วิษณุยันแก้กม.โรคติดต่อนิรโทษแค่หมอ


เพิ่มเพื่อน    

ต้อนรับคลายล็อก 1 ก.ย.ยอดติดเชื้อรายใหม่ลดเหลือ 14,355 ราย เสียชีวิต 190 ราย "สธ." เผยสถานการณ์โควิดดีขึ้นผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ยันไทยยังไม่พบเชื้อสายพันธุ์ C.1.2 เฝ้าระวังสุ่มตรวจกลุ่มเสี่ยงสัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง เตือนคนติดโควิดห้ามสูบบุหรี่ "วิษณุ” แจงร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขคุ้มครองแค่หมอไม่ถึงฝ่ายบริหาร 
    เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,666 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,355 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,343 ราย, จากค้นหาเชิงรุก 2,012 ราย และเรือนจำ 304 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย​ ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,204,729 ราย​ หายป่วยเพิ่มขึ้น 19,245 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,021,772 ราย​ อยู่ระหว่างรักษา 171,368 ราย อาการหนัก 5,003 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,042 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 190 ราย เป็นชาย 112 ราย หญิง 78 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 121 ราย มีโรคเรื้อรัง 46 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ​ กทม. 32 ราย ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 11,589 ราย​ ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อใหม่ 217,901,675 ราย เสียชีวิตสะสม 4,523,766 ราย
     สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 31 ส.ค. ได้แก่ กทม. 3,963 ราย,  สมุทรปราการ 1,402 ราย, สมุทรสาคร 983 ราย, ชลบุรี 745 ราย, ราชบุรี 490 ราย, นนทบุรี 488 ราย​, พระนครศรีอยุธยา 308 ราย, นครราชสีมา 299 ราย,  นครปฐม 273 ราย,​ สงขลา 273 ราย
    ขณะที่ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ยอดผู้ติดเชื้อจำนวน 14,000 คน เสียชีวิต 190 คน นับเป็นครั้งแรกที่ต่ำว่า 200 คน โดยอัตราส่วนการเสียชีวิตยังคงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง รวมคิดเป็น 88% แบ่งเป็นเพศชาย 112 คน มากกว่าเพศหญิงที่พบ 78 คน ช่วงอายุเฉลี่ย 73 ปี (30-96 ปี) และปัจจัยเสี่ยงสูงที่พบว่าทำให้เสียชีวิตคือ ความดันโลหิตสูง จำนวน 94 คน, เบาหวาน 60 คน, ไขมันในเลือด 51 คน, โรคอ้วน 18 คน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อในพื้นที่ 183 คน,  มาจากคนรู้จัก 93 คน, ในครอบครัว 9 คน  จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกคนจะต้องระวังตัวปฏิบัติตามาตรการแม้จะอยู่ในบ้าน
    "ดูจากแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในภาพรวมทั้งประเทศนั้นค่อยๆ ลดลง และผ่านพ้นจุดสูงสุดที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 20,000 คน สอดคล้องกับการคาดการณ์และผลการใช้มาตรการว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่คนถัดไปจะลดลง 20-25% ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 7,028 คน โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะสูงกว่าอยู่ที่ 7,327 คน" นพ.เฉวตสรรกล่าว   
สธ.จับตาสายพันธุ์ C.1.2 
    ถามกรณีการพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า C.1.2 ที่จีนและอังกฤษ ผอ.กองควบคุมโรคฯ กล่าวว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะมีกลายพันธุ์ ซึ่งทุกประเทศก็มีการเฝ้าระวังเป็นอย่างดี แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการตรวจพบสายพันธุ์ C.1.2 ส่วนความรุนแรงของเชื้อหรืออัตราความเร็วในการแพร่ระบาด การดื้อต่อการรักษา ดื้อต่อวัคซีน ยังคงเป็นการติดตามเฝ้าระวังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จึงอยากให้มั่นใจในระบบการเฝ้าระวัง จากการตรวจโฮจีโนมซีเควนซิง เพื่อดูพันธุกรรมของสายพันธุ์เชื้อไวรัสประมาณ 500 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ และจากการติดตามเมื่อทราบแหล่งที่มาของการพบสายพันธุ์ใหม่จากประเทศใด ก็จะสุ่มตรวจผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนั้น รวมไปถึงการสุ่มตรวจทั่วประเทศร่วมด้วย 
    "สายพันธุ์หลักที่ตรวจพบในประเทศขณะนี้ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลตา 93% ส่วนสายพันธุ์ C.1.2 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจ ขณะที่ความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าว ยังเร็วเกินไปที่จะให้ข้อสังเกตว่ามีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นหรือไม่ ความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือไม่ ดื้อต่อการรักษาและดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ อยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์และระบบสาธารณสุขทั่วโลก" ผอ.กองควบคุมโรคฯ กล่าว
    นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ในวันที่ 1 ก.ย.จะเป็นการผ่อนคลายมาตรการกิจการและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ แต่ไม่มีการเปลี่ยนสีของพื้นที่ ยังเป็นในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดจำนวน 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด ซึ่งพื้นฐานสำคัญคือ ต้องรักษามาตรการส่วนบุคคล เพราะโควิดจะยังไม่หายไปจากชีวิตของเราหรือหายไปจากโลก แม้หลายประเทศจะมีการฉีดวัคซีนไปมากก็ยังพบการแพร่ระบาด จึงจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้ 
    ส่วน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดป้องกันการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และลดจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต ทั้งการฉีดวัคซีนป้องกัน และมาตรการป้องกันส่วนบุคคลคือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง งดการร่วมกิจกรรมกลุ่มทุกประเภทแล้ว แต่จุดที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด โดยการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 3.47 เท่า
    "การเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิดจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น และควรใช้สถานการณ์ความรุนแรงการแพร่ระบาดของโรคโควิดเลิกสูบ" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
     วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมบีเคเค บิ๊กคลีนนิงเดย์ กทม.ร่วมใจต้านภัยโควิด-19 และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทำความสะอาด ณ ตลาดเสนีย์ ตรงข้ามห้างซีคอนบางแค และตลาดต้นไม้ชายคา เพชรเกษม 28 เขตภาษีเจริญ 
    นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรมบีเคเค บิ๊กคลีนนิงเดย์ ที่ตลาดราชวัตร ว่าการล้างทำความสะอาดตลาดและสถานที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งสถานที่บางแห่งได้ปิดกิจการเป็นระยะเวลาหลายวัน จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดก่อนเปิดกิจการ รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนทำความสะอาดสถานที่ของตนเอง
ยันร่าง พรบ.คุ้มครองแค่หมอ 
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่มีการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น เรื่องอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา  
    ถามถึงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีการนิรโทษกรรมไปถึงฝ่ายบริหารตามที่มีการตั้งข้อสังเกตหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอให้คอยดูก่อน แต่ไม่ถึงระดับขั้นที่คนกลัวกัน ไม่ขึ้นไปถึงฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายนโยบาย มีเพียงฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ เพราะจำเป็นเนื่องจากตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเขาไม่มีอะไรคุ้มครองเลย  
    ซักว่าหากมีเนื้อหาเกี่ยวกับการคุ้มครองแพทย์แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.มาเพิ่มอีกใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า แค่นี้ก็จบแล้ว เพียงแต่ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูว่าจำเป็นหรือไม่ เพราะที่เราเคยคิดกันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้การคุ้มครองแพทย์นั้น มันไม่ได้คุ้มครอง เพราะใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการคุ้มครองสำหรับการต่อสู้ที่กระทำผิดกฎหมาย มีฝ่ายตรงข้าม แต่หากมีสึนามิ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดที่ไม่มีฝ่ายตรงข้าม คนเหล่านี้อาจไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะหากทำโดยสุจริตก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอื่นอยู่แล้ว แต่หากเขาต้องการความมั่นใจมากขึ้น ก็อาจจะต้องคิดว่าจำเป็นเช่นกัน  
    "หากมีโรคระบาดที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง กระทรวงสาธารณสุขต้องประกาศให้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงก่อน เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นความจำเป็นก็จะออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอีกทีหนึ่ง ส่วนจะให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาบูรณาการช่วยงานบางอย่างได้หรือไม่นั้น สามารถแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ อาทิ การให้ตำรวจช่วยตั้งด่าน" นายวิษณุกล่าว 
    จ.สมุทรสาคร สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 983 ราย เสียชีวิต 16 ราย อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล 12,972 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 132 ราย และอยู่ระหว่างการสังเกตอาการอีก 8,232 ราย
    จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดสมุทรปราการ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,402  ราย เสียชีวิต 10 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในโรงพยาบาลเอกชนและรักษาใน Hospitel มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการ รวมจำนวน 17,037  ราย มีผู้ป่วยรอเตียงโรงพยาบาลจำนวน 221 ราย
    จ.นครราชสีมา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 273 ราย รวมยอดสะสมทะลุ 20,258 ราย ยอดเสียชีวิต 113 คน รักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 3,200 คน 
    จ.เชียงใหม่ น.ท.มัธยัณห์ ไกรสรทองศรี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายปฏิบัติการ) กล่าวว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการกลับมาเปิดให้บริการด้านการบินในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ซึ่งผู้ประกอบการ พนักงานสายการบินได้เข้ามาทำความสะอาดสำนักงาน ร้านค้า เพื่อเตรียมเปิดให้บริการ โดยในระยะแรกมีเที่ยวบินให้บริการเฉลี่ย 10 เที่ยวบิน ซึ่งผู้โดยสารจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"