ข่าวลือที่มีเค้าลางผ่านท่าที ‘บิ๊กตู่-ธรรมนัส’  4 ก.ย.ผลลงมติกำหนดทิศทางประเทศ 


เพิ่มเพื่อน    

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ สิ่งที่ได้รับความน่าสนใจมากที่สุด ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของฝ่ายค้าน แต่กลายเป็นกระแสข่าวร้อนทางการเมือง ที่มีข่าวว่าคนใน ส.ส.ล็อบบี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย, ประชาธิปัตย์ และพรรคเล็ก เพื่อคว่ำ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม 
    กระแสข่าวดังกล่าวหนาหู ทำเอาบรรยากาศในสภาเต็มไปด้วยความอึมครึม ส.ส.ต่างจับกลุ่มซุบซิบกันถึงประเด็นนี้ ทุกๆ การเคลื่อนไหวถูกจับจ้อง 
    ข่าวลือนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจประมาณ 1  สัปดาห์ และแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นอย่างมาก หลังมีรายงานว่าบรรยากาศการประชุมพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม มีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน 
    แม้กระทั่งช่วงวันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลายสิ่งหลายอย่างก็ชวนให้ตีความไปเสียหมด ไม่ว่าใครจะจับกลุ่มกับใคร ต่อสายหาใคร ล้วนแต่ถูกจับจ้อง 
    แม้แต่ภาพที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในตัวละครสำคัญในข่าว ที่ถูกระบุว่า เป็นตัวตั้งตัวตีในการล็อบบี้ ส.ส. นั่งคุยกับ ส.ส.พรรคเล็กระหว่างศึกซักฟอกวันแรก ก็ยิ่งทำให้น้ำหนักของข่าวลือนี้ยิ่งดูน่าเชื่อมากขึ้นไปอีก 
    กระทั่งที่สุด เมื่อวาน (1 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จึงออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งหากฟังคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าข่าวลือที่เกิดขึ้นมันมีเค้าลางของความจริงเจือปนอยู่บ้าง 
    ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ หนักไปในทางเดือดดาล ถึงขั้นใช้คำว่า  "ไม่ใช่สุภาพบุรุษ" แสดงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การปล่อยข่าวกดดัน หากแต่ต้องมีมูล 
    "วันนี้ที่เป็นข่าวมีอยู่ 2-3 เรื่อง คือการโหวตล่มนายกฯ เรื่องนี้ถ้ามันจริง ผมถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษแล้ว เวลานี้ก็ไม่ใช่เวลาที่ต้องมาทำอย่างนั้น ทำไปเพื่ออะไร ผมเข้ามาทำงานก็ทำงาน 100% ทุกเรื่อง ดังนั้นที่มีข่าวว่าจะมีการไปรวมคะแนนเสียงโหวต ซึ่งจริงไม่จริงผมไม่ทราบ ผมถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษถ้าทำแบบนี้”  
    เช่นเดียวกับกรณีที่เมื่อถูกถามว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์คือ พล.อ.ประวิตรยืนยันว่าไม่มี หากแต่มีติดปลายนวมให้ชวนคิดว่า อาจจะมีหลงหูหลงตาไปบ้างหรือไม่ 
    “พล.อ.ประวิตรยืนยันกับผมมาโดยตลอดทุกวัน ก็ได้คุยกับท่านตั้งแต่มีข่าวเรื่องนี้เกิดขึ้น ท่านก็บอกว่าจะสืบจะสอบให้ วันนี้ก็มีการสอบแล้ว ท่านก็บอกว่าไม่มี อาจจะหลงหูหลงตาหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ วันนี้ก็ต้องตามทั้งหมดว่าพรรคโน้นพรรคนี้ พรรคร่วมรัฐบาล มีบ้างหรือเปล่า หัวหน้าพรรคทั้งหมดก็จะช่วยกัน” 
    แน่นอนว่าคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ถูกตีความว่า "เป็นคู่กรณีโดยตรง" เป็นที่เรียบร้อยในทางเปิดเผย  
    แต่อุณหภูมิการเมืองไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะหลังคำให้สัมภาษณ์ที่ร้อนแรงแม้ไม่เอ่ยชื่อใครของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่กี่ชั่วโมง ก็มีความเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส ตามมาทันที  
    การให้สัมภาษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส ต่อประเด็นที่เกิดขึ้น ก็เป็นไปในลักษณะของความไม่พอใจเช่นเดียวกัน หากแต่เป็นความไม่พอใจที่ระบายใส่คนปล่อยข่าวนี้ออกมา โดยเปิดตัวละครเลยว่าเป็นรัฐมนตรีบางคนในพรรคพลังประชารัฐเอง 
    ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นคนล็อบบี้ ส.ส.ให้ล้ม พล.อ.ประยุทธ์ และยังปฏิเสธข่าวที่ว่าตัวเองพยายามเลื่อยขาเก้าอี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  
    หากแต่หลายๆ คำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส ก็ชวนให้ตีความเช่นกันว่า มีกลิ่นความไม่พอใจซ่อนอยู่  
    “ผมพูดกับ ส.ส. 50-60 คน บอกว่า ส.ส.ในพรรคอึดอัดหลายเรื่อง  และรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ตรงนี้มีผลงานไปบอก ส.ส.ให้บอกชาวบ้าน นี่คือผลงานของพรรค พปชร. ส.ส.ตอบได้เลยว่าไม่มี มีหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียว คนที่เป็นตัวแทนของประชาชน ถ้าเป็นที่พึ่งไม่ได้ อย่าเป็น  ส.ส.เลยดีกว่า แล้วถ้าไม่เคลียร์ตัว ผมพร้อมที่จะกลับไปเป็น ส.ส.เหมือนเดิม ไม่ได้สนใจด้วย” 
    คำพูดดังกล่าวสอดรับกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ออกมาว่า กลุ่ม 4  ช.ในพรรคพลังประชารัฐ พยายามเดินเกมกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์  ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะรัฐมนตรีหลายคนห่างเหิน ไม่ช่วยเหลือ  ส.ส.ในพรรค โดยเสนอให้ดึงคนในพรรคขึ้นมาเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้ง 
     อีกประโยคที่สะท้อนอารมณ์ ร.อ.ธรรมนัส ว่ากำลังคุกรุ่น คือ.... 
    “อย่ากดดันกันมาก ผมมาจากประชาชน”  
    ซึ่งประโยคนี้ถูกตีความไปต่างๆ นานาว่า ต้องการจะสื่อถึงใครหรือไม่ รวมถึงการระบุว่าตนเองคุยกับหัวหน้าพรรคคนเดียว คือ พล.อ.ประวิตร เมื่อถูกถามว่าได้คุยกับนายกฯ หรือยัง 
    แน่นอนว่าท่าทีของ 2 คู่กรณีที่ร้อนระอุในข่าว ทำให้บรรยากาศทางการเมืองร้อนแรงขึ้นมาอย่างมาก เพราะข่าวที่ว่ามันแรงถึงขั้นจะล้มจะคว่ำผู้นำประเทศกันทีเดียว 
    ผลการลงมติในวันที่ 4 กันยายนจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันพอจะกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคตได้ทีเดียว  
    และมันยังบ่งบอกสถานะของตัวละครต่างๆ ว่า วันนี้ใครมีพลังอำนาจขนาดไหน พล.อ.ประยุทธ์ ยังแข็งแกร่งอยู่หรือไม่ ตลอดจน 3 ป.ยังเหนียวแน่นกันดีอยู่หรือ 
    ไม่ต้องถึงขั้นโหวตล้ม พล.อ.ประยุทธ์ได้ เอาแค่ พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนน้อยที่สุดก็เกิดเอฟเฟกต์ทางการเมืองมหาศาลแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"