ตำรวจแบบ 'โจ้' ยังมีอยู่


เพิ่มเพื่อน    

ก่อนอื่น...
    ตำรวจต้องเข้าใจ วันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะแล้ว
    ฉะนั้นวิธีปฏิบัติแบบเดิมๆ ที่ตำรวจใช้กันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ถึงวันนี้ใช้ไม่ได้แล้วครับ
    เปลี่ยนซะเถอะ 
    เปลี่ยนด้วยตัวเอง ถ้าทำไม่ได้ คนนอกวงการตำรวจจะเข้าไปเปลี่ยนให้
     ที่จริงก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับการปฏิรูปตำรวจสักเท่าไหร่     เพราะปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่วิธีการ กระบวนการการทำงานของตำรวจ เป็นหลัก 
    แต่อยู่ที่ทัศนคติ และวัฒนธรรมองค์กร มากกว่า
    และยังมีปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือการยึดโยงกับฝ่ายการเมือง ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น  
    ถ้าการเมืองยังเต็มไปด้วยผลประโยชน์ ตำรวจ ก็ไม่รอด
    กรณี "ผู้กินกับโจ้" จึงเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
    ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ สามารถแก้ปัญหาร้อยแปดพันเก้าของตำรวจได้หรือไม่?
    ผ่าร่างกฎหมายกันตรงๆ 
    ประเด็นหลัก และเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งต้องแก้ไขให้ได้ก่อนคือ การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ต้องเป็นอิสระปราศจากการครอบงำของฝ่ายการเมืองอย่างถาวร
    ถือเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรก 
    เพราะที่ผ่านมาปัญหาใหญ่มากของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ  ผบ.ตร.เป็นคนของพรรคการเมือง 
    ผบ.ตร.แต่ละยุคล้วนยึดโยงกับอำนาจการเมืองแทบจะทั้งสิ้น 
    การแทรกแซง และผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่ตามมาโดยอัตโนมัติ
    ฉะนั้นเมื่อองค์ประกอบ และที่มาของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ “ก.ตร.” ในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ยังคงให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของคณะกรรมการในส่วนกลาง ซึ่งเป็นรูปแบบระบบรวมศูนย์อำนาจ 
    ผลที่ตามมาก็ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก
    การลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นแนวคิดเดิม ซึ่งก่อปัญหามาโดยตลอด
    ตำรวจก็ยังขึ้่นอยู่กับฝ่ายการเมือง
    ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ตำรวจปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง เนื่องจากมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 
    หากต้องการให้ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองอย่างแท้จริง ประธานที่ดำเนินการคัดเลือกต้องไม่มาจากฝ่ายการเมือง 
    การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเภท (ข)  ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง 
    ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้่กำหนดให้นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการ ก.พ. อัยการสูงสุด และ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมหารือร่วมกันเสนอชื่อบุคคลจำนวนหกคน 
    การกำหนดให้บุคคลที่มีอำนาจเสนอชื่อ มีสถานะเป็นฝ่ายการเมือง คือนายกรัฐมนตรี ก็เป็นช่องว่างให้มีการแทรกแซงทางการเมืองตั้งแต่เริ่มต้น
    ทำไมไม่ไว้ใจนักการเมือง? 
    ไม่มีหลักประกันครับว่านายกรัฐมนตรีคนถัดๆ ไปจะไม่แทรกแซงตำรวจ     
    ในเมื่อเรายังไม่มีอะไรที่เฉียดคำว่าปฏิรูปการเมือง ก็อย่าคาดหวังอะไรจากนักการเมืองมากนัก 
    ตรรกะพื้นฐานการพัฒนาระบบการจัดการบริหารที่ดี คือต้องมีหลักประกันที่ผู้บริหารไม่ถูกแทรกแซงการทำงาน
    ตำรวจควรมีความก้าวหน้าในงานจากผลการปฏิบัติงานด้วยตนเอง  ไม่ใช่เดินถือกระเป๋าตามนาย หรือว่าที่ลูกเขยนาย 
    เมื่อการเมืองยังมีบทบาท ตำรวจย่อมวิ่งเข้าหาฝ่ายการเมือง เพราะเรายังอยู่ในระบบอุปถัมภ์ 
    เรื่องนี้พูดไปเหมือนพายเรือในอ่าง 
    มีผลการศึกษา ผลวิจัย ข้อเสนอ ในการปฏิรูปตำรวจ ให้หลุดพ้นจากอำนาจการเมืองมากมาย แต่ผู้มีหน้าที่เสนอกฎหมาย ไม่หยิบยกมาเป็นสาระสำคัญ 
    ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่กำลังแถกเป็นปลาหมอหน้าแล้งนี้ จึงยากที่จะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจได้ 
    นี่แค่กระดุมเม็ดแรกนะครับ ยังไม่พูดถึงกระดุมเม็ดถัดๆ ไป โดยเฉพาะงานสอบสวน
    แต่ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ไปเสียทีเดียว หลายมาตราสามารถแก้บางปัญหาได้  
    ช่วงต้นปีมีรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ “จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ” โดยพลตำรวจตรี ดร.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ และคณะ ได้ศึกษาปัญหาจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ สาเหตุของปัญหา กลไกการควบคุม และแนวทางการแก้ไข ด้วยวิธีการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติงานจำนวน ๕๖๗ คน ประชาชนจำนวน  ๔๘๘ คน และสัมภาษณ์ตำรวจระดับผู้บริหารจำนวน ๒๕ คน
    พบ ๖ สาเหตุ ทำให้ตำรวจละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ 
    ๑.ค่าตอบแทนน้อย ทำให้ต้องใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ 
    ๒.การแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม ความก้าวหน้าไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถ 
    ๓.การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง 
    ๔.ค่านิยมและระบบที่ปฏิบัติต่อๆ กันมาในวงการตำรวจ 
    ๕.ขาดมาตรการตรวจสอบและลงโทษอย่างจริงจัง 
    และ ๖.ขาดจิตใจในการให้บริการสังคม
    ในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดให้ปรับปรุงหลักสูตรการอบรมข้าราชการตำรวจ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน  
    สร้างขวัญกำลังใจแก่ตำรวจผู้ปฏิบัติงาน ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ  อุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ     
    เพิ่มบทลงโทษตำรวจที่ละเมิดจริยธรรม 
    แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าไม่สามารถทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปลอดจากการเมืองได้ ปัญหาเก่าๆ ก็ไม่หายไปไหน 
    การแถลงข่าวของ "ผู้กินกับโจ้" เมื่้อคืนวันที่ ๒๖ สิงหาคมที่ผ่านมา   บางคนบอกว่า "โจ้ขโมยซีน ผบ.ตร.ซะงั้น จากผู้ร้ายกลายเป็นพระเอกในห้านาที" 
    บางคนบอกว่าคดีพลิก กลายเป็นคดียาเสพติด 
    และบางคนบ่นว่า ผบ.ตร. ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ คอยตัดบท 
    ภาพรวมสรุปแล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้นครับ 
    แถมประชาชนยังฝังใจว่าตำรวจจะปกป้องกันเอง 
    เพราะ "โจ้" ไม่ใช่ปลาใหญ่ 
    มาวานนี้ (๒๗ สิงหาคม) ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง 
    "เรื่องความประพฤติผิดชอบชั่วดีของตำรวจผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ ทำดีต้องได้ดี ทำไม่ดีต้องถูกลงโทษ 
    ถ้าตำรวจเข้าใจแบบนี้ผมคิดว่าเขาก็จะตั้งใจทำงานมากขึ้น หากพบตำรวจคนใดทำผิดกