ครม.ขยายกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 77,785 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ในพื้นที่ 29 จังหวัด อนุมัติวงเงิน 2,909 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก 1,766 โครงการ ในพื้นที่ 10 จังหวัด "แบงก์ชาติ" ลุยเปิดเว็บไซต์ “หมอหนี้เพื่อประชาชน” เพิ่มช่องทางช่วยเหลือลูกหนี้ เจาะกลุ่มรายย่อย-เอสเอ็มอี “สรรพากร” ปัดต้อน "ร้านคนละครึ่ง" จ่ายภาษี
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 30 สิงหาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติขยายกรอบวงเงินเพิ่มจำนวน 44,314.0550 ล้านบาท เป็นจำนวน 77,785.0600 ล้านบาท จากเดิม 33,471.0050 ล้านบาท สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัด รวม 9,385,930 คน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 7,949,759 คน อัตราการให้ความช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน
ทั้งนี้ จากการขยายระยะเวลาให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 1-24 สิงหาคม และพื้นที่ 16 จังหวัด ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 4-24 สิงหาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งขยายการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 2,909,015,572 บาท สำหรับดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3 จำนวน 1,766 โครงการ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน 29,765 คน และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,535,704 คน หรือไม่น้อยกว่า 8,354 ครัวเรือน รวมทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านและชุมชนด้วย
ทั้งนี้ 1,766 โครงการ ครอบคลุม 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.กลุ่มพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการและการค้า จำนวน 2 โครงการ 2.กลุ่มยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร จำนวน 28 โครงการ 3.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 14 โครงการ และ 4) กลุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน จำนวน 1,722 โครงการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,766 โครงการ
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันจัดตั้ง "โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน" อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางให้คำแนะนำความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.2564 เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และข้อแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้อย่างครบวงจรทั้งในส่วนของลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยลูกหนี้จะได้รู้วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ การเตรียมตัวก่อนพบเจ้าหนี้ ได้รับคำแนะนำ และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ ที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งได้สำรวจธุรกิจตัวเองเพื่อปรับแผนธุรกิจได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่จะร่วมโครงการแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มลูกหนี้รายย่อย สามารถเรียนรู้แก้ไขปัญหาหนี้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ เพื่อหาข้อมูลแก้ไขปัญหาหนี้ ประเมินสุขภาพทางการเงิน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยตอบคำถามต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือเชิงลึก ให้ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งจะขอข้อมูลรายละเอียดธุรกิจ การเงิน และภาระหนี้ เมื่อลงทะเบียนสำเร็จก็จะได้รับการติดต่อให้ไปพบหมอหนี้ภายใน 5-7 วัน
"ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถติดต่อขอคำแนะนำเชิงลึกเพิ่มเติมจากทีมหมอหนี้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. (บสย. FA Center) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" นางธัญญนิตย์กล่าว
ด้านนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงกรณีที่มีสื่อออนไลน์รายงานว่านายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ระบุมีข้อกังวลเรื่องภาษีของผู้ค้าขาย เนื่องจากกรมสรรพากรส่งแบบประเมินภาษีปี 2563 ให้พ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล เช่น คนละครึ่ง แต่ได้รับในปี 2564 ทำให้เข้าใจผิดว่าถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังว่า ยืนยันว่าการที่กรม ส่งหนังสือไปแจ้งเตือนผู้ประกอบการ ไม่ได้มีเป้าหมายจะเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลโดยเฉพาะแต่อย่างใด โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแจ้งเตือนผู้ประกอบการว่าท่านมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ เท่านั้น และไม่ได้เป็นการประเมินภาษีแต่อย่างใด
นางสมหมายกล่าวว่า ในการประกอบกิจการในปี พ.ศ.2563 ผู้ประกอบกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการของรัฐหรือไม่ หากผู้ประกอบการมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็มีหน้าที่ต้องนำรายได้มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 มี.ค.2564 ซึ่งกรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย.2564 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการ
“กรมสรรพากรได้ทำการส่งจดหมายแจ้งเตือนผู้เงินได้ให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่ให้หลงลืม เพื่อผู้ประกอบการจะได้ไม่มีภาระเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม กรณียื่นแบบภาษีเงินได้ล่าช้ากว่ากำหนด โดยการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการประเมินตัวเองของผู้ประกอบการ ซึ่งมีหน้าที่นำรายได้ที่ได้รับจากการประกอบการกิจการมายื่นเสียภาษีตามข้อเท็จจริง" นางสมหมายกล่าว
อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรได้พัฒนากระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการจดทะเบียน ยื่นแบบภาษี ชำระภาษี และคืนภาษี ทุกขั้นตอนผ่านระบบ Tax from Home ซึ่งเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร w ww.rd.go.th.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |