ในแต่ละปีขยะที่เกิดขึ้นมีจำนวนมหาศาล โดยทั่วไปในสถานการณ์ปกติ ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปีละกว่า 27.8 ล้านตัน จากการที่คนหนึ่งคนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม ในนั้นประมาณ 12-13% เป็นขยะพลาสติก ยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 20% หรือ 2,000 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะรวมของกรุงเทพฯ 10,560 ตันต่อวัน
และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ หรือ Work from home จึงเกิดการสั่งสินค้าออนไลน์ รวมถึงการสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรีเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก กล่องพลาสติกใส่อาหาร กล่องพลาสติก/ซองพลาสติกแยกชนิดอาหาร ซองเครื่องปรุงรส แก้วพลาสติกใส่เครื่องดื่ม ตะเกียบไม้หรือพลาสติก ช้อนและส้อมพลาสติก กระดาษทิชชู และแต่ละประเภทก็มีซองพลาสติกใส่อีก เป็นต้น
ดังนั้นจึงต้องมีการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ถือว่าเป็นหนึ่งวิธีในการกำจัดและลดปัญหาขยะล้นเมือง ดังนั้น โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จึงกลายเป็นทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ และเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาและจัดการปัญหาขยะทับถมกันไปไม่จบไม่สิ้น มีแต่เพิ่มพูนทุกวันจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะในท้องถิ่นนั้น ถือว่าเป็นอำนาจของท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในท้องถิ่น และเพื่อให้การจัดวางภารกิจหน้าที่ชัดเจนจริงจัง มีการออก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2560 และจัดตั้งคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยขึ้น เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ
โดยมีหน้าที่เร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ ฟีด-อิน-ทารีฟ (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ปั่นไฟไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ภายใต้โรดแมปการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตรายของกระทรวงมหาดไทย
ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งเดินหน้าโครงการ และรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับแนวทางการกำจัดขยะ โดยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติ กำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 หรือ AEDP 2018 อย่างเรียบร้อย
ส่วนกระทรวงมหาดไทยกับท้องถิ่นเห็นๆ ปัญหาจากขยะอยู่ ก็เร่งพิจารณาเอกชนที่มีสิทธิ์ปั่นไฟฟ้าจากขยะชุมชนเข้าระบบ จนมีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใต้ “โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รวม 23 โครงการ กำลังผลิตรวม 234.7 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมานั้นกระทรวงมหาดไทยได้ส่งเรื่องให้กระทรวงพลังงานพิจารณา
ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่น แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลับเห็นว่าเรื่องยังคาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน ไม่เดินหน้า กลับจะถอยหลังลงคลอง เพราะมีการปรับระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ในสาระสำคัญ เรียกว่ามาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่อีกครั้ง ที่ทำเอา 23 โครงการที่ยื่นเรื่องของทำโรงไฟฟ้าขยะชุมชนฉงนใจ และพยายามหาคำตอบ ว่ากระทรวงพลังงานยุคนี้ ทำเสมือนว่าใส่เกียร์ว่างซะเฉยๆ ขณะที่โครงการไฟฟ้าขยะชุมชนนำร่อง (Quick Win Projects) 11 โครงการก็ยังเดินหน้ากันอยู่
ทำราวกับว่า วาระแห่งชาติเรื่องการกำจัดขยะของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง จนสร้างมลพิษมหาศาล โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ที่ขยะกองท่วมหัว ช่วงโควิด 19 ระบาดมีขยะเพิ่มขึ้นจากฟู้ดเดลิเวอรี รวมถึงวัสดุหีบห่อต่างๆ รวมถึงยังมีขยะประเภทหน้ากาก ซึ่งไม่รู้ว่ามาจากผู้ติดเชื้อหรือไม่ปะปนเข้ามาในกองขยะชุมชนอีก เป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นเดียว โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนถึงได้อืดเป็นเรือเกลือ ราวกับใส่ “เกียร์ว่าง” กัน
เพราะถ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเดินหน้าไปไม่ได้เพราะไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทุกอย่างต้องหยุดรออย่างไร้วี่แวว อย่างโครงการที่หนองแขมและอ่อนนุช ซึ่งมีศักยภาพกำจัดขยะของประเทศได้ถึง 1,000 ตันต่อวันต่อโรง และปั่นไฟฟ้าป้อนระบบมากที่สุดกว่า 30 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ได้ลงนามสัญญามาเกือบ 2 ปี และโครงการมีการจัดทำประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) เพื่อดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่เสร็จสิ้นเกือบ 6 เดือน แต่ยังไม่สามารถลงทุนก่อสร้างโครงการได้ตามแผน เนื่องจากยังไม่ได้รับสิทธิจำหน่ายไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงาน
ดังนั้น เมื่อเดินหน้าโครงการไม่ได้ ประโยชน์ที่ควรเกิดก็เลยไม่เกิด ทั้งการจ้างงาน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แถมความเสียหายก็เพิ่มขึ้นๆ จนเอกชนต้องมีหนังสือสอบถามไปยัง รมว.กระทรวงพลังงาน เพื่อให้เร่งรัด แต่เรื่องยังเงียบฉี่ไร้วี่แวว.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |