31 ส.ค.64 - ที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 และแนวทางปฏิบัติตนเมื่อเปิดกิจการ/กิจกรรม โดยนพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับพรุ่งนี้ (1 ก.ย.64) จะเป็นการผ่อนคลายมาตรการกิจการและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ แต่ไม่มีการเปลี่ยนสีของพื้นที่ ยังเป็นในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดจำนวน 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด ขอย้ำว่าพื้นฐานสำคัญคือ ต้องรักษามาตรการส่วนบุคคล เพราะโควิดจะยังไม่หายไปจากชีวิตของเรา หรือหายไปจากโลก แม้ว่าหลายประเทศจะมีการฉีดวัคซีนไปมาก ก็ยังพบการแพร่ระบาด จึงจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยส่วนของภาครัฐได้มีการเร่งกำหนดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริง โดยพิจารณาอย่างรอบคอบ และกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ส่วนภาคเอกชน ก็จะมีมาตรการดูแลให้ปลอดภัย สะอาดทั้ง สภาพแวดล้อม สถานที่ ให้อากาศถ่ายเท และฆ่าเชื้อ ด้านผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ หรือยังไม่ได้ตรวจ ATK สามารถเปิดกิจการได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการส่วนบุคคล DMHTT ในการควบคุมดูแล และผู้ใช้บริการก็ยังไม่ต้องแสดงบัตรหรือใบรับรองที่ได้รับวัคซีนในช่วงเดือน ก.ย.นี้ โดยคาดว่าในเดือนหน้าจะมีการกำหนดมาตรการและมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ชัดเจนและนำไปใช้ ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาลทุกเวลาทุกสถานที่ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยจากการควบคุมโรควิธีใหม่
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงรายงานการติดเชื้อโควิด19 ว่า วันนี้ยอดผู้ติดเชื้อจำนวน 1.4 หมื่นคน เสียชีวิตจำนวน 190 คน นับว่าเป็นครั้งแรกที่ต่ำว่า 200 คน โดยอัตราส่วนการเสียชีวิตยังคงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง รวมคิดเป็น 88% แบ่งเป็นเพศชาย112 คน มากกว่าเพศหญิงที่พบ 78 คน ช่วงอายุเฉลี่ย 73 ปี(30-96 ปี) และปัจจัยเสี่ยงสูงที่พบว่าทำให้เสียชีวิตคือ ความดันโลหิตสูงจำนวน 94 คน เบาหวาน 60 คน ไขมันในเลือด 51 คน โรคอ้วน 18 คน เป็นต้น ซึ่งพบส่วนใหญ่มาจากการติดเชื่อในพื้นที่ 183 คน มาจากคนรู้จัก 93 คน ในครอบครัว 9 คน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกคนจะต้องระวังตัวปฏิบัติตามาตรการแม้จะอยู่ในบ้าน
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่จำนวน 1.71 แสนคน หายป่วย 1.9 หมื่นคน รวมหายป่วยสะสม 9.94 แสนคน ซึ่งดูจากแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในภาพรวมทั้งประเทศนั้นค่อยๆลดลง และผ่านพ้นจุดสูงสุดที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 2 หมื่นคน สอดคล้องกับการคาดการณ์และผลการใช้มาตรการว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่คนถัดไปจะลดลง 20-25% ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 7,028 คน โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลจะสูงกว่าอยู่ที่ 7,327 คน โดย 10 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดยังคงเป็น กรุงเทพฯจำนวน 3,963 คน รองลงมาคือ สมุทรปราการจำนวน 1,402 คน สมุทรสาครจำนวน 983 คน ชลบุรีจำนวน 745 คน ราชบุรีจำนวน 490 คน นนทบุรีจำนวน 488 คน และต่ำกว่า 500 คนต่อวัน ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา นครปฐม และสงขลา
“สำหรับรายงานการฉีดวัคซีนวันนี้เพิ่มขึ้นจำนวน 8.17 แสนโดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 3.83 แสนโดส เข็มที่ 2 จำนวน 4.3 แสนโดส ในจำนวนนี้มีการฉีดแอสตร้าเซเนก้าไปกว่า 3.91 แสนโดส และเข็มที่ 3 จำนวน 3,623 โดส แยกเป็นไฟเซอร์จำนวน 2,807 โดส รวมยอดการฉีดสะสม 31 ล้านคน แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23 ล้านคน เฉลี่ยความครอบคลุม 32.5% ไปสู่เป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% หรือประมาณ 50 ล้านคนของที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เข็มที่ 2 จำนวน 7.7 ล้านคน เฉลี่ย 10.8% ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แยกเป็นในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมและเข้มงวดสูงสุดครอบคลุมไปกว่า 69.4% โดยกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 97.3% รองลงมาคือปทุมธานี 67.4% สมุทรสาคร 61% ส่วนอีก 64 จังหวัดเฉลี่ยอยู่ที่ 36.2% รวมทั้งประเทศ 44.7% ขณะที่ในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังเฉลี่ยอยู่ที่ 42% หญิงตั้งครรภ์ 7.9%” นพ.เฉวตสรร ระบุ
นพ.เฉวตสรร เพิ่มเติมว่า ในภาพรวมการฉีดวัคซีนของอาเซียนข้อมูล ณ 30 ส.ค.64 รวม 250 ล้านโดส โดยอินโดนีเซียมีการฉีดวัคซีนสูงสุดจำนวน 97 ล้านโดส รองลงมาคือ มาเลเซียจำนวน 34 ล้านโดส ฟิลิปปินส์จำนวน 31 ล้านโดส และไทย 30.9 ล้านโดส นับว่าทุกประเทศได้ให้ความสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโควิด19 ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะปลอดภัย เพราะทุกประเทศต้องมีการเดินทางติดต่อกัน
เมื่อถามถึงกรณีการพบโควิด19 สายพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า C.1.2 ที่จีนและอังกฤษ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะมีกลายพันธุ์ ซึ่งทุกประเทศก็มีการเฝ้าระวังเป็นอย่างดี แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการตรวจพบสายพันธุ์ C.1.2 ส่วนความรุนแรงของเชื้อหรือการอัตราความเร็วในการแพร่ระบาด การดื้อต่อการรักษา ดื้อต่อวัคซีน ยังคงเป็นการติดตามเฝ้าระวังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จึงอยากให้มั่นใจในระบบการเฝ้าระวัง จากการตรวจโฮจีโนม ซีเควนซิ่ง เพื่อดูพันธุกรรมของสายพันธุ์เชื้อไวรัสประมาณ 500 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ และจากการติดตามเมื่อทราบแหล่งที่มาของการพบสายพันธุ์ใหม่จากประเทศใด ก็จะสุ่มตรวจผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนั้น รวมไปถึงการสุ่มตรวจทั่วประเทศร่วมด้วย ดังนั้นสายพันธุ์หลักที่ตรวจพบในประเทศขณะนี้ยังคงเป็น สายพันธุ์เดลต้า 93%
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |