เคอร์ฟิวยาวถึงก.ย. ‘ศบค.’ยอมแค่ข้ามจังหวัดคลายล็อก‘ห้าง-ร้าน’


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.คงพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ยังเคอร์ฟิว 3 ทุ่มถึงตี 4 คลอด "COVID-FREE Setting" มาตรการใหม่คุมโควิดเริ่ม 1 ก.ย. ไฟเขียวคลายล็อกข้ามจังหวัดได้ ขนส่งสาธารณะจำกัดที่นั่ง 75% ห้าง-ร้านอาหาร-ตัดผม-นวดเฮ เปิดสวนสาธารณะ-สนามกีฬาแบบไร้ผู้ชม กรมควบคุมโรคออกคู่มือ “บับเบิลแอนด์ซีล" รับมือไวรัสฉบับโรงงาน
    ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิค-19) หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 13/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณาผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม มาตรการป้องกันโควิด-19 
    จากนั้นเวลา 13.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค. โดยเริ่มจากการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,702 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 18,351 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,677 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,674 ราย และมาจากเรือนจำ 342 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,139,571 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 20,163 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 943,784 ราย อยู่ระหว่างรักษา 185,200 ราย อาการหนัก 5,154 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,082 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 273  ราย เป็นชาย 148 ราย หญิง 125 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปี 178 ราย ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 48 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3 ราย อยู่ที่ จ.ปัตตานี 2 ราย และปทุมธานี 1 ราย และมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย ที่ จ.สระบุรี โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ กทม. 85 ราย ทำให้ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 10,587 ราย  
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการตามข้อกำหนดที่ 29 ที่จะครบในวันที่ 31 ส.ค. โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานว่าการติดเชื้อในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ยังไม่ลดอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก เราจึงต้องพลิกมุมมองว่าโควิด-19 ยังไม่หายไปไหน แต่จะต้องปรับตัวให้อยู่กับโรคอย่างปลอดภัย โดยมีการปรับกลยุทธ์และสร้างความมั่นใจในการควบคุมโรค สอดคล้องไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยที่ประชุม ศบค.จึงยังไม่มีการปรับระดับพื้นที่ โดยยังคงพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ใน 29 จังหวัดเหมือนเดิม รวมถึงยังคงมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้นเช่นเดิม รวมถึงเวิร์กฟรอมโฮมต่อไปอย่างน้อยอีก 14 วัน  
คลอด COVID-FREE Setting 
    ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ที่ขอให้ทุกคนคิดเสมอว่าเราจะอาจจะติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่รู้ตัวและไม่มีอาการ ทุกคนที่อยู่รอบตัวอาจจะเป็นผู้ติดเชื้อแฝง ในการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา โดยมีแนวปฏิบัติของมาตรการองค์กร เช่น โรงเรียน โรงงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่โรค เปิดกิจกรรม กิจการ ได้อย่างปลอดภัยอย่างยั่งยืนด้วย COVID -  FREE Setting 
    สำหรับมาตรการ องค์กรประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ต้องมีระบบระบายอากาศ มีสุขอนามัย สะอาด ปลอดภัย และมีการเว้นระยะห่าง ผู้อยู่ในองค์กรต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ส่วนผู้รับบริการต้องได้รับวัคซีน ครบตามเกณฑ์ (บัตรเขียว) หรือเคยติดเชื้อ หรือมีผลตรวจ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน (บัตรเหลือง) โดยหลังจากนี้จะเน้นให้ผู้ประกอบร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านนวด ได้รับการฉีดวัคซีนสองเข็มโดยเร็วที่สุด และเน้นให้เข้าถึงการตรวจ ATK โดยภาครัฐให้การสนับสนุน ขณะที่ผู้รับบริการจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนหรือมีการตรวจ ATK ก่อนเข้ารับบริการ มาตรการเหล่านี้จะทำให้การเปิดกิจกรรม กิจการต่างๆ สามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น โดยจะต้องมีการกำกับติดตามอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานของรัฐและสมาคมต่างๆ 
    ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้มาตรการดังกล่าวเริ่มใช้ในวันที่ 1 ก.ย. เน้นย้ำว่าต้องเป็นการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง เฉพาะสถานประกอบหรือสถานบริการที่มีความพร้อม มีการดำเนินการได้ โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรการตรงนี้ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ในทุกๆ  ร้าน ทุกๆ สถานประกอบการ แต่เป็นเพียงการนำร่อง หากสถานประกอบการใด ร้านอาหารใดยังไม่พร้อม ให้ศึกษารายละเอียดไปก่อน ค่อยๆ พัฒนาและปรึกษาจังหวัดและสมาคมภัตตาคารไทยที่จะคอยให้คำแนะนำ หากพร้อมก็เริ่มใช้มาตรการดังกล่าวได้              
    อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะได้ผลดียิ่งจะต้องมีการกำกับดูแล และเน้นย้ำการเร่งรัดนำเข้าวัคซีนและเครื่องตรวจ ATK อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการรายงานต่อที่ประชุมว่า สถานการณ์เตียงค่อนข้างปรับตัวได้ดีขึ้น เพราะจะใช้วิธีโฮมไอโซเลชันเข้ามาช่วย ทำให้ได้รักษาแต่เนิ่นๆ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่งผลให้สถานภาพเตียงผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดงมีสภาพคล่องขึ้น ขณะที่ในส่วนการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ก็มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมบรรเทาความเดือดร้อนได้ระดับหนึ่ง 
     ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ยังได้พิจารณาเรื่องการเปิดกิจกรรม กิจการในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยในเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด เดินทางได้ แต่ขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือเดินทางเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น และขอให้ผู้มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อหรือผู้ติดเชื้อให้เข้าโครงการรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เดินทางเอง ในส่วนขนส่งสาธารณะ สามารถเปิดดำเนินการได้โดยจำกัดผู้โดยสาร ไม่เกิน 75% และเข้มงวดมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ขับขี่ยานพาหนะ ผู้รับบริการ ผู้เก็บค่าโดยสาร และห้ามรับประทานอาหารขณะโดยสารรถขนส่งสาธารณะ 
    สำหรับการเปิดให้บริการร้านอาหาร หากเป็นร้านมีพื้นที่โล่ง มีการระบายอากาศอย่างดี อนุญาตให้นั่งรับประทานได้ 75% ของพื้นที่ แต่ถ้าเป็นร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ สามารถนั่งได้ 50% ของพื้นที่ และผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกัน มีการติดตามโดยผู้ประกอบการสมาคมภัตตาคารไทย คณะกรรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ด้วย 
    ในส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ สามารถเปิดกิจการได้ทุกแผนกถึงเวลา 20.00 น. แต่กิจการในห้างที่เปิดอย่างมีเงื่อนไขคือ กลุ่มร้านเสริมสวย ร้านตัดผม แต่งผม เปิดได้เฉพาะตัดผมเท่านั้น ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เน้นให้นัดหมายจองคิวล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงลูกค้าเข้าไปแออัดนั่งรอ ร้านนวดให้เปิดได้เฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงามเปิดจำหน่ายเฉพาะสินค้าเท่านั้น และให้นัดหมายล่วงหน้าเช่นกัน สำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า สามารถเปิดได้โดยมีเงื่อนไขของมาตรการร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ ให้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. ส่วนในกิจการที่ยังเปิดไม่ได้ในห้างสรรพสินค้าคือ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยงในห้าง  
ร้านอาหาร-ตัดผม-นวดเฮ
    ส่วนกิจการกิจกรรรมนอกห้างในส่วนที่เปิดได้คือ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม แต่งผม ร้านนวด โดยย้ำให้จองล่วงหน้าและใช้เวลาจำกัด แต่ในส่วนสถานศึกษา ยังไม่เปิดเรียน แต่ให้ใช้อาคารสถานศึกษาได้ เช่น การจัดสอบ จัดประชุม หรือจัดการเรียนการสอน ซึ่งต้องผ่านความเห็นของจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและ กทม. และต้องเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค ขณะที่สนามกีฬาเปิดในส่วนเล่นกีฬาหรือแข่งขันแบบไม่มีผู้เข้าชม และต้องจำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น นักกีฬา โค้ช ผู้ติดตาม ขอเน้นย้ำให้รวมกลุ่มกันน้อยที่สุด และจำเป็นต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและ กทม. โดยสามารถเปิดได้ถึง 20.00 น. รวมถึงเปิดสวนสาธารณะด้วย
    อย่างไรก็ตาม กิจการกิจกรรมต่างๆ ที่ยังไม่เข้าข่ายของการผ่อนคลายให้เปิดได้ ขอให้ใจเย็น เพราะทุกครั้งหากมีการทบทวนมาตรการเพิ่มเติม จะมีการพิจารณาเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้กิจการกิจกรรมที่เปิดได้ต้องทำให้ปลอดภัย ไม่มีการรายงานผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ทิศทางผ่อนคลายมีมากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พูดคุยกันอีกหลายเรื่อง แต่ขอมารายงานสรุปให้ทราบสัปดาห์หน้า เช่น การเปิดโรงเรียนที่มีนักเรียนพักประจำ 
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนปิดประชุม นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวให้กำลังใจทุกคนว่า ขอให้เราต้องมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ เพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อคนไทย และคงต้องร่วมกันทำในยุคนี้รัฐบาลชุดนี้ด้วย 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคขานรับมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ให้ความเห็นชอบมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือที่เรียกว่าบับเบิลแอนด์ซีล สำหรับสถานประกอบกิจการที่มักพบการระบาดของโรคโควิด- 19 เป็นกลุ่มก้อน เนื่องจากมีพนักงานทำงานจำนวนมาก โดยกองโรคจากการประกอบอาชีพฯ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำคู่มือมาตรการฯ เพื่อให้สถานประกอบกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงงานที่มีที่ตั้งอยู่ภายในและภายนอกการนิคมอุตสาหกรรม มีทุกประเภททุกขนาดทั่วประเทศ นำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยคู่มือนี้ประกอบด้วยมาตรการ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลเพื่อการป้องกันโรค และส่วนที่สองคือ มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลเพื่อการควบคุมโรค 
    ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้จาก h ttps://ddc.moph.go.th/doed/pagecontent.php?page=739&dept=doed โดยในวันที่ 3 ก.ย.นี้ กรมควบคุมโรคจะจัดเสวนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนี้ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน ผ่านระบบออนไลน์และเฟซบุ๊ก โดยมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน
    นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำชับหน่วยงานในสังกัด สธ.ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ภายในเดือน ต.ค.นี้ หากงบประมาณไม่พอ ให้ดำเนินการแจ้งมายังส่วนกลาง เพื่อจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม และขอให้ผู้บริหารโรงพยาบาลแต่ละแห่งดูแลเรื่องขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ทุกระดับให้เหมาะสม 
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตรวจเยี่ยมรถตู้ตำรวจสีขาวที่ถูกดัดแปลงเป็นรถตรวจโควิด-19 เคลื่อนที่ เพื่อนำไปใช้ตรวจโควิด-19 ให้กับข้าราชการตำรวจและประชาชนในพื้นที่ที่เข้าถึงยากทั่วประเทศ พร้อมระบุว่า มีแนวคิดนำรถตู้ประจำสถานีตำรวจมาให้วิศวกรปรับปรุงเป็นรถตรวจโควิด-19 เคลื่อนที่แบบ ATK ในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงยาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"