“อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท” ปรับทัพ NSC ฝ่ามรสุมโควิด            


เพิ่มเพื่อน    

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสําคัญของ NSC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการนําเข้าอาหารทะเลนอร์เวย์จํานวนมาก โดยเฉพาะปลาแซลมอน “สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์” จึงได้วางแผนที่จะส่งเสริมอาหารทะเลนอร์เวย์และสร้างความตระหนักว่านอร์เวย์เป็นประเทศแห่งอาหารทะเลในตลาดไทย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น 

นายอัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เริ่มเล่าว่า ผมเติบโตในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งอยู่เลยเส้นละติจูดที่อยู่เหนือที่สุด แน่นอนว่าการได้อยู่และทํางานในเขตทวีปเขตอากาศอบอุ่นอย่างเอเชีย จึงถือเป็นความฝันของผมมาโดยตลอด เมื่อสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ตัดสินใจย้ายสำนักงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสิงคโปร์มากรุงเทพฯ ผมคิดในใจว่า "งานนี้ต้องเป็นของผมแน่นอน" ซึ่งหลังจากที่เดินทางมาถึงประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2562 เป้าหมายหลักของผมคือการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ให้ดีที่สุดผ่านการสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับพันธมิตรในประเทศไทย 

สำหรับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์มุ่งมั่นที่จะรักษาตําแหน่งผู้นําตลาดในประเทศไทย ผู้บริโภคในประเทศไทยและทั่วโลกนั้นให้ความสนใจกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยของอาหารมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่นอร์เวย์ให้ความสำคัญอยู่เสมอ ตั้งใจผลิตอาหารทะเลที่ปลอดภัย ยั่งยืนและมีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วงเวลานี้ยิ่งต้องเน้นย้ำในจุดนี้มากยิ่งขึ้น  

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ยังได้นําข้อมูลเชิงลึกจากรายงานแนวโน้มผู้บริโภคอาหารทะเลปี 2564 เพื่อให้ทันกับเทรนด์ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาปรับมาทำแคมเปญการตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรค้าปลีกและโปรโมตผลิตภัณฑ์มากขึ้นทางหนึ่งด้วย 

“ผมเชื่อว่าวิกฤติโควิด-19 เป็นสิ่งที่ท้าทายสําหรับทุกคนและส่งผลกระทบต่อผู้คนในทุกภาคส่วน ด้านสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์เอง ก็ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลําบากและไม่แน่นอนที่สุดในโลกเช่นกัน การล็อกดาวน์ส่งผลให้อุตสาหกรรมฯ สูญเสียรายได้จากร้านอาหารและโรงแรม ภาคการขนส่งของเราจำเป็นต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น” 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นการปรุงอาหารที่บ้านและสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรีมากขึ้น NSC ได้มองหาแนวทางที่จะสนับสนุนวิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอลในปัจจุบัน ทำให้อาหารทะเลนอร์เวย์ยิ่งเป็นที่ต้องการมาก รายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเลของนอร์เวย์รวมไปถึงแซลมอน ส่วนใหญ่จึงไปกระจุกตัวอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต บริการเดลิเวอรี และการสั่งอาหารกลับบ้าน คงความเป็นผู้นำในตลาดอาหารทะเลไทยไว้ได้ โดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรด้านธุรกิจ เพื่อปรับตัวและคิดค้นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้แซลมอนนอร์เวย์ยังเป็นที่ต้องการและเป็นวัตถุดิบยอดนิยมตลอดกาลของคนไทย 

นายอัสบีเยิร์นกล่าวอีกว่า เทรนด์การซื้ออาหารในช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์มควิกคอมเมิร์ซอย่างเดลิเวอรีมีความนิยมสูงขึ้น จึงปรับมาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การบริโภคอาหารทะเลในตลาดไทยมาแรงมาก โดยประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกในการซื้ออาหารทะเลออนไลน์ ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคตรงนี้สามารถนำไปต่อยอดได้ในแง่ธุรกิจ เพราะถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น แต่วัฒนธรรมการซื้อของทางออนไลน์จะไม่หมดไป ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ได้จับมือกับพันธมิตร เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล และธรรมชาติซีฟู้ด รวมถึงร้านอาหารชั้นนำมากมาย เพื่อโปรโมตอาหารทะเลคุณภาพสูงจากนอร์เวย์ผ่านช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์มควิกคอมเมิร์ซอย่างแกร็บมาร์ท  

“ส่วนตัวผมแล้วมีคติที่ยึดในการทำงานว่า เราควรลงมือทำ มากกว่าที่จะรอให้สถานการณ์เกิดขึ้นแล้วตอบสนองกับมัน” ต้องวิเคราะห์สถานการณ์อย่างสม่ำเสมอและเลือกทางแก้ปัญหา หรือการตอบสนองที่ดีที่สุด เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จากประสบการณ์ของผม ทัศนคติแบบ "รอและคอยดูไปเรื่อยๆ” อาจพาไปสู่จุดหมาย อาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน หรือแม้กระทั่งเป็นปี ซึ่งอาจจะสายเกินไป ดังนั้น เราควรตัดสินใจเริ่มต้นลงมือทำและทําสิ่งต่างๆ ให้สําเร็จลุล่วงไปเลย ไม่ต้องรอ” นายอัสบีเยิร์นกล่าวปิดท้าย.  

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"