"บิ๊กโบ้" เผยได้คุยกับ BRN ตัวจริงมีศักยภาพก่อเหตุ แต่ไม่ทำเพราะไม่ต้องการใช้ความรุนแรง กำลังหาทางออกร่วมกับรัฐบาล หนุนทำเซฟตีโซน กำหนดแล้วพื้นที่ใดบ้างแต่ต้องแจ้งนายกฯ ก่อน เตรียมพื้นที่ 3-4 เดือน หวังอนาคตแปรเป็นศูนย์สันติภาพต่อไป
พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า การพูดคุยไม่เคยหยุดชะงัก แต่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยก็ตาม คณะพูดคุยได้ใช้เวลาในปี 2560 เกือบทั้งปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสพูดคุยกับหัวหน้ากองกำลัง BRN จึงทราบว่าในกลุ่มขบวนการก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง
"ยังมีผู้ที่คิดว่าต้องแสดงศักยภาพให้สังคมรู้ว่าเป็นตัวจริง เขายืนยันว่ามีศักยภาพ แต่ที่ไม่ทำเพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และกำลังพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน"
พล.อ.อักษรายังกล่าวว่าเห็นด้วยกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน คือนอกจากจะปลอดภัยจากการก่อการร้ายแล้ว ยังปลอดภัยจากปัญหาภัยแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ยาเสพติด เป็นต้น โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสักขีพยานเมื่อเริ่มดำเนินการแล้ว
สำหรับในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยนั้น หัวหน้าคณะพูดคุยระบุว่า ปัจจุบันทั้ง Party A และ Party B รวมทั้งผู้อำนวยความสะดวกได้รับทราบร่วมกันแล้วว่าเป็นพื้นที่ใด แต่ต้องนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบก่อน หลังจากนั้นจึงอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่ ซึ่งจะใช้เวลา 3-4 เดือนเพื่อดำเนินการตามข้อกังวลของกลุ่มผู้เห็นต่าง ทั้งในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ มาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคล และความพร้อมของผู้ที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการภายใต้ศูนย์ประสานงาน หรือ Safe House นั่นเอง
ที่ปรึกษานายกฯ เผยว่าเมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม ผู้อำนวยความสะดวกจะร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดศูนย์ประสานงาน (Safe House) และประกาศให้สังคมได้รับทราบว่าเป็นพื้นที่อำเภอใด เพื่อให้ประชาชนและนักวิชาการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่นั้นต่อไป
"ในอนาคตศูนย์ประสานงานแห่งนี้ก็จะแปรสภาพเป็นศูนย์สันติภาพ เพื่อให้สามารถดูแลความปลอดภัยในทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง" พล.อ.อักษรากล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ครั้งที่ 1/2561 ว่า ตนในฐานะที่รับผิดชอบภาคใต้ทั้งหมด จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคใต้มาคุย โดยในปี 2561 มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว แต่ได้เปลี่ยนแปลงงบประมาณใหม่ทั้งหมด 10 แผนงานโครงการ วงเงินประมาณ 120 ล้านบาท
เขากล่าวว่า ประชุมวันนี้เพื่อพิจารณาจัดเตรียมงบประมาณปี 2562 จำนวน 35,000 ล้านบาท และการจัดทำงบประมาณ 5 ปีในระหว่างปี 2560-2564 จำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยปี 2562 เป็นการรวบรวมข้อมูลกระทรวง ทบวง กรมที่จะพัฒนาภาคใต้ แล้วเสนอความต้องการของงบประมาณไว้ และกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่งในการประชุมวันที่ 25 ม.ค.เพื่อปรับแผนงานให้สอดรับกับการพัฒนาภาคใต้ ทั้งนี้เมื่อมีการปรับตัวเลขงบประมาณที่ชัดเจนแล้ว จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาซึ่งเน้นในเรื่อง 1.การท่องเที่ยว 2.การเกษตร 3.การประมง และ 4.ทรัพยากรน้ำ
เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ภาคใต้ พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การแก้ไขความยากจนเน้นรวมอยู่ในการเกษตร เพราะไม่อยากเห็นการพัฒนาภาคใต้แค่เรื่องการท่องเที่ยวและสาธารณูปโภคเท่านั้น อยากเห็นการพัฒนาเพื่อลงไปสู่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่รวมอยู่ในภาคการเกษตรด้วย ส่วนโมเดลการแก้จนขณะนี้ยังไม่มีการกำหนด เพราะอยากมองการพัฒนาเป็นภาพรวมทั้งภาคมากกว่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |