ผ่านไปแล้วสำหรับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 หลังที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ลงมติเห็นด้วยตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอ ด้วยคะแนน 440 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 132 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
ถือว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 เสร็จสิ้นสมบูรณ์ หลังจากนี้ต้องทิ้งระยะเวลาไว้ 15 วัน ก่อนจะกลับมาลงมติกันในวาระ 3
ดูเหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะราบรื่น เมื่อดูจากมติเห็นด้วย 440 เสียง โดยมีพรรคการเมืองใหญ่ 3 พรรค ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าสนับสนุนเต็มพิกัด ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย
แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะจบง่ายๆ เพราะมีประเด็นคอขาดบาดตายให้ลุ้นอีกเฮือก โดยเฉพาะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินหลักการ เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นร่างหลักที่ถูกนำมาพิจารณาได้เสนอให้แก้ไขเพียง 2 มาตราเท่านั้น คือ มาตรา 83 และมาตรา 91 ที่เกี่ยวกับการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ และการแก้ให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่คณะกรรมาธิการได้มีการเสนอแก้ไขเนื้อหาที่คาบเกี่ยวกันอีกหลายมาตรา
ประเด็นนี้พรรคก้าวไกลคัดค้านหลายครั้งระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 โดย นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ระบุว่าคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เนื่องจากเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เนื้อหามิชอบ เพราะไม่ใช่มาตราที่เกี่ยวเนื่องและกระบวนการไม่ชอบธรรม เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดให้สมาชิกคือ ส.ส.และ ส.ว.เป็นผู้เสนอคำแปรญัตติเข้ามาเพื่อให้คณะกรรมาธิการพิจารณา แต่คณะกรรมาธิการกลับเป็นผู้เสนอแก้ไขเนื้อหาเสียเอง
แม้แต่ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลยังแสดงความกังวลเช่นเดียวกันว่า การแก้ไขเกินกว่าหลักการที่เสนอสุ่มเสี่ยงจะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มิชอบ จึงขอ สงวนท่าที โดยการประกาศยุทธศาสตร์ 2 งด คือ งดออกเสียงและงดใช้เสียง
ท่ามกลางกระแสข่าวลือหนาหูว่า แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทยหวาดระแวงกลัวจะเป็นเกมล้มกระดาน ล้างบาง ส.ส.และถูกดำเนินคดีหากลงมติด้วย เหมือนเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการสลับร่างจนถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณามีความผิด
เพราะหากตีความกันตามกฎหมายทุกกระเบียดนิ้ว ความเสี่ยงที่ขัดรัฐธรรมนูญมีมาก ขนาดพรรคเพื่อไทยสลับร่างยังถูกชี้มูลความผิด แต่ครั้งนี้ถึงขั้นแก้ไขเกินหลักการที่ยื่นเอาไว้
แม้คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะยืนยันว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 ระบุว่า "การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นมาใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น" ก็ตาม
ตามรูปการณ์แล้ว ก่อนลงมติในวาระ 3 น่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาแน่นอน โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าจะเสี่ยงหรือไม่ หลังมีแนวโน้มสูงว่าจะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
โอกาสจะไปจบที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีสูงมาก น่าจะลากยาวกันอีกสักพัก
ขณะที่สัปดาห์หน้า อุณหภูมิการเมืองจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติกำหนดกรอบระยะเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เอาไว้ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน และลงมติในวันที่ 4 กันยายน
โดยมีการกำหนดเวลาในการอภิปรายทั้งหมด 58 ชั่วโมง 30 นาที แบ่งเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 40 ชั่วโมง ของฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี 18 ชั่วโมง 30 นาที เรียกว่าได้ชมได้ฟังกันยาวๆ
ครั้งนี้มีรัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจำนวน 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เนื้อหาส่วนใหญ่ในการอภิปรายครั้งนี้ของฝ่ายค้านจะพุ่งเป้าไปที่การบริหารแก้ไขปัญหาโควิด-19 ล้มเหลวและผิดพลาดของรัฐบาล กับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก การจัดหาเตียงผู้ป่วย การจัดหาวัคซีน ตลอดจนการเยียวยา
สำหรับการซักฟอกครั้งนี้ถือว่าเป็นการอภิปรายนอกฤดูกาล ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านมักไม่นิยมทำกันในช่วงนี้ แต่หนนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่สู้ดี จากกระแสความไม่พอใจของประชาชนในหลายเรื่อง จึงใช้ ยุทธศาสตร์ตีเหล็กตอนร้อน
ส่วนภายนอกรัฐสภา จะยังมีการเคลื่อนไหวของม็อบทะลุฟ้าที่จัดชุมนุมมาต่อเนื่องหลายวัน น่าจะมีการจัดคู่ขนานกันเพื่อล้อไปกับเนื้อหาและอุณหภูมิในรัฐสภาอีกเช่นเคย
สัปดาห์หน้ารัฐบาลอาจต้องเจอศึกหลายด้าน เพราะหลายเรื่องจะมาประจวบเหมาะกันพอดี โดยมีเวทีรัฐสภาเป็นศูนย์กลางดึงดูดความสนใจของสังคม
เช่นเดียวกับกรณีสะเทือนใจสังคม เหตุการณ์ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ กับพวก ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนถึงแก่ชีวิต ที่แม้จะเป็นความผิดเฉพาะตัว แต่ก็กระทบมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้าเต็มๆ เหมือนกัน
โดยเฉพาะประเด็นปฏิรูปตำรวจ ที่กำลังถูกพูดถึงและเรียกร้องให้มีการสังคายนาวงการสีกากีครั้งใหญ่ หลังสังคมไม่ไว้ใจการสอบสวนของตำรวจ กลัวจะลงเอยแบบมวยล้มต้มคนดูเหมือนกับหลายคดีในอดีตที่คนรู้สึกแบบนั้น
กรณีปฏิรูปตำรวจเหมือนกระแทกมาที่อกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้าอย่างจัง เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเอาไว้
โดยในมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ระบุไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กําหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจน เพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา
หลังเกิดกระแสร้อน องคาพยพของรัฐบาลพยายามออกมาเด้งรับ โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... รัฐสภา ออกมาเผยว่าจะเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจหลังปิดสมัยประชุมนี้ เช่นเดียวกับนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่านายกรัฐมนตรีสั่งเร่งปฏิรูปตำรวจ
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ดูเหมือนการปฏิรูปตำรวจแทบจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย โดยนายวิรัชเองก็ยอมรับว่า การพิจารณาเนื้อหาของคณะกรรมาธิการทำได้เพียง 14 มาตรา จากทั้งหมด 172 มาตราเท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะยืนยันว่ากฎหมายอยู่ในสภาแล้ว แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า จะปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือไม่ ตั้งแต่เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมาธิการชุดนี้ 46 คน ที่พบว่ามีกรรมาธิการที่เป็นตำรวจถึง 13 คน และนั่นหมายถึงพวกเขาย่อมไม่ยอมให้ใครมาตัดแขนตัดขาง่ายๆ เนื่องจากเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
หรือกับเรื่องเนื้อหาเองที่ยังไม่รู้ว่าจะยึดเอาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใด ระหว่างฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่มีคนสนับสนุนกันจำนวนมาก หรือฉบับของนายมีชัยที่ถูกปรับแก้ไขจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรีส่งไปให้แก้ไขเอง ซึ่งสาระสำคัญที่เป็นหัวใจแทบไม่ได้มีการแตะต้อง
รัฐบาลเองก็ถูกตั้งคำถามเรื่องความจริงใจในเรื่องนี้มาตลอด เพราะการปฏิรูปเป็นสิ่งที่ประกาศกันมาตั้งแต่ยังเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์เองก็รับปากหลายครั้ง แต่ผ่านมาแล้วหลายปี อย่าเรียกว่าไม่คืบหน้าเลย เรียกว่าไม่เดินหน้าน่าจะถูกต้องกว่า
ประเด็นนี้เหมือนพลุไฟ เวลาเกิดเรื่องกันขึ้นมาทีก็พูดถึงที เหมือนกับคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่ต้องตั้งคณะกรรมการชุดของนายวิชา มหาคุณ ขึ้นมาลดกระแสสังคม ให้อำนาจตรวจสอบและเสนอแนะการปฏิรูปตำรวจ แต่พอเสนอแนะไว้ รัฐบาลก็ไม่ได้มีท่าทีใดๆ ให้เกิดมรรคเกิดผลเลย
เหมือนลูบหน้าปะจมูกขอไปที กรณี "ผู้กำกับโจ้" จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นความไม่จริงใจในการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาลอีกครั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |