เพจดังแฉรายวันนาฬิกาเรือนที่ 23 ของ "ประวิตร" จิ๊บๆ แค่ 2.3 ล้านบาท “บิ๊กฉัตร” รีบโบ้ยไม่รู้แชร์นาฬิกาหรู “มาร์ค” ได้ทีขย่ม ยกยุคตนบริหารรัฐมนตรีแค่มีข่าวฉาวก็ไขก๊อกเพราะไม่อยากเป็นภาระรัฐบาล “สุรชัย” หนุน สนช.ยื่นตีความกฎหมายลูก ป.ป.ช. “บิ๊กกุ้ย” แอ่นอกยินดี 100% ลั่นพร้อมเซย์กู๊ดบาย
เพจเฟซบุ๊ก CSI LA ยังคงเกาะติดนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันจันทร์ได้โพสต์นาฬิกาเรือนที่ 23 พร้อมรูป พล.อ.ประวิตรเป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของกระทรวงกลาโหม ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 5 พ.ย.57 แด่พระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดอนงคารามวรวิหาร แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ว่าเป็น Patek Philippe รุ่น Complications รหัส 5396/1G-001 ทำจากทองคำของ 18K ราคาตลาดอยู่ที่ 2.3 ล้านบาท
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า ในวงการทหารและนักธุรกิจระดับสูงมีการลงทุนและเล่นแชร์นาฬิกาสลับกันใส่ จึงทำให้ พล.อ.ประวิตรมีนาฬิกาใส่หลายเรือนว่า ไม่ทราบจริงๆ แชร์อะไร เพราะไม่ได้ไปเล่นแชร์ด้วยเลยไม่ทราบเรื่อง
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในรายการต้องถามในเรื่องนี้ว่า ไม่มีอะไรซับซ้อน โดยก่อนอื่นต้องพิสูจน์ว่านาฬิกามีอยู่จริงหรือไม่ ถ้าจริงต้องอธิบายว่าเป็นของใคร และถ้ามั่นใจในคำชี้แจงก็ไม่มีอะไรเสียหายที่จะบอกต่อสาธารชน แต่ที่น่าเป็นห่วง คือตอนนี้เรื่องยืดเยื้อและประชาชนไม่พอใจ และจะลามไปถึงนายกฯ เพราะเป็นเรื่องอื้อฉาวที่กระทบต่อภาพลักษณ์
“ถ้ายังจำกันได้ในสมัยที่ผมเป็นรัฐบาล เพียงแค่เกิดเรื่องราวขึ้นยังไม่ได้พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต รมว.สาธารณสุข หรือนายวิฑูรย์ นามบุตร อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังขอลาออก เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งผมจำคำพูดของนายวิทยาบอกได้ว่าไม่อยากเป็นภาระของรัฐบาล” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการตรวจสอบนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่มีระเบียบและทำตามกฎหมายอยู่แล้วว่าต้องดำเนินการอย่างไร ขณะนี้ พล.อ.ประวิตรยังไม่ได้ชี้แจงอะไรมายัง ป.ป.ช. ทั้งนี้เลขาธิการ ป.ป.ช.ได้มารายงานกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว 2 ครั้ง แต่รายละเอียดเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีดุลยพินิจในพิจารณา
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ต้องละเอียดรอบคอบ ครบถ้วนทุกประเด็น ขณะนี้มีภาพนาฬิกาหรูมากกว่า 20 เรือนที่ปรากฏออกมาทางสื่อต่างๆ ป.ป.ช.ต้องไปหารายละเอียดในข้อมูลที่ได้มาเพิ่มเติม ส่วนเรื่องกรอบเวลานั้นมีแนวทางอยู่แล้ว หากมีเหตุผลความจำเป็นเจ้าหน้าที่ก็นำมาเสนอต่อ ป.ป.ช. ส่วนที่มีผู้เสนอขอให้ยุติการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตรก่อนนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะไปพิจารณาในประเด็นนี้ ขณะนี้เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น
ศรีสุวรรณร่อนหนังสือบี้
วันเดียวกันที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... ในมาตรา 185 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากนำไปบังคับใช้จะก่อให้เกิดปัญหาในระบบนิติธรรมตามมา เนื่องจากกรณีที่ไม่รีเซตกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งที่กรรมการบางคนมีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 เช่น พล.ต.อ.วัชรพล เนื่องจากเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง
นายศรีสุวรรณกล่าวด้วยว่า หากนายกฯ ไม่ดำเนินการตามคำร้องจะถือว่าเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยจะดำเนินการตามช่องทางต่อไป รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่โหวตเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวถือว่ากระทำการเอื้อประโยชน์ต่อกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดเหมือน ส.ส.ที่โหวตผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งจะยื่นเอาผิดด้วย
ส่วนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวถึงการเข้าชื่อของ สนช.เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ที่ยกเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ต่อตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอแนะว่า ไม่ทราบรายละเอียดเป็นเพียงความเห็นของสมาชิก สนช.บางส่วนที่เห็นว่าน่าจะยื่นให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ จะได้เป็นแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะคำวินิจฉัยในกรณีผู้ว่าการตรวจแผ่นดินไม่ครอบคลุมไปถึงเรื่องลักษณะต้องห้าม
“ส่วนตัวเห็นว่าหากสังคมสงสัยแล้วสามารถทำให้ข้อสงสัยได้ข้อยุติก็จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย รวมถึงต่อการทำงานของ ป.ป.ช.ในอนาคตเพื่อไม่ให้มีข้อครหา แต่ควรแก้ไขก่อนที่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจะได้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และเดินหน้าต่อไปได้” นายสุรชัยกล่าว
นายสุรชัยยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวสมาชิก สนช.ต้องพูดคุยกันเอง และควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่ประธาน สนช.จะเสนอร่างกฎหมายให้นายกฯ โดยสมาชิกจะยื่นผ่านประธาน สนช.หรือดำเนินการเองก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเมื่อผ่าน 15 วันในขั้นตอนการโต้แย้งแล้ว ประธาน สนช.ต้องเสนอร่างกฎหมายต่อให้นายกฯ ภายในกี่วัน ดังนั้นในระหว่างนี้ถ้าสมาชิก สนช.ยังติดใจก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่จะเข้าชื่อกันจำนวน 25 คนขึ้นไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
ขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวเรื่องนี้ว่า แทบไม่อยากแสดงความคิดเห็นอะไร เพราะการให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อหรือไม่ของคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ไม่มีมาตรฐาน ทุกอย่างกลายเป็นดุลยพินิจของ สนช.ว่าจะอย่างไร แต่เมื่อมีคนติดใจและหากยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงสร้างความลำบากใจ กระอักกระอ่วนพอสมควร ซึ่งศาลคงต้องคิดให้ตกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะมีคนในองค์กรมีส่วนได้ส่วนเสียพัวพันไปด้วย
“เรื่องการให้อยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ถ้ายึดหลักการมากกว่าตัวบุคคลจะพิจารณาได้ง่าย คนที่เขียนบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญควรตัดสินใจว่า เมื่อกำหนดมาตรฐานใหม่แล้วให้ใช้ทันทีไหม เทียบกับคนมีประสบการณ์จะให้ทำงานต่อไหม ซึ่งน่าจะกำหนดหลักให้ชัดตั้งแต่เขียนบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ยืดอกพร้อมเซย์กู๊ดบาย
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวถึงกรณี สนช.บางส่วนเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. โดยเฉพาะประเด็นการต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช. ว่าไม่กังวล แต่ดีใจ และตัวคณะกรรมการ ป.ป.ช.คงน่าจะดีใจ เพราะถ้ามันยังคลุมเครือเราก็ไม่อยากให้การทำงานในอนาคตมีปัญหา ผู้ที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือนายกฯ ถ้าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก็ดีใจเพื่อจะได้ชัดเจน และในความจริงแล้วกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะได้รับผลกระทบมีแค่ 2 คน คือตนเองและนายวิทยา อาคมพิทักษ์ เท่านั้นในเรื่องลักษณะต้องห้าม ยังเหลือกรรมการ ป.ป.ช.อีก 7 คนที่ยังสามารถทำงานได้อยู่แล้ว หากต้องพ้นเขาก็สามารถทำการสรรหาใหม่ได้ ไม่มีอะไรต้องกังวลเลย
“ยืนยันว่าผมอยากให้ไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะวันนี้มีกรรมการ ป.ป.ช. 2 คนที่เป็นประเด็นคือผมกับนายวิทยา ซึ่งแล้วแต่นักกฎหมายบางคนจะตีความ แต่วันนี้ สนช.ตีความไปแล้วโหวตไปแล้ว ถ้าใครคิดว่าไม่ถูกต้องเพื่อความสบายใจ โดยส่วนตัวอยากให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ 100% หากว่าไปแล้วมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญผมพร้อมพ้นจากหน้าที่ ดีกว่าที่จะทำหน้าที่แล้วทุกคนบอกว่าผมมีสภาพร้ายแรง ทำให้มติมันเสียไป กลายเป็นว่าผมกับนายวิทยาทำให้มติของ ป.ป.ช.ที่ถูกต้องเสียไป ดังนั้นทำให้มันชัดเจนไปเลย แล้วถ้าวันหนึ่งผมพ้นจากตำแหน่งจะขอบคุณเลย มาเซย์กู๊ดบาย แต่ถ้าไม่พ้นจะต้องทำงานหนักกว่าเดิม ทำอย่างไรให้ชัดเจนและโปร่งใส” พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว
เมื่อถามว่าการยื่นตีความครั้งนี้ดูเหมือนพุ่งเป้ามาที่ตัวประธาน ป.ป.ช.เป็นหลัก พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่ายิ่งดีเลย ไม่เคยหวั่นไหว ชอบมากด้วย พูดเสมอและไม่เคยเดินหนีปัญหา ขอให้ว่ากันไปตามข้อกฎหมายอย่างแท้จริง เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่มีปิดบัง พูดตรงๆ พ้นก็พ้น ไม่พ้นก็ทำ และต้องทำให้ดีกว่าเดิมด้วย
ถามต่อว่ากรณีนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ สนช.ที่ให้ความเห็นชอบเรื่องการต่ออายุ ป.ป.ช.เช่นกัน ตรงนี้ยิ่งทำให้เรื่องซับซ้อนมากขึ้นหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลตอบว่า ถ้ามีการยื่นเรื่องมาคงต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายเรื่องที่จะรับไว้หรือไม่ ไม่ใช่ใครมาร้องเราต้องรับหมด มันมีกระบวนการขั้นตอนและรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีกที แต่ในฐานะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้เข้าพิจารณาในมาตราเกี่ยวกับวาระของกรรมการ ป.ป.ช. และคิดว่าเรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของ สนช.ที่ได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว แต่ถ้าจะตีความกฎหมายต่างกันก็ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น
“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติว่า ไม่มีข้อความใดในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงได้ส่งร่างกลับไปให้ สนช.แล้ว ส่วนจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ อยู่ที่หน่วยงานอื่นจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ แต่ ป.ป.ช.ไม่มี” พล.ต.อ.วัชรพลระบุ
วันเดียวกัน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. โดยนายวัชระกล่าวว่าขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่ละเว้นไม่ดำเนินการกับรัฐมนตรีที่ถือหุ้นในบริษัทเอกชน โดยเฉพาะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ที่เจ้าตัวยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ กับหุ้นที่ตัวเองมีส่วนรับผิดชอบ โดยเรื่องนี้ถือเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะสามารถดำเนินการได้
นายวัชระกล่าวว่า อีกเรื่องคือขอให้ ป.ป.ช.พิจารณาพฤติกรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยเฉพาะการต่ออายุให้กรรมการ ป.ป.ช. ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าถ้าพรรคเพื่อไทยมีความผิดในกรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สนช.จะมีความผิดแบบเดียวกันหรือไม่ เพราะเป็นการอนุมัติในลักษณะเดียวกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |