จับตาดาวเด่นปี 64 จาก“วิกฤตโควิด”สู่“โอกาสทางธุรกิจ”


เพิ่มเพื่อน    

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าที่ผ่านมา “รัฐบาล” จะพยายามออกมาตรการตั้งแต่เบาไปจนหนัก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในหลายระลอก ก็เหมือนว่ายังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็นมากนัก โดยเฉพาะการระบาดระลอกปัจจุบัน เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ในขณะนี้เรียกว่ายังอยู่ใน “ขั้นวิกฤต” จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังอยู่ในระดับ 1-2 หมื่นคนต่อวัน สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบและกดดันทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างความวิตกกังวลและบั่นทอนความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน


กระทรวงการคลัง เองก็ยอมรับว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ทำให้ภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยพลิกกลับมาเป็นภาพโทนอ่อนตัวลงมากขึ้น หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มการติดเชื้อที่สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/2564 และเร่งตัวขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.2564 ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และนั่นเองเป็นเหตุผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลงไปค่อนข้างมาก


โดย “ความหวัง” ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย ยังขึ้นอยู่กับ การฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ และลดอัตราการเสียชีวิต ทั้งหมดนั้นน่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติ ประชาชนสามารถกลับมาทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่ภาคธุรกิจก็สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ อีกทั้งยังสามารถเตรียมตัวเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกด้วย ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็อาจจะมีโอกาสที่ได้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2565 กลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 4-5%
    

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก ภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เพราะมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จากภาครัฐ เริ่มจากการปิดการท่องเที่ยว ตามด้วยมาตรการล็อกดาวน์ และปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทชั่วคราว ทำให้ต้องปิดโรงงาน และส่งผลกระทบต่อซัพลายเชนการผลิต และกิจกรรมการค้าต่างๆ ผลกระทบเป็นลูกโซ่ได้ถูกส่งต่อไปยังภาคการบริโภคของประชาชนในท้ายที่สุด
    

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุด มีรายได้ลดลงค่อนข้างมากถึง 30-50% นั่นคือ ภาคบริการ ได้แก่ ธุรกิจการบิน โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมสันทนาการที่ต้องแบกรับผลกระทบมายาวนานกว่า 1 ปี ขณะเดียวกันก็ยังมีอุตสาหกรรมบางส่วนที่มีความแข็งแกร่งและได้รับผลกระทบน้อย เช่น อาหาร และโทรคมนาคม
  

 ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นภาพของหลากหลายผู้ประกอบการ ในหลากหลายภาคธุรกิจต่างก็เร่งปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ เพื่อรักษาและประคองสถานะของธุรกิจให้ยังคงไปจนผ่านพ้นช่วงของการระบาด
    

นั่นเพราะวิธีการ วิธีคิด และแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ อาจไม่สามารถตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่มีปัจจัยเรื่องโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมากดดัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะส่งผลให้การใช้ชีวิตของประชาชนตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาด ไปจนถึงช่วงหลังที่การแพร่ระบาดคลี่คลายไปแล้วเปลี่ยนแปลงไปแทบจะสิ้นเชิง จากการก้าวสู่การใช้ชีวิตแบบวิถีปกติใหม่ (New Normal) สู่การใช้ชีวิตแบบวิถีปกติถัดไป (Next Normal) ผู้คนจะเคยชิน หรือถูกทำให้ชินกับการใช้ชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม
    

ตรงนี้จึงกลายมาเป็น “โจทย์สำคัญ” สำหรับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ ให้ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ประยุกต์วิธีการในการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ต่างปรับตัวเป็นจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่หันมาขายสินค้าแบบออนไลน์ มีการบริการในรูปแบบออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้มากขึ้น
    

แต่ก็ต้องยอมรับว่า อาจจะมีผู้ประกอบการในหลายภาคธุรกิจจะยังไม่พร้อม หรือมีหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดและมาตรการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรในช่วงนี้ได้มากนัก
    

สำหรับธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในภาวะวิกฤตโควิด-19 ระบาดก็มีให้เห็นเป็นดาวเด่นอยู่พอสมควร โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา “วรสินี เศรษฐบุตร” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ ได้เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “3 ธุรกิจดาวรุ่ง” ในยุคโควิด-19 ที่น่าจับตามอง ได้แก่ ธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ด้านการถอดรหัสพันธุกรรม (จีโนมิกส์) เป็นการรักษาเจาะลึกถึงระดับยีน ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนและหลากหลายของมนุษย์ โดยเฉพาะการยกระดับใน 3 ด้านสำคัญ คือ การรักษาแบบเฉพาะบุคคล การคาดการณ์ การวินิจฉัย และการออกแบบการรักษา ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมาก เพราะธุรกิจนี้ได้กลายมาเป็นความหวังใหม่ในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรกว่าพันล้านคนให้มีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
    

อีกธุรกิจที่เรียกว่ารุ่งเรืองไม่แพ้กัน คือ “เกมออนไลน์” เรียกว่าเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังจากเกิดการพัฒนาของสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความนิยมของการเล่นเกมผ่านมือถือเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนสามารถจัดแข่งขันเป็นกีฬาสากล (E-Sport) ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนเทียบเท่า 30% ของจีดีพีไทยเลยทีเดียว โดยปัจจุบันกลุ่ม E-Sport สามารถเล่นได้ผ่าน 3 อุปกรณ์หลัก คือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องคอนโซล และโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ คือ ตลาดโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีรูปแบบรายได้ที่น่าสนใจ
    

อีกธุรกิจดาวรุ่งคือ “หุ้นวัฏจักร” ที่ราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน เป็นต้น โดยประเทศที่เศรษฐกิจมีความผันผวนต่อวัฏจักรเศรษฐกิจมาก เช่น กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็มักจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มที่พัฒนาแล้ว
    

ขณะที่ “กระทรวงพาณิชย์” ได้ออกมาฉายภาพ 12 ธุรกิจสุดโดดเด่นน่าจับตามองในปีนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตในยุค New Normal และ Next Normal นั่นคือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขอนามัย และธุรกิจเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท
  

 “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.พาณิชย์ ระบุว่า ปี 2564 การดำเนินชีวิตของผู้คนและการประกอบธุรกิจได้ก้าวไปอีกขั้นจากวิถีปกติใหม่ (New Normal) เป็นวิถีปกติถัดไป (Next Normal) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองในปีนี้ โดยได้ทำการวิเคราะห์จากข้อมูลทางธุรกิจของกรม ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ สถานที่ตั้ง งบการเงิน ผลประกอบธุรกิจ และข้อมูลทางธุรกิจและเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกรม ร่วมกับความสอดคล้องจากข้อมูลและผลการศึกษาจากหน่วยงานวิจัยด้านธุรกิจอื่นๆ เช่น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น
    

ทั้งนี้ พบว่า 12 ธุรกิจดาวเด่นที่น่าสนใจในปี 2564 ได้แก่ 1.ธุรกิจการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) 2.ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์ 3.ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ 4.ธุรกิจรับ-ส่งเอกสารและสิ่งของ 5.ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์
  

6.ธุรกิจออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 7.ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม 8.ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ 9.ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ 10.ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application 11.ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment สุดท้าย 12.คือธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ เป็นต้น
    

และหากจำแนกกลุ่มธุรกิจ จะพบว่า กลุ่มธุรกิจด้านการค้าและการตลาดออนไลน์ ได้แก่ ธุรกิจการค้าออนไลน์ ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์ และธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์นั้น มีการเติบโตที่สอดคล้องและเกื้อหนุนกับพฤติกรรมของผู้ริโภคในปัจจุบันที่มีการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ในปี 2561 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่อยู่ที่ 310 ราย เพิ่มเป็น 798 รายในปี 2563
    

ส่วนธุรกิจด้านขนส่ง โลจิสติกส์ และบรรจุภัณฑ์ เช่น ธุรกิจรับ-ส่งเอกสารและสิ่งของ ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ และธุรกิจออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมการบริโภคในการซื้อและขายสินค้าทางออนไลน์ ขณะที่กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ สุขอนามัยและการแพทย์ เช่น ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมของคนในสังคมที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพและการแพทย์มากขึ้น
  

 อีกกลุ่มธุรกิจอย่าง ธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application ธุรกิจ Fintech และ e-Payment ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงินและเครื่องเติมน้ำ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ตอบสนองต่อการบริโภคในสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกและพัฒนาการให้บริการต่างๆ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สังเกตจากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก
    

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าในปี 2564 การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น โดยต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
    

“ผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ และกำลังมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่ง 12 ธุรกิจดังกล่าวข้างต้นนั้นน่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดก็เป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องมีความรอบคอบให้มากที่สุด” วีรศักดิ์กล่าว
  

 ส่วนคำถามที่ว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 จะทำธุรกิจอะไรดี เพราะคงมีหลายคนที่ว่างงาน หลายคนที่กำลังหางานทำ และหลายคนที่กำลังคิดว่าจะปรับตัวในการทำธุรกิจอะไรเพื่อความมั่นคงในอนาคต เรื่องนี้ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)” มีคำแนะนำดีๆ มาฝาก โดยธุรกิจที่น่าสนใจคือ “ธุรกิจเพื่อสุขภาพ” เทรนด์ธุรกิจหลังโควิด-19 ที่จะมาแน่ๆ คือ เทรนด์สุขภาพ ซึ่งหลายคนคงนึกถึงธุรกิจอาหารเสริมเป็นส่วนใหญ่ และมองว่าต้องใช้เงินลงทุนเยอะ แต่อีกธุรกิจเพื่อสุขภาพ อย่าง “ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ” ที่สามารถทำได้ไม่ยาก และไม่ต้องมีเงินตั้งต้นเพื่อลงทุนมากมายนัก โดยอาจจะเริ่มจากการขายในกลุ่มเพื่อน หรือคนใกล้ตัวก่อน เพื่อทำการปรับสูตรให้เหมาะสมและลงตัว
  

 อีกธุรกิจที่น่าสนใจ คือ “ธุรกิจการศึกษาออนไลน์” เพราะยุคนี้ทุกคนต้องการพัฒนาตัวเองในหลายๆ ด้าน เพื่อให้มีความสามารถเพิ่มเติมไปต่อยอดในการทำงานต่างๆ ได้ อีกทั้งผู้คนยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่บ้านกันมากกว่าการออกไปเรียนที่สถาบัน ดังนั้นหากมีแค่คอมพิวเตอร์และไมโครโฟนก็อาจจะสามารถเริ่มทำการสอนได้แล้ว    
    

อีกธุรกิจที่เรียกว่ามาแรงสุดๆ คงหนีไม่พ้น “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือค้าปลีกออนไลน์”  ซึ่งมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 และมีสัญญาณว่าจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นตอนนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเริ่มหันมาค้าขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยอาจจะเลือกสินค้าที่เรามีความรู้และสนใจในตัวสินค้านั้นๆ ส่วนช่องทางการขายที่แนะนำคือ Instagram, Facebook, Amazon, Shopee หรือ Lazada เป็นต้น.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"