอจดแจ้งตั้งพรรคกับ กกต.ไปตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ มากนัก
อาทิ พรรคพลังประชารัฐ ที่ชัดเจนว่าคือพรรคที่หนุน คสช.-บิ๊กตู่ และมีข่าวมาตลอดว่ามีการวางตัว "อุตตม สาวนายน" รมว.อุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าพรรค และให้ "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" รมว.พาณิชย์ฯ กับอุตตมเป็นเลขาธิการพรรค ขณะเดียวกันก็มีข่าวมีความพยายามจะดึงอดีต ส.ส.-นักการเมืองหลายคนมาเข้าพรรค
แต่ช่วงหลังข่าวเริ่มเงียบและมีความไม่นิ่งเช่นกัน จนเริ่มมีข่าวว่าสุดท้ายระดับหัวแถวในพรรคพลังประชารัฐ ที่จะเปิดตัวในช่วงสู้ศึกเลือกตั้ง อาจเป็นชื่ออื่น ที่ตอนนี้ ก็เริ่มมีการโยนออกมาหลายชื่อเพื่อเช็คกระแส อย่างก่อนหน้านี้ก็มีอาทิ วิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย-อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่เวลานี้นั่งอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ในฐานะ ที่ปรึกษาสนธิรัตน์
ที่ก็ไม่แน่ หากสุดท้ายสนธิรัตน์ไม่ขอออกตัวเล่นการเมือง ก็อาจต้องเข็นคนอื่นมาแทน และอาจเป็นคนที่นั่งอยู่ห้องข้างๆ อย่างที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ที่ก็เคยมีประสบการณ์ด้านนี้พอสมควร ในฐานะอดีตปลัด มท.-อธิบดีกรมการปกครอง-อดีต ผวจ.-อดีตนายอำเภอหลายจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาในยุค คสช. ก็ได้ตำแหน่งมากมายเช่น อดีต สปช.-กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อยังเหลือเวลาอีกพอสมควร ทุกอย่างก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ช่วงใกล้ๆ เลือกตั้งก็เป็นไปได้ โดยอาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่สุดท้าย พรรคพลังประชารัฐ อาจได้ นักเลือกตั้งมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์การเมืองสูงมาช่วยคุมหางเสือ แบบเปิดเผยและเต็มตัว ที่แม้อาจทำให้พรรคแลดูเป็น พรรคทหาร" ตามโมเดลการเมืองเก่าๆ แต่หากแกนนำระดับหัวแถวของพรรค ประเมินว่า ก็ดีกว่าจะเข็นพวกรัฐมนตรี-สายนักวิชาการอย่าง อุตตม-สนธิรัตน์ ที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมานำทัพ ถึงตอนนั้นก็อาจมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐก็เป็นไปได้
ความไม่นิ่งของบางพรรคการเมืองในเรื่องผู้นำพรรค ที่เกิดขึ้นกับเพื่อไทย-พลังประชารัฐ ประเมินได้ว่าถึงช่วงประมาณ ต.ค.-พ.ย.61 ทุกอย่างคงชัดเจนขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |