ออกอาการหงุดหงิดไม่ใช่น้อย สำหรับท่านเลขาฯ กสทช. "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" กับงานประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ท่านตระเตรียมงานมาตั้งเนิ่นนาน แต่ถูก 3 บริษัทโอเปอเรเตอร์ปฏิเสธไม่มาร่วมงานซะอย่างนั้น อุตส่าห์เปิดบ้านรอรับไว้อย่างดี
อารมณ์ของท่านในเวลานั้นก็คงคล้ายๆ กับเจ้าสาวที่เป็นหม้ายขันหมาก ที่อุตส่าห์ทุ่มกำลังคน กำลังแรง กำลังทรัพย์ จัดงานใหญ่ แต่ถูกบรรดาเจ้าบ่าวที่หมายตาไว้ชิ่งหนีหมด เหตุการณ์แบบนี้เท่ากับเสียทั้งชื่อ เสียทั้งเงิน
งานนี้ก็ต้อง "มีเดือดเป็นธรรมดา"
จริงๆ เชื่อว่าก่อนการประมูล ทาง กสทช.ก็คงจับเค้าสัญญาณบางอย่างได้แล้วแหละว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz เวลานี้ค่อนข้างเสียเปรียบเอกชน ทั้งในเรื่องของช่วงเวลา ราคา และความจำเป็น ดังจากที่ทางทรูฯ เป็นค่ายแรกที่ออกตัวก่อนว่าจะไม่มาเข้าร่วมประมูลก่อนใคร
แต่ กสทช.ก็ยังเชื่อลึกๆ ว่าเจ้าของคลื่นเดิมอย่างดีแทคน่าจะมาเก็บคลื่นเพิ่มให้เพียงพอให้บริการ ขณะที่เอไอเอสซึ่งมีจำนวนคลื่นความถี่สูงกว่าใครตอนนี้ก็น่าจะเข้าร่วม แต่สุดท้ายปรากฏว่าเก็งผลผิด ทำเอาเจ๊งทั้งกระดาน เพราะดีแทคเพิ่งไปคว้าคลื่น 2300 MHz มาจากทีโอทีถึง 60 เมกะวัตต์ งานนี้เรียกว่าเกมพลิกเลยทีเดียว
อันที่จริง มองสถานการณ์ก่อนช่วงการประมูล ต้องบอกว่าเกมอยู่ที่ฝั่งผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย เพราะผู้ซื้อยังไม่เดือดร้อนที่จะต้องหาเช่าคลื่นใช้ทันที โดยแต่ละเจ้าต่างก็เก็บสแปร์คลื่นไว้พอใช้งานเกือบทุกเจ้า ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ขณะที่เงื่อนไขทั้งราคาเริ่มต้น วิธีการประมูล และการแบ่งสล็อตคลื่น ล้วนไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายผู้ซื้อคาดหวัง
ดังนั้น เกมการต่อรองก็เกิดขึ้น และการที่ทั้งสามค่าย ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลหมด ผลดีก็จะเกิดกับดีแทคเต็มๆ เพราะด้วยเงื่อนไขจะต้องได้รับการเยียวยาในการดูแลใช้คลื่นต่อไปไม่ให้ซิมดับ ซึ่งเคยเกิดกรณีแบบนี้กับการเยียวยาคลื่น 1800 MHz ของทรู กับคลื่น 900 MHz ของเอไอเอสก่อนหน้านี้
แม้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์ ท่านเลขาฯ จะออกมาประกาศว่า กสทช.จะประกาศยกเลิกมาตรการเยียวยา เพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดที่ กสทช.จัดประมูลไม่ทัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เอกชนเลือกจะไม่มาประมูลเอง
แต่เชื่อเหอะ การเดิมพันแบบนี้ยังไง กสทช.ก็เสียเปรียบ เพราะการจะไม่เยียวยา และปล่อยให้ซิมดับ เกิดขึ้นกับคนใช้งาน 4-5 แสนคนนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ยิ่งเวลานี้กำลังจะเข้าถึงโค้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้ง อะไรที่สั่นคลอนรัฐบาล คสช.คงไม่ยอมแน่ๆ
ขณะเดียวกันเรื่องเงื่อนไขที่ทางทรูกับเอไอเอสขอ คสช.ผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดที่ 4 วงเงินค่ายละ 60,000 ล้านบาท ก็อาจจะถูกนำมาปัดฝุ่นกันอีกรอบ เพราะก็มีสาเหตุที่เกี่ยวพัน เป็นข้อจำกัดในการประมูลคลื่นชุดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
มองแบบไม่คิดอะไร หรือจะให้คิดก็ได้ว่าบางที 3 โอเปอเรเตอร์อาจจะรวมหัวกันปั่นป่วนการประมูลครั้งนี้ เพื่อต่อรองผลประโยชน์บางสิ่งบางอย่าง โดยเหตุการณ์ประมูลเป็นเงื่อนไขก็เป็นได้ เพราะผลที่ออกมา 3 ค่ายบีบภาครัฐซะอยู่หมัดเลยทีเดียว
จากนี้คงต้องจับตาหมากต่อไปของทาง กสทช. จะแก้เกมนี้อย่างไร จะยอมปรับลดเงื่อนไข โดยเฉพาะราคาเริ่มต้นประมูลที่ตั้งไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และหั่นจำนวนสล็อตลดลงจาก 15 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่ ต่อไปอีกหรือไม่ คงจะต้องรอการตกผลึกอีกครั้ง หลังจากที่ท่านเลขาฯ จะต้องวิ่งเข้าไปเสนอเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป และหาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้ง
งานนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะรัฐบาลก็ติดปัญหาค่อนข้างร้อนเงิน เนื่องจากมีแผนที่จะลงทุนและใช้งบจำนวนมหาศาล และกระทรวงการคลังก็คาดหวังกับรายได้ตรงนี้ไว้สูงถึงหลายหมื่นล้าน ซึ่งจะนำมาใช้ในปีงบประมาณนี้ แบบนี้บอกเลยคนที่เสียเปรียบมากที่สุดคือภาครัฐเองไม่ใช่ใคร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |