กกร.ขยับเป้าจีดีพีขึ้น ลั่นโควิดผ่านพ้นจุดพีกแล้ว


เพิ่มเพื่อน    


1 ก.ย. 2564 - นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่าที่ประชุมเห็นชอบปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย(จีดีพี) ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 1% จากก่อนหน้านี้คาดไว้อยู่ในกรอบ -0.5 ถึง 0% เนื่องจากช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมามีปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยจากแผนการจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น และแนวโน้มการติดเชื้อที่เริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น 
 
“เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านจุดพีกไปแล้ว หากไม่มีการล็อกดาวน์ ไม่มีการปิดโรงงานอีก ก็ไม่ทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับรัฐบาลมีการทำงานเชิงรุกในการควบคุมการแพร่ระบาด มีวัคซีนเข้ามาเพียงพอภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่กกร.คาดไว้ แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้”นายผยง กล่าว

 ในส่วนของการส่งออกปี 2564 กกร. คาดว่าจะโต 12-14% จากเดิมคาดไว้โต 10-12% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐให้การสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการทำชุดทดสอบตรวจหาเชื้อโควิดแบบรวดเร็ว(ATK) เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดคงอยู่ในกรอบ 1-1.2% 

ขณะที่ในปี 2565 หน่วยงานภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ 3-5% ซึ่งเป็นระดับต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 
 
ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% จะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท สำหรับสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มีแรงขับเคลื่อนกับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (โค-เพย์เมนต์) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น 
 
 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง 3,000-6,000 บาท ช้อปดีมีคืนลดหย่อนภาษี และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยการลงทุนภาครัฐควรทำต่อเนื่องทั้งการลงทุนโดยรัฐเอง และการลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) สร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ 
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าการปรับตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นผลจากการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยส่วนตัวมองเห็นโอกาสที่การส่งออกของไทยจะเติบโตได้ถึง 12-15% แต่ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และแนวทางให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยไม่ต้องมีการล็อกดาวน์อีก พร้อมเร่งนำเข้าวัคซีนฉีดให้ได้ตามแผนที่รัฐบาทประกาศไว้ โดยเดือนก.ย.จะนำเข้ามาอีก 10 ล้านโดส ทำให้คนได้รับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 เพิ่มขึ้น ติดเชื้อน้อยลง หรือติดเชื้อแล้วไม่มีอาการรุนแรง โอกาสล็อกดาวน์ก็น้อยลงไปตามไปด้วย 
 
“ตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังรัฐมีคำสั่งล็อกดาวน์ช่วงเดือนส.ค.ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากช่วงก่อนล็อกดาวน์ในเดือนก.ค. สะท้อนการล็อกดาวน์ไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด กลับส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ภาคเอกชนจึงไม่อยากให้มีการล็อกดาวน์อีก ขณะที่โควิดยังอยู่กับเรา เราจึงต้องยังคงอยู่กับโควิดต่อไปให้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือจะอยู่อย่างไร ภาครัฐต้องเร่งนำเข้าวัคซีนฉีดให้ประชาชนให้เร็วที่สุดให้ได้มากกว่า 50-70% ของประชากรทั้งประเทศโดยเร็ว เพื่อให้ไทยสามารถเปิดประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและมีโอกาสจะเห็นเศรษฐกิจปีหน้าเติบโตได้ถึง 6%”นายสุพันธุ์ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"