กันยายนจะกำหนด ‘จุดหักเห’ ของโควิดในไทย


เพิ่มเพื่อน    

ตัวเลขของ ศบค.ประจำวันว่าด้วยคนติดเชื้อ, คนกลับบ้าน และคนเสียชีวิตเมื่อวาน ดูเหมือนจะส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ “ทรงตัว” และ  “นิ่ง”
    และหากเป็นไปตามคำบอกเล่าของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดือนกันยายนจะเริ่มเห็น “ขาลง” ของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย
    ผมว่าอย่าเพิ่งวางใจเป็นอันขาด
    เพราะเดือนกันยายนจะเริ่มต้นการผ่อนคลายมาตรการเข้มข้นที่ทำมาตลอดเดือนสิงหาคม
    ผลการประเมินของเดือนสิงหาคมยังไม่อาจบอกได้ว่าตัวเลขทุกตัวชี้ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
    เพราะมีปัจจัยหลายตัวที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
    เช่น จำนวนคนติดเชื้อประจำวันของ ศบค.กับกรมควบคุมโรคนั้น ไม่ได้บอกว่าแต่ละวันตรวจเชิงรุกแบบ RT-PCR กี่คน
    เพราะหากตรวจวันละ 50,000-60,000 คน และพบคนติดเชื้อ 16,000-18,000 คน ก็ต้องถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่สูงอยู่
    ขณะเดียวกันเราก็เห็นตัวเลขอีกชุดหนึ่ง อันเป็นผลบวกของการตรวจด้วยชุด ATK หรือ Antigen Test Kit ซึ่งก็ยังไม่แพร่หลาย
    ตัวเลขทุกวันของช่องนี้อยู่ที่หลายร้อยไปถึงหลายพัน ไม่สามารถบอกได้ว่าสะท้อนถึงแนวโน้มเพิ่มมากน้อยเพียงใด
    ถ้ากระทรวงสาธารณสุขแจกจ่ายชุดตรวจ ATK ได้ไวและกว้างขวางขึ้นในเดือนกันยายน รวมถึงประชาชนสามารถหาซื้อมาตรวจเองได้มากขึ้น ประกอบกับมีวิธีการรายงานผลการตรวจด้วยตนเองเข้าระบบข้อมูลที่จะประเมินได้ประจำวัน เราจึงจะเริ่มเห็นภาพของสถานการณ์การระบาดโควิดที่ใกล้เคียงความจริง
    เพราะตราบที่จำนวนคนป่วย “อาการหนัก” ยังอยู่ที่กว่า 5,000 คน และผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจยังอยู่เหนือพันคนทุกวันอย่างที่เห็นในรายงาน ก็แปลว่าสถานการณ์ยังน่ากังวลมาก
    ต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนยังคงอยู่ในภาวะ “ล้น” แม้เราจะได้ยินเสียงบ่นดังๆ จากบุคลาการทางการแพทย์ลดลงบ้าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาหนักหนาสากรรจ์ในโรงพยาบาลทั้งหลายนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
    เป็นเพียงการประคับประคองไม่ให้วิกฤตเกินกว่าจุดที่ผ่านมาเท่านั้น
    เดือนกันยายนจึงเป็น “เดือนหักเห”
    นั่นหมายความว่า หากสามารถควบคุมมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อได้ในระดับที่น่าพอใจหลังจากคลายล็อก
    และหากมีการระดมฉีดวัคซีนกันอย่างจริงจังและกว้างขวาง
    อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขสามารถกระจายการแจกจ่าย ATK ให้ประชาชนได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
    เราอาจจะเห็นการกระเตื้องขึ้นของสถานการณ์ภาพรวมในเดือนกันยายน
    แต่หากมีความพลาดพลั้งในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหากขาดการประสานและบูรณาการกันในกลไกของรัฐและเอกชนที่สำคัญ ก็อาจจะเกิดกรณีของการระบาดระลอก 4 ได้
    และนั่นจะกลายเป็นสถานการณ์ “วิกฤตเรื้อรัง” ทันที
    ดูตัวอย่างของหลายประเทศแม้ที่ฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวาง มากกว่าของไทย ก็ยังต้องเผชิญกับการหวนกลับมาของโควิด-19  อย่างน่ากังวล
    ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา, อิสราเอล, ออสเตรเลีย และยุโรปหลายประเทศ
    จึงน่าสนใจว่า “กลยุทธ์ 5 เดือนข้างหน้า” ของกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่งแถลงไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
    เป็น 5 เดือนของการ “ใช้ชีวิตแนวใหม่อย่างปลอดภัย” และยังประเมินว่าอาจจะจัดหาวัคซีนได้ 124 ล้านโดสในสิ้นปีนี้อีกต่างหาก
    โดยคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนครบสองเข็ม 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ 
    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า แนวโน้มสถานการณ์โดยภาพรวมของประเทศ การติดเชื้อเริ่ม “ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด”
    แต่ก็ยอมรับว่าจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดความประมาท 
    ใน กทม.แนวโน้มผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับกว่า 4 พันรายเป็นสัปดาห์แล้ว 
    แม้ภาพรวมไม่พุ่งสูงขึ้นมากอย่างที่กังวล แต่ก็ยังคงต้องระมัดระวังในส่วนต่างจังหวัด 
    โดยที่ต้องระวังคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ระบาดกลับไปบ้านเยี่ยมญาติ โดยไม่ทราบว่าตนติดเชื้อแล้ว หรือทราบว่าติดเชื้อแต่ขอกลับไปรักษาที่บ้าน.
    (พรุ่งนี้: อะไรคือ Smart Prevention, Living with  Covid?)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"