โควิดขาลง หายป่วยพุ่ง อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยภาพรวมการระบาดชะลอตัว กทม.ไม่เพิ่ม ข่าวดีไฟเซอร์แจ้งแบบไม่เป็นทางการ ปลายเดือนก.ย.ส่งวัคซีนให้ 2 ล้านโดส คาดจนถึงสิ้นปีนำเข้าวัคซีนได้ตามแผน 100 ล้านโดส
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,984 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 17,653 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,559 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,094 ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 324 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย
ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,157,555 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 20,535 ราย ยอดรวมหายป่วยสะสม 964,319 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 182,357 ราย อาการหนัก 5,109 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,069 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 292 ราย เป็นชาย 157ราย หญิง 135 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 10,879 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนวันที่ 27 ส.ค. 915,738 โดส ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสม 30,420,507 โดส ส่วนสถานการณ์โลก มีผู้ป่วยสะสม 216,210,520 ราย เสียชีวิตสะสม 4,498,968 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดอันดับติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพ 4,141 ราย, สมุทรปราการ 1,432 ราย, ชลบุรี 972 ราย, สมุทรสาคร 910 ราย, นครราชสีมา 566 ราย, ราชบุรี 469 ราย, ระยอง 449 ราย, นนทบุรี 447 ราย, สระบุรี 428 ราย และปทุมธานี 413 ราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงสถานการณ์และแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า จากการติดตามแนวโน้มสถานการณ์ พบว่าภาพรวมของประเทศการติดเชื้อได้ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่เราก็คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดความประมาท สำหรับแต่ละจังหวัด กรุงเทพมหานคร แนวโน้มผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับกว่า 4,000 คนมาเป็นสัปดาห์แล้ว ทำให้ภาพรวมถึงแม้จะไม่พุ่งสูงขึ้นมากอย่างที่กังวล แต่ก็ยังคงระมัดระวัง ส่วนต่างจังหวัดมีตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้นมา ในส่วนของการตรวจเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) ในกรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงเกิน 10% ขึ้นไป แต่ระยะหลังมีแนวโน้มลดลง
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนตัวเลขการฉีดเพิ่มขึ้น 915,738 โดส สะสม 30,420,507 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 22,617,701 โดส, เข็มสอง 7,221,368 โดส และเข็มสาม 581,438 โดส เห็นว่าการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค. เนื่องมาจากเราได้วัคซีนมากขึ้น และเป็นไปตามแผนที่เราต้องการฉีดให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส ตอนนี้เดือน ส.ค.ทำได้เกินเป้าหมาย อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็คงจะต้องมีการนำวัคซีนเข้ามาและเร่งรัดให้ฉีดต่อไป
"กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ขณะนี้มีการฉีดอย่างน้อยในเข็มแรกไปแล้วร้อยละ 40 ของเป้าหมาย โดยกลุ่มที่เราให้ความสำคัญต่อไปคือหญิงตั้งครรภ์ ที่เราพบการเสียชีวิตเกือบทุกวัน เพราะฉะนั้นจึงต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ จึงเชิญชวนหญิงตั้งครรภ์ที่ฝากท้องไว้ในโรงพยาบาล ขอรับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านฝากท้อง ยืนยันว่าฉีดวัคซีนขณะนี้กว่า 30 ล้านโดส ยังไม่มีรายใดที่เสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรงจากการประเมินผลชันสูตรศพในรายเสียชีวิตจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นวัคซีนมีความปลอดภัย" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า ในเดือน ส.ค.เราจัดหาวัคซีนมาได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ ที่เราสามารถนำเข้ามาได้ 13.8 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมีวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามา ก็ทำให้ยอดการฉีดวัคซีนในเดือน ส.ค.ค่อนข้างสูง สำหรับประมาณการในการจัดหาวัคซีนในเดือน ก.ย.-ธ.ค. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนที่ให้ประชาชนได้รับวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ในปี 2564 เพื่อให้ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน
ปลายก.ย.ไฟเซอร์มา 2 ล้านโดส
โดยในเดือน ก.ย.และ ต.ค. มีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีกประมาณ 6 ล้านโดสต่อเดือน และแอสตร้าเซนเนก้าในเดือน ก.ย.ประมาณ 7.3 ล้านโดส ส่วนเดือน ต.ค.-ธ.ค. มีแนวโน้มที่ดีที่เขาอาจจะส่งให้เรามากขึ้นไม่น้อยกว่าเดือน ต.ค.
ส่วนบริษัทไฟเซอร์ได้รับการแจ้งแบบไม่เป็นทางการว่า ในปลายเดือน ก.ย.ได้ประมาณ 2 ล้านโดส ซึ่งเขาให้คำสัญญาว่าจะส่งให้ได้ 30 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ เพราะฉะนั้นก็จะมียอดจัดหาใน 3 วัคซีนหลักอยู่ที่ 124 ล้านโดส โดยเป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีข่าวดีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะทำให้ยอดการฉีดของเราเพิ่มเติมขึ้นไป รวมถึงการที่องค์การเภสัชกรรมร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนจะมีการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาอีก คาดว่าจะมาได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ ทำให้เราจะได้วัคซีนตามแผนอยู่ 100 ล้านโดส
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศบค.ได้มีการเสนอเป้าหมาย กลยุทธ์ และมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย โดยเป้าหมายของเราคือพยายามทำให้ผู้ติดเชื้อ เสียชีวิตจากโรคโควิดให้น้อยที่สุด พยายามลดการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยไม่กระทำกับการใช้ชีวิตของประชาชน จากการคาดการณ์และการวางกลยุทธ์ในการควบคุมโรค จะกำหนดว่าจะพยายามให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นภายในเดือน ก.ย. และ ต.ค. สถานการณ์จะอยู่ในระดับปานกลาง และ พ.ย.น่าจะดีขึ้น และ ธ.ค.มีการใช้ชีวิตแนวใหม่ได้อย่างปลอดภัย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "Prayut-chan-o-cha" ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่าน เมื่อวานนี้ (27 ส.ค.) มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมีการประเมินผลของมาตรการล็อกดาวน์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอผู้ติดเชื้อที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ผลจากการล็อกดาวน์ได้ 25% ทำให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า เราสามารถปรับมาตรการควบคุมโรคเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการอนุญาตให้จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเปิดกิจการหรือดำเนินกิจกรรมบางอย่าง หรือการเดินทางข้ามจังหวัด ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง
ในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างยอมรับว่าเชื้อโควิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น เป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานความจริง จึงไม่ใช่การกำจัดโรคนี้ให้หมดไป แต่ต้องแลกกับความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่เป็นการอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้อย่างปลอดภัยและสมดุล ซึ่งวันนี้ ศบค.ได้เห็นชอบกับแผนการที่เรียกว่า “Smart Control and Living with COVID-19” หรือการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยมีมาตรการ 10 ข้อดังนี้
วัคซีนรวม 130 ล้านโดส
1.การยกระดับมาตรการ DMHT (อยู่ห่าง-ใส่แมสก์-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ) เป็นมาตรการ Universal Prevention (การป้องกันแบบครอบจักรวาล) นั่นคือการระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุด โดยคิดเสมือนว่าทุกคนที่พบปะนั้นมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น ซึ่งรายละเอียดในมาตรการนี้นั้น ผมได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว
2.การจัดหาวัคซีนและฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง โดยรัฐบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้วัคซีนมามากและเร็วที่สุด และถึงวันนี้เรามั่นใจว่า ภายในสิ้นปีนี้ รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนได้อย่างน้อย 120 ล้านโดส ซึ่งขยายเพิ่มจากเป้าหมายเดิม 100 ล้านโดส ซึ่งเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกของเอกชน เราจะมีวัคซีนรวมอย่างน้อย 130 ล้านโดส ทำให้เราจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศไทยได้กว่า 65 ล้านคน
