24 เครือข่ายภาคประชาชนเตรียมล่า 1 หมื่นรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 35 ฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ปชช.-ขัด รธน.จากทั้งหมด 533 ฉบับ ชูธง "ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ" เมินเสนอ สนช. แต่รอสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง "มาร์ค" โต้ "บิ๊กตู่" อย่าอ้าง ปชต.ไทยนิยมยกเว้นหลักการ ปชต. "สมชัย-ไพบูลย์" ต้านจัดมหรสพหาเสียง ชี้พรรคใหญ่ได้เปรียบกลายเป็นบริษัทลงทุนการเมือง หาเสียงซ่อนรูปทำลายปฏิรูปการเมือง
ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลา 09.30 น. วันที่ 15 มกราคม เครือข่ายภาคประชาชน 24 เครือข่าย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการเสนอกฎหมายประชาชนเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 35 ฉบับ ในหัวข้อ "ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ" โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนและเครือข่ายเข้าร่วมงานจำนวนมาก มีการแจกแผ่นพับเชิญชวนประชาชนร่วมกันเข้าชื่อปลดอาวุธ คสช.เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน มีการตั้งเต็นท์และโต๊ะเพื่อให้ประชาชนได้เข้าร่วมลงชื่อด้วย
จากนั้นนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือนแล้วที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจโดยอ้างความชอบธรรมจากสถานการณ์ไม่ปกติทางการเมือง ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศคำสั่ง คสช.รวม 533 ฉบับ โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองให้ประกาศและคำสั่งทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมาย และมีผลบังคับใช้เรื่อยไป จนกว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มายกเลิก ซึ่งในจำนวน 533 ฉบับมีอย่างน้อย 35 ฉบับที่มีเนื้อหาในทางละเมิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิทางการเมือง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชนของประชาชน รวมถึงจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจทหารเรียกตัวประชาชนมารายงานตัว และควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับ โดยไม่ตั้งข้อกล่าวหาเป็นเวลา 7 วัน, ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีบางประเภทของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร และฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่จำกัดแนวทางการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้นประกาศและคำสั่งของ คสช.เหล่านี้จึงขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับยังอ้างอิงและนำประกาศเหล่านี้มาบังคับใช้โดยตลอด อย่างไรก็ตามในปีนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องเดินหน้าตามโรดแมปไปสู่การเลือกตั้ง และพาประเทศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่หากประกาศและคำสั่งของ คสช.ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ย่อมเกิดความไม่เป็นธรรม และไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
"เบื้องต้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงเห็นควรเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ในเบื้องต้นจำนวน 35 ฉบับ โดยจะรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน) เพื่อปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ"
นายจอนกล่าวอีกว่า หลังจากรวบรวมรายชื่อได้ครบแล้ว เครือข่ายตกลงว่าจะไม่เสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเราไม่คาดหวังและไม่เชื่อมั่น สนช. เนื่องจาก สนช.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้ออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขณะนี้เป็นกระบวนการรวบรวมรายชื่อไว้ก่อน โดยหวังว่าประชาชนจะมาร่วมลงชื่ออย่างท่วมท้น เพื่อเป็นแรงกดดันให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.โดยเร็วที่สุด สำหรับประชาชนที่ต้องการร่วมลงชื่อได้ทางเว็บไซต์ iLaw.or.th
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ระบุต้องมีประชาธิปไตยแบบไทยนิยมว่า ตนไม่ทราบว่าประชาธิปไตยไทยนิยมเป็นแบบใด และต้องระมัดระวังเพราะคำดังกล่าวมีความหมายค่อนข้างชัด ความเป็นไทยในประชาธิปไตยแบบไทยๆ อยู่ที่ไหน และมีเรื่องอะไรที่เป็นแบบไทยๆ ตอนนี้บอกได้แบบเดียวว่าไม่เป็นสากลก็เลยเป็นไทย สำหรับตนไม่เคยปฏิเสธว่าการปรับให้เข้ากับสังคมวัฒนธรรมมีความจำเป็น แต่คงไม่ใช่นำเรื่องวัฒนธรรมหรือสังคมมาเป็นข้ออ้างในการจะยกเว้นไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน แต่ยังอยากที่จะใช้คำที่ดูเป็นเรื่องดีเป็นสากล
"หลังการเลือกตั้งถ้า ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งคนที่มาจากการเลือกตั้งจะจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควรจะมีการใช้อำนาจวุฒิสภาฝืนเจตนา เพราะมันไม่ใช่ประชาธิปไตย หรืออย่าไปใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ผมต้องถามกลับว่าความเป็นไทยของวุฒิสภามีมากกว่าความเป็นไทยของการเลือกตั้งคนไทยมากน้อย เพียงใด หากอ้างว่าทำตามรัฐธรรมนูญ ก็ขอชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญนิยมกับประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีรัฐธรรมนูญเช่นกัน หากยังจำกันได้ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีคำว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยยังมีความตรงไปตรงมา ยอมรับเป็นประชาธิปไตยครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งไม่เป็น แต่ไม่ใช่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่เพราะมันไม่ได้เป็น" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีแนวคิดร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ให้มีการแสดงมหรสพในการหาเสียงได้ โดยให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงและมีการกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายอยู่แล้วว่า วิธีการคิดดังกล่าวเป็นการคิดตื้นๆ แบบชั้นเดียว เนื่องจากแม้ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของ ส.ส.แต่ละคนจะเท่ากัน แต่พรรคที่ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อมากกว่า เช่นส่งเต็มจำนวน 150 คน จะมีตัวคูณในการคำนวณค่าใช้จ่ายของพรรคมากกว่าพรรคที่ส่งน้อยกว่า ดังนั้นการมีเงินจ้างวงแบบ แอ๊ด คาราบาว, เสก โลโซ หรือต่าย อรทัย พรรคใหญ่จะมีศักยภาพทำได้มากกว่าพรรคเล็ก
"ค่าจ้างศิลปินหรือการแสดงเป็นเรื่องที่ไม่มีอัตราแน่นอน ขึ้นอยู่กับความพอใจระหว่างผู้จ้างและผู้รับจ้าง การเชิญ อั้ม พัชราภา มาปรากฏตัวครึ่งชั่วโมงอาจเป็นหลักแสน หรือไม่คิดเงินก็ยังเป็นไปได้หากรู้จักสนิทชิดเชื้อกัน ดังนั้นการควบคุมค่าใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง หรือเป็นสิ่งที่แล้วแต่พรรคการเมืองจะแจ้งมาเท่านั้น"
นายสมชัยกล่าวว่า หากจะแสดงมหรสพควรเป็นเวทีกลางและเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของ กกต.หรือทางราชการ เพื่อเชิญชวนคนมาฟังการหาเสียงและต้องทำอย่างเท่าเทียม มิควรให้เป็นเรื่องของแต่ละพรรค และอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นสาระกลับไม่ทำ คือการดีเบตระหว่างหัวหน้าพรรคที่หวังจะตั้งรัฐบาล ตนเคยเสนอในกฎหมายไปว่า ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครเกินกว่าครึ่งของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด หรือส่งผู้สมัครเขต 175 คนขึ้นไป ต้องถูกบังคับให้เข้าสู่การดีเบตที่จัดโดย กกต.เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสฟังวิสัยทัศน์หรือแนวคิดบริหารบ้านเมือง ตลอดจนไหวพริบปฏิภาณ บุคลิกภาพความเป็นผู้นำของคนเหล่านี้ ผู้ร่างกฎหมายกลับตัดออกบอกให้เป็นเรื่องของความสมัครใจ สิ่งที่เป็นสาระกลับไม่คิด คิดแต่เรื่องไม่เป็นสาระ
ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ สนช.อาจจะบัญญัติว่าในระหว่างการเลือกตั้งอนุญาตให้ผู้สมัคร ส.ส จัดเวทีหาเสียง มีการแสดงมหรสพสิ่งรื่นเริง เช่น วงดนตรี นักร้อง นักแสดง ลิเกบนเวทีหาเสียง เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาฟังการหาเสียง โดยถือเป็นกลยุทธ์จูงใจให้ประชาชนมาฟังการหาเสียงมากขึ้น โดยให้เป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.สที่ให้ใช้ได้จำนวนมากถึง 1,500,000 บาทต่อคน ซึ่งถ้าพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครทั่วประเทศทั้ง 350 เขต ก็จะต้องหาเงินจากนายทุนพรรคมาดำเนินการลงทุนพรรคละไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท พรรคการเมืองจะกลับกลายเป็นบริษัทลงทุนทางการเมือง แล้วเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทุจริตจากรัฐ ถอนทุนคืนพร้อมแสวงหากำไรด้วย
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า จะเป็นการทำลายการปฏิรูปการเมืองที่ตนเคยเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไว้ ซึ่งต้องการให้ลดอิทธิพลของนายทุนพรรค โดยต้องลดค่าใช้จ่ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.ให้เหลือน้อยที่สุด เพราะไม่ว่าการสมัครเข้าไปสู่ตำแหน่งของรัฐใดๆ เช่น สมัคร ส.ว. กรรมการองค์กรอิสระ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ล้วนแต่ไม่ต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าสู่ตำแหน่ง หากปล่อยให้เริ่มต้นให้ใช้เงินมากๆ เพื่อสมัคร ส.ส. ก็จะมีการถอนทุน ทุจริตคอรัปชัน เพราะถือว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเยอะกว่าจะได้ตำแหน่งมา และทำให้คนดีๆ รังเกียจที่จะสมัครเป็น ส.ส. มีผลให้การเมืองเข้าสู่ความล้มเหลวเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 เรียกว่า "เสียของ" จึงเสนอ กรธ.ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองเสียแต่เงินค่าสมัคร 10,000 บาท แต่ไม่ต้องเสียเงินค่าประชาสัมพันธ์หาเสียงให้รัฐ โดย กกต. ต้องเป็นผู้ดำเนินการประชาสัมพันธหาเสียงให้ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะได้ใช้ดุลยพินิจตัดสินคัดสรรเลือกผู้สมัคร ส.ส.ด้วยข้อมูลที่เปิดเผยและเท่าเทียมกัน ปราศจากการให้อามิสสินจ้างใด
"การจัดมหรสพให้ฟรีเพื่อหาเสียงเป็นการให้อามิสสินจ้างซื้อเสียงอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตไม่เที่ยงธรรม เกิดความเหลื่อมลํ้า มือใครยาวสาวได้สาวเอา สนับสนุนพรรคนายทุนการเมือง เอาเปรียบพรรคของประชาชน และมีผลให้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 ที่ต้องการปฏิรูปพรรคการเมืองให้เกิดความเที่ยงธรรมและลดความเหลื่อมลํ้า ระหว่างพรรคการเมืองต้องสูญเปล่าและเสียหลักการไปด้วย และยังจะก่อให้เกิดความวุ่นวายไม่สงบขึ้น เป็นห่วง คสช.จะตกเป็นที่ครหาของประชาชนว่าไม่มีความสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างจัดการเลือกตั้ง" นายไพบูลย์กล่าว
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวว่า พล.อ.สสิน ทองภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ในฐานะรองเลขาธิการ คสช. เป็นประธานการประชุมสำนักเลขาธิการ คสช. โดยที่ประชุมให้ความสำคัญต่อการทำงานของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ในระดับพื้นที่ เพื่อคลี่คลายปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแล และสร้างความเข้าใจในทุกความเดือดร้อน เป็นไปตามกลไกและมาตรการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีบางประเด็นที่อาจถูกนำไปสร้างให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความสับสน ซึ่ง กกล.รส.และส่วนราชการที่รับผิดชอบจะต้องเร่งชี้แจงให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าถึงกิจกรรมหรือโครงการของภาครัฐที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง
"ที่ผ่านมามีการเสนอใช้มาตรา 44 ดำเนินงานหรือแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาพรวมของประเทศนั้น ขอย้ำเจตนาของ คสช.ในเรื่องนี้ว่า มีการใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ การบริหารราชการแผ่นดินใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และใช้เพื่อการปฏิรูป บริหารทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่วนรวม ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น จึงขอให้ทุกส่วนงานได้ชี้แจงทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ดังกล่าวแก่สังคมให้ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย" พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |