ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 แกนนำพันธมิตรฯ ไม่รอลงอาญา คดีไล่รัฐบาลสมัคร


เพิ่มเพื่อน    

31 ส.ค.64 -  ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.3973/2558 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมดาวกระจายปี 2551 ขับไล่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น  ซึ่งเป็นคดีที่พนักอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ ฟ้องอดีตแกนนำ พันธมิตรฯ 9 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี ร่วมกันเป็นจำเลย 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดฯ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216

กรณีเมื่อปี 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้รวมตัวกันต่อต้านและขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น คดีนี้ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2560 ให้ยกฟ้อง พล.ต.จำลอง จำเลยที่ 1 นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 6  ส่วนนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์  นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี จำเลยที่ 7-9 มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215  แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งเจตนาคดี และเหตุผล ประกอบอายุประวัติ อาชีพ ความประพฤติการศึกษา อบรม และสุขภาพของจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นควรรอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี

ต่อมาวันที่ 30 ม.ค.2562 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยเห็นว่า จำเลยที่ 7-9  ไม่มีความผิด จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องทั้งสามด้วย

อัยการโจทก์ยื่นฎีกา  ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 9 คน

ด้านนายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ได้มีความกังวลใดๆ อายุขนาดนี้แล้ว หากศาลยกฟ้องก็กลับบ้าน  ถ้าลงโทษไม่รอลงอาญาก็เข้าคุก คดีนี้ผ่านมา 3 ศาลแล้ว จะมีข้อยุติอย่างไร ก็ต้องรอดูคำพิพากษาของศาล และคิดว่าจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญของการเคลื่อนไหว ของประชาชนในการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพราะทั้ง 9 คนได้เชื่ออย่างสุจริตใจว่าตนเองทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการหยุดใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของรัฐบาลและรัฐสภาในขณะนั้น มีการใช้สิทธิ์การชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ แต่ฝ่ายโจทก์ระบุว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับทางอาญาในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการยืนยันว่ารัฐธรรมนูญเมื่อประชาชนใช้สิทธิทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ รัฐธรรมนูญปกป้องคุ้มครองได้ระดับไหน และขอบเขตระหว่างรัฐธรรมนูญกับการทำผิดทางอาญาเป็นอย่างไร คดีนี้จะเป็นอีกคดีที่ชัดเจนคดีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงสถานการณ์ปัจจุบันการใช้สิทธิ์ในการชุมนุมมันบานปลายคล้ายว่า ทำให้เกิดความรุนแรง และภายใต้คำพูดว่าเป็นการกระทำอย่างสงบปราศจากอาวุธ ถ้าเทียบกับบรรทัดฐานของพันธมิตร น่าจะชัดเจนว่าขอบเขตมันต่างกัน พฤติการณ์ต่างกัน ดังนั้นการตัดสินคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานการต่อสู้คนรุ่นหลังด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจำเลยคนอื่นก็เริ่มทยอยเดินขึ้นไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ต่อมาเวลา 11.15 น. ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยว่า คดีที่อัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ อ.1877/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1878/2558 หรือไม่ เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการกดดันให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ลาออก ซึ่งโจทก์ฟ้องเป็นหมายเลขแดงที่ อ.1877/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1878/2558 ไปแล้วกับความผิดในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 215 ดังนั้นจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 อีก ถือว่าเป็นคดีที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้จึงเป็นการฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย 

ส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้น ได้แก่ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี เห็นว่า ได้ขึ้นปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล นอกจากนี้จำเลยที่ 7 ยังเดินทางไปชุมนุมปิดถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา ส่วนจำเลยที่ 8 นำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย การกระทำของจำเลยที่ 7-9 เป็นการร่วมชุมนุมที่มีการปิดกั้นการจราจร จึงพิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 7-9 เป็นการมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 116  ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 116 อนุ 2 และอนุ 3 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกคนละ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จังได้ควบคุมตัวจำเลยที่ 7-9 ไปยังเรือนจำ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งถึงที่สุดแล้ว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"