แรงกดดัน"คสช."เดินไปสู่เลือกตั้ง วัดอุณหภูมิ "กองเชียร์" และ "กองทัพ"


เพิ่มเพื่อน    

   พลันที่กระบวนการขั้นตอนเดินหน้าไปสู่การออกแบบกรรมวิธีการเลือกตั้งเริ่มเดินหน้า มีการนัดหารือระหว่าง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ 

    ขณะที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นัดหารือกับตัวแทนพรรคการเมืองสิ้นเดือนนี้ โดยเบื้องต้นจะพิจารณาเรื่องการทยอยปลดล็อก แต่ยังจะเน้นการเปิดให้หาสมาชิกพรรคการเมืองได้ ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งยังไม่อนุญาต เพราะต้องรอกฎหมายลูกเรียบร้อย
    แต่หลายฝ่ายก็ยังไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้หรือไม่ เพราะขั้นตอนในเรื่องการทำไพรมารีโหวตต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ทว่า พล.อ.ประวิตรยืนยันว่า การเลือกตั้งน่าจะอยู่ในกำหนดระยะเวลาเดิมตามที่ คสช.ได้เคยวางไว้
    “แต่ผมยังยืนยัน เลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 ผมก็ยังยืนยันอยู่นะ” พล.อ.ประวิตรระบุ 
    จึงมีข้อเสนอทางเทคนิคในการใช้พระราชกำหนดฉุกเฉิน พระราชบัญญัติความมั่นคง หรือมาตรา 44 ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีการวิเคราะห์เรื่องการตัดขั้นตอนไพรมารีโหวต เพื่อให้ระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งไม่ลากยาวไปกว่าที่มีการระบุไว้ 
    ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มคึกคัก มีความเห็นจากแกนนำหลายพรรคการเมือง ทั้งการเรียกร้องให้ปลดล็อค และการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลิกใช้มาตรา 44 โดยเฉพาะเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ได้มีการจัดเสวนาทางการเมืองเนื่องในวาระพิเศษคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยไทยข้ามพ้นกับดักความหวัง?” เรียกได้ว่า เป็นการเปิดหัวสำหรับเวทีเสวนา ที่ปี่กลองสู้รบในสนามเลือกตั้งน่าจะเข้มข้น 
    “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “กับดักของประเทศไทย คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องการห้ามทำกิจกรรมพรรคการเมือง และห้ามประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถเดินตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้ได้ แม้จะผ่านกับดักในจุดนี้ได้ แต่ในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย ยังมีเครื่องหมายคำถามว่า จะจัดได้ตามมาตรฐานหรือไม่ และมีอิสระในการทำหน้าที่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาถึงขั้นมีการใช้อำนาจ มาตรา 44 ปลดคณะกรรมการการเลือกตั้ง 
    นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ จะเป็นอุปสรรคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในการบริหารประเทศในอนาคตอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างแน่นอน หากประชาชนให้การสนับสนุนแต่ไม่ควรทำในทันที เพราะจะถูกมองจากกลุ่มที่ลงคะเเนนเสียงตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญว่า ผู้ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ตนเอง จึงต้องทำให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นมีอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างไร
    “จาตุรนต์ ฉายแสง” แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กับดักในที่นี้ไม่ใช่กับดักสำหรับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง แต่เป็นกับดักต่อประเทศไทยที่จะดักการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย กติกาที่เขียนขึ้นทำให้ประเทศถอยหลังไปมาก ผลการเลือกตั้งอาจนำไปสู่สิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ ขณะที่กับดักที่สำคัญอีกสิ่งคือ การมียุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งถ้าหาก คสช.มาเป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง แสดงว่าได้วางแผนกำหนดประเทศไทยไว้แล้ว ดังนั้นตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ดีควรจะต้องสามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม การจัดการกับกับดักให้หมดสิ้นไปมีดังนี้ กำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็ว คสช.ควรงดใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่จะกระทบกับการเลือกตั้ง และให้ ครม.ทั้งคณะลาออกโดยให้ปลัดกระทรวงต่างๆ มาทำหน้าที่แทน ตามมาตรา 168  และ 169 เพื่อป้องกันไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจ และเรื่องรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูปประเทศ พรรคการเมืองต้องมุ่งมั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในประเทศไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งผ่านมาแล้ว 86 ปี พบว่ามีเพียง 24 ปี และอีก 310 วันเท่านั้น ที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากประชาธิปไตยในระบบการเลือกตั้ง ขณะที่การทำรัฐประหารมีถึง 5 ครั้ง ทำสำเร็จ 3 ครั้ง และไม่เคยมีครั้งไหนที่ผู้นำรัฐประหารถูกนำตัวมาลงโทษ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่
     อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่น่าเป็นห่วงคือ การรัฐประหารมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย ซึ่งหากประเทศไทยต้องการพัฒนาทุกด้านให้ทันโลก ก็ต้องจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ขอเสนอตัวว่า จะทำให้การรัฐประหารสิ้นสุดลงในยุคนี้ ไม่ให้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะกับดักประเทศไทยคือ การทำรัฐประหารของคนกลุ่มน้อยที่มัวเมาและลุ่มหลงในอำนาจ
    สำหรับสถานการณ์ด้านการข่าวของความมั่นคงประเมินว่า ฝ่ายการเมืองและกลุ่มเห็นต่าง จะนำกรณีต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลและ คสช.มาขยายผลในเชิงลบต่อประชาชนให้มากที่สุด เพื่อหวังลดความนิยมและสร้างแรงเสียดทานต่อการดำเนินการของรัฐบาล อีกทั้งมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สิน ผลผลิตด้านการเกษตรตกต่ำ     
    ปัจจัยที่สำคัญในการบริหารสถานการณ์ของ คสช.ก็คือกองทัพ ซึ่งขณะนี้ถือได้ว่า แนวทางของผู้บัญชาการเหล่าทัพมีความชัดเจนในการทำหน้าที่ในการเป็นกลไกของรัฐ และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและ คสช. โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงาน คสช. ที่ต้องใช้กลไกของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ในการทำงานให้รัฐบาล เพราะนโยบายเหล่านั้นแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน  
    “การทำงานของทหารไม่เกี่ยวกับการเมือง ถ้าตอนนี้ไม่ทำอะไรเลย บ้านเมืองก็จะทรุดลงไป เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเป็นภารกิจสนับสนุนงานของประเทศ เป็นเรื่องที่กองทัพต้องทำ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าว
    ส่วนกระแสการตั้งพรรคการเมือง โดยโยงกับคนใน คสช.จะย้อนกลับมาทำให้ทหารอยู่ลำบากหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า เท่าที่เห็นเป็นทหารเกษียณ ไม่มีใครสวมเครื่องแบบแล้วไปเล่นการเมือง บทบาทของตนก็เป็นไปในฐานะทหาร ไม่ไปยุ่งกับการเมือง เดินไปตามกรอบหน้าที่ รัฐบาลก็สั่งการในงาน กองทัพก็ไปสนับสนุน  
    ขณะที่การทำงานในการดูแลความสงบเรียบร้อย ยังเป็นการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ในการติดตามกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.ไม่ให้มีการปลุกระดม หรือสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง อีกทั้งการวางตัวของ ผบ.เหล่าทัพในการดูแลความมั่นคง จะเน้นหนักในภารกิจทหารมากขึ้นกว่าช่วงที่ คสช.ได้รับความนิยมจากประชาชน โดยวัดจากกระแสของโพลหลายสำนักที่ออกมาในขณะนี้ 
    ด้วยสัญญาณที่บ่งชัดว่า สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มตีกรอบเข้าสู่ “เกมเลือกตั้ง” มากขึ้น “กองเชียร์” ของ คสช.ที่เริ่มถอยห่าง ทั้งจากคดีความที่รุงรังติดตัวกันถ้วนหน้า หรือแม้กระทั่งนโยบาย คสช.ที่ “ผลักมิตรให้ถอยห่าง” ส่งผลให้ “ลมใต้ปีก” ที่เคยเป็นแรงผลักดันให้ คสช.มีความเด็ดขาด ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามในบางเรื่อง
    จากอุณหภูมิของสถานการณ์ ที่ คสช.เรียนรู้ประสบการณ์หลังการรัฐประหารในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความนิยมของประชาชน โดยเฉพาะกองเชียร์ และกองทัพ คือตัวชี้วัดสำคัญว่า ผู้มีอำนาจจะเดินเกมอย่างไร จึงไม่มีเหตุผลใดในขณะนี้ที่จะมีสถานการณ์ใหม่ ในการยืดวันเลือกตั้งออกไป!!!.
                                                                 ทีมข่าวการเมือง 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"