สั่งสธ.เร่งหาวัคซีนเด็ก!


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ สั่ง สธ.เร่งจัดหาวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี คาดภายในสิ้นปีได้รับวัคซีนรวมทุกประเภท 140 ล้านโดส เครือข่ายภาคประชาชนบุก สธ. ยื่น 4 ข้อเรียกร้องดูแลหญิงตั้งครรภ์ หลังพบเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออัตราเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ แต่ยอดฉีดวัคซีนไม่ถึง 3% "สาธิต" เร่งฉีดวัคซีนภาคตะวันออก เตรียมพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว
    เมื่อวันศุกร์ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่าปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนให้กับครูแล้วกว่า 573,656 คน และยังคงมีนักเรียนในระบบอีกประมาณ 4 ล้านคน  จากการประเมินของ สธ. คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ไทยจะได้รับวัคซีนรวมทุกประเภท 140 ล้านโดส ก็ขอให้เดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยให้เร็วที่สุด สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ไทยมีอยู่ รวมทั้งให้เร่งรัดการเข้าถึงการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK   ด้วย    
    พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. ได้ชื่นชมและขอบคุณความคืบหน้าเรื่องวัคซีนผลิตโดยนักวิจัยไทย ซึ่งมีความคืบหน้าว่าขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีน 4 ชนิดที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและเริ่มทดลองในมนุษย์ของจุฬาฯ องค์การเภสัชกรรม ภาคเอกชน โดยได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาล และนายกฯ ไปตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าและให้กำลังใจบุคลากรของศูนย์วิจัยแล้ว โดยย้ำว่าถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ในการที่เราสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ก็จะเป็นการป้องกันควบคุมโรค เป็นสิ่งที่ยั่งยืน ประเทศไทยจะสามารถพึ่งพาตนเองได้
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 26 ส.ค. มีการฉีดเพิ่ม 669,189 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 29,504,769 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 สะสม  22,070,573 ราย, เข็มที่ 2 สะสม 6,860,804 ราย, เข็มที่ 3 สะสม 574,112 ราย
    ที่ สธ. เครือข่ายภาคประชาชน นำโดยนางสาวศรีไพร นนทรีย์ แกนนำกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง,   นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และนายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กว่า 10 คน มายื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ผ่านทางนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. เพื่อขอให้มีมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด ทั้งนี้ เครือข่ายได้มีการแต่งกายด้วยชุดคลุมท้อง แสดงเชิงสัญลักษณ์ “ขอวัคซีนให้คนท้อง-อย่าเทอย่าทิ้งเรา” อีกทั้งได้เปิดคลิปเสียงหญิงตั้งครรภ์หลังติดโควิดกำลังจะคลอด แต่ถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการทำคลอด ทำให้ต้องใช้เวลาประสานหาโรงพยาบาลอยู่บนท้องถนนนานกว่า 2 ชั่วโมง
    โดยเครือข่ายมีข้อเสนอ สธ.ดังนี้ 1.ขอให้กำกับดูแลโรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ ไม่ควรปฏิเสธการทำคลอด-รักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด หากเกินศักยภาพที่โรงพยาบาลจะดูแลรักษาได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล ประสานต่อ 2.เร่งฉีดวัคซีนให้หญิงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปให้ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไม่ถึง 3% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์สูงถึง 2.5% 3.กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเสียชีวิต หรือลูกเสียชีวิต หรือเสียชีวิตทั้งแม่ทั้งลูก โรงพยาบาลต้องจัดให้นักสังคมสังเคราะห์ประเมินและวิเคราะห์รายกรณี เพื่อประสานการช่วยเหลือเยียวยา และ 4.สธ.ต้องเชื่อมต่อกับโรงงานต่างๆ ให้บริษัท ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับคนงานต่อเนื่องเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกมา สนับสนุนให้แต่ละสถานประกอบการมี Factory isolation ที่มีมาตรฐาน 
    ขณะที่ นพ.โสภณกล่าวภายหลังรับหนังสือว่า สธ.รับข้อเรียกร้องและเห็นด้วยทั้ง 4 ข้อ ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดแนวทางการทำงานของหญิงตั้งครรภ์ เสนอต่อที่ประชุมศูนย์ ศปก.สธ. พิจารณาออกข้อบังคับให้หญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน (work from home) 100% จากเดิมที่เป็นเพียงมาตรการขอความร่วมมือเท่านั้น
     ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การรักษา ปฏิเสธไม่ได้ หากเกินศักยภาพต้องดูแลประสานส่งต่อ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังห้ามเรียกเก็บเงินค่ารักษาด้วย จากนี้จะมีการกำชับสถานพยาบาลเรื่องนี้มากขึ้น
    ที่ จ.ตราด นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 6 และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ 3 จังหวัด ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี  ระยอง ตราด โดยนายสาธิตกล่าวว่า ประเด็นหนึ่งที่ต้องการผลักดันคือให้พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกรับนักท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะเกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก ที่เป็นที่หมายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งวันนี้ได้มอบวัคซีนให้กับจังหวัดตราดจำนวน 1 หมื่นโดส เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดนำไปฉีดในสัปดาห์หน้า เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดท่องเที่ยว ซึ่งในเดือน ก.ย.จะมีวัคซีนลงมาอีกเพื่อฉีดให้กับประชาชนให้ครบ 70% และในเดือน ต.ค. จะมีเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านโดส ซึ่งจังหวัดตราดและผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขให้พร้อม
    วันเดียวกัน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สถาบันสังคมประชาธิปไตย ร่วมกับสำนักรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงราย ร่วมจัดเวทีอภิปรายออนไลน์เรื่อง "ก้าวพ้นวิกฤตรัฐล้มเหลว กับการบริหารจัดการโควิดและบทบาทการเมืองของภาคประชาชน” สรุปว่า รัฐแก้ปัญหาการระบาดโควิดล้มเหลว ทางออกหลักคือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องอาศัยวัคซีน แต่การจัดหาวัคซีนที่ดำเนินการไปน้อยมาก และไม่โปร่งใส พร้อมเรียกร้องวัคซีนถ้วนหน้า ตั้งคำถามทำไมใช้งบกลางซื้อซิโนแวคเพื่อไม่ให้ตรวจสอบได้ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ช่วยอะไร ตกอยู่ในสภาพรัฐที่ล้มเหลว ซึ่งต้องปฏิรูปในสถาบันต่างๆ ที่มีปัญหา และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"