3.การจัดหาชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK – Antigen Test Kit) ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและราคาถูก ซึ่งทาง สปสช. ได้สั่งซื้อหาและจะแจกจ่ายให้ประชาชนจำนวน 8.5 ล้านโดสโดยเร็วที่สุด และจะจัดหามาเพิ่มอีกในอนาคต และรัฐบาลได้ดำเนินการให้มีชุดตรวจราคาถูกที่ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงได้อย่างสะดวกและราคาถูกยิ่งขึ้น
4.การจัดทำมาตรการ Bubble & Seal กับโรงงาน สถานประกอบการ และแคมป์ก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นให้อยู่ในวงจำกัดที่สุด และดูแลจัดการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การแยกกัก และการรักษาผู้ป่วย ที่จะทำให้เราไม่ต้องปิดทั้งโรงงาน และสามารถดำเนินการผลิตในบางส่วนของโรงงานหรือการก่อสร้างไปได้โดยไม่สะดุด
5.การจัดการสภาพแวดล้อมและการคัดกรองการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ในสถานที่เสี่ยง คือตลาดและชุมชนแออัด ที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดและเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยจะต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมตามมาตรการอย่างเข้มงวด และมีการตรวจคัดกรองเป็นประจำเพื่อหยุดการระบาดตั้งแต่ต้น
6.การจัดสภาพแวดล้อมของกิจการที่มีความเสี่ยงเป็นแบบปราศจากโควิด (COVID-Free Setting) เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ ซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญคือ 1.COVID-Free Environment (สภาพแวดล้อมปราศจากโควิด) เช่นระบบระบายอากาศ การจัดสถานที่ให้ไม่แออัด 2.COVID-Free Personnel (พนักงานปราศจากโควิด) เช่น การฉีดวัคซีนและตรวจ ATK 3.COVID-Free Customer (ลูกค้าปราศจากโควิด) เช่นการแสดงผลฉีดวัคซีน หรือการตรวจ ATK
แออัด-ใกล้ชิด-ปิดอับ
7.การจัดสภาพการทำงานและการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่แออัด รวมถึงการคัดกรองโรคด้วยชุดตรวจ ATK สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการระบาดในสถานที่ทำงาน และติดเชื้อต่อไปยังครอบครัวที่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงและเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
8.การจัดกิจกรรม สถานที่ และบริการสาธารณะต่างๆ ภายใต้มาตรการ 3C คือ การไม่จัดให้เกิดพื้นที่เสี่ยง 3 ประการ คือ “แออัด-ใกล้ชิด-ปิดอับ” (Crowded Places Close-Contact Setting, Confined & Enclosed Spaces) ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดได้สูง
9.การจัดการบริการควบคุมโรคเชิงรุก เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่และชุมชนระบาด ด้วยหน่วยเคลื่อนที่ CCRT (Comprehensive COVID-19 Response Team) ทั้งการตรวจคัดกรอง การนำผู้ป่วยออกมารักษา การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง
10.ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้รวดเร็ว รู้ผลให้เร็ว แยกกักผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงเร็ว และรักษาผู้ป่วยได้เร็ว ด้วยชุดตรวจ ATK และระบบแยกกักที่บ้านและที่ชุมชน Home Isolation & Community Isolation สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง ที่ช่วยบรรเทาภาระของการครองเตียง และการต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้มีอาการหนักหรือปานกลางสามารถเข้ารับการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีโอกาสรักษาหายดีมากยิ่งขึ้น
นโยบาย “Smart Control and Living with COVID-19” ทั้ง 10 ข้อนี้ ได้มีการดำเนินการมาแล้วในหลายข้อ และได้ผลดีที่เป็นปัจจัยสำคัญในการลดยอดผู้ติดเชื้อได้ ส่วนบางข้อนั้นจะมีการยกระดับและดำเนินการไปพร้อมกับการปรับมาตรการที่จะเริ่มในวันที่ 1 กันยายนนี้ ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยให้ประเทศไทยจะก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันอย่างปลอดภัยและมั่นคง สามารถฟื้นเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเราได้ ผมจึงขอให้พวกเราทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน ได้นำหลักการและแนวคิด Smart Control and Living with COVID-19 นี้ไปปรับใช้กับองค์กรของท่าน ชุมชนของท่าน ครอบครัวของท่าน และตัวท่านเอง เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตสู่อนาคตของประเทศไทยร่วมกันครับ
สมุทรสาครติดเชื้อต่้ำกว่าพัน
สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยตัวเลขล่าสุดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 (27 ส.ค.2564 เวลา 24.00 น.) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 910 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก 100 ราย ในโรงพยาบาลภายในจังหวัด 604 ราย นอกจังหวัด 73 ราย ในบับเบิล 133 ราย เสียชีวิต 17 ราย อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล 12,198 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 424 ราย และอยู่ระหว่างการสังเกตอาการอีก 7,401 ราย
การฉีดวัคซีนโควิด ฉีดได้มากถึง 6,340 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 5,081 โดส และฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 1,259 โดส เป็นยอดสะสมรวมทั้งสิ้น 447,001 โดส
นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 1,432 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 1,160 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 408 ราย, อำเภอพระประแดง จำนวน 133 ราย, อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 69 ราย, อำเภอบางพลี จำนวน 237 ราย, อำเภอบางบ่อจำนวน 181 ราย, อำเภอบางเสาธงจำนวน 132 ราย, โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการ จำนวน 272 ราย เสียชีวิต 18 ราย เป็นเพศชาย จำนวน 12 ราย เป็นเพศหญิง จำนวน 6 ราย อายุระหว่าง 32-85 ปี มีโรคประจำตัว 14 ราย ไม่ระบุ 4 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 788 ราย การตรวจคัดกรองเฝ้าระวังในคลินิก ARI และในชุมชน จำนวน 29 ราย พบเชื้อ 6 ราย ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงปัจจุบันจำนวน 76,476 ราย
ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานพบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 140 ราย แยกเป็น ผู้ป่วยติดเชื้อพบในพื้นที่จังหวัด 27 ราย ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 113 ราย แยกเป็นติดเชื้อมาจากจังหวัดเสี่ยง 77 ราย และติดเชื้อมาจากจังหวัดเสี่ยง (พบก่อนเข้าสถานกักกันตัว) LQ 36 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 13,271 ราย เสียชีวิตสะสม 34 ราย หายป่วยสะสม 10,095 ราย ยังรักษาอยู่ 3,142 ราย กระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัด
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดปัตตานี ที่ยังเป็นพื้นที่สีแดงเข้มนั้น ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สถานการณ์ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นตามลำดับ มีผู้ติดเชื้อไม่ถึงหลักร้อย ประชาชนหลายคนเบาใจลง แต่ล่าสุดกลับเป็นที่ตกใจของประชาชนอีกครั้ง หลัง จ.ปัตตานีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงอีก โดยยอดผู้ติดเชื้อวันที่ 27 ส.ค. ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งถึง 300 คน เสียชีวิต 5 คน ขณะนี้มียอดสะสม 15,000 คน รักษาหาย 11,136 คน เสียชีวิตสะสม 222 คน
ทั้งนี้ จ.ปัตตานี ที่น่าเป็นห่วงคือทุกวันยังคงพบผู้เสียชีวิตวันละ 1-5 ราย ขณะนี้โรงพยาบาลในปัตตานีเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่มีอาการหนักใช้เครื่องช่วยหายใจเกือบทุกคน แพทย์ต้องทำงานหนักเพื่อดูแลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แต่ก็มีบางรายที่ไม่สามารถยื้อชีวิตต่อได้ โดยที่ผ่านมาอัตราผู้เสียชีวิตสะสมในโรงพยาบาลมีจำนวน 215 คน เสียชีวิตก่อนเข้ารับการรักษาเพียง 7 คน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |