กกร.เชื่อไทยผ่านจุดพีกโควิดแล้ว ขยับเป้าจีดีพีมีโอกาสโต 1% ชงรัฐขยายเพดานก่อหนี้ พร้อมคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและยาว แนะเพิ่มเป้าหมายปี 2565 เพื่อช่วยกระตุ้น “ธปท.” ยังอนุรักษนิยมภาคธุรกิจน่าห่วง ชะลอลงทุนและใช้จ่าย
เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.เห็นชอบปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 1% จากก่อนหน้านี้คาดไว้อยู่ในกรอบ -0.5 ถึง 0% เนื่องจากช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยจากแผนการจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น และแนวโน้มการติดเชื้อที่เริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
“เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านจุดพีกไปแล้ว หากไม่มีการล็อกดาวน์ ไม่มีการปิดโรงงานอีก ก็ไม่ทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก ประกอบกับรัฐบาลมีการทำงานเชิงรุกในการควบคุมการแพร่ระบาด มีวัคซีนเข้ามาเพียงพอภายในเวลาที่กำหนด ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่ กกร.คาดไว้ แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้” นายผยงกล่าว
นายผยงกล่าวอีกว่า การส่งออกปี 2564 กกร.คาดว่าจะโต 12-14% จากเดิมคาดไว้โต 10-12% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการทำชุดทดสอบตรวจหาเชื้อโควิดแบบรวดเร็ว (ATK) เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดคงอยู่ในกรอบ 1-1.2% ส่วนในปี 2565 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3-5% ถือว่าต่ำเกินไป โดยต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
“ภาครัฐจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% จะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท สำหรับสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (โค-เพย์เมนต์) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น โดยรัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในระยะสั้นและยาว โดยมาตรการระยะสั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง 3,000-6,000 บาท ช้อปดีมีคืนลดหย่อนภาษี และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า และผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นต้น” นายผยงระบุ
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น เป็นผลจากการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ และมีโอกาสที่การส่งออกจะเติบโตได้ถึง 12-15% แต่ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และแนวทางให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยไม่ต้องมีการล็อกดาวน์อีก พร้อมเร่งนำเข้าวัคซีนฉีดให้ได้ตามแผนที่รัฐบาทประกาศไว้
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยผลสำรวจผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือน ส.ค.2564 พบว่า การฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดบางส่วน ในขณะที่ด้านการผลิต ยังคงเผชิญกับการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน และการปิดโรงงานของคู่ค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระทบกับระดับการผลิตในภาพรวม
ส่วนระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นบ้าง ขณะที่ภาคการค้ามีการจ้างแรงงานลดลง โดยรายได้เฉลี่ยของแรงงานปรับลดลงเล็กน้อย สอดคล้องกับการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ยังมีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิต อาทิ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารและธุรกิจก่อสร้าง โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกในเดือน เม.ย.2563 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ตามด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการค้า
“หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ ธุรกิจกว่าครึ่งเลือกที่จะปรับตัว โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 58.3% เลือกลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านแรงงาน ขณะที่อีก 51.7% เลือกที่จะชะลอการลงทุน และอีก 34.7% เลือกลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง 26.9% เลือกหารายได้จากช่องทางอื่น และผู้ตอบแบบสอบถามอีก 5.8% เลือกปิดกิจการชั่วคราวหรือปิดสาขา”
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือน ส.ค.2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกปรับดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากสัญญาณการเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดแบบเข้มงวด และการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค แต่ผู้ประกอบการมีการประเมินกำลังซื้อของผู้บริโภคว่าจะยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าบ้าง โดยการประเมินแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า 78% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความเชื่อมั่นด้านรายได้ลดลงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรง เมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์เมื่อเดือน เม.ย.2563 และ 44% มีสภาพคล่องไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |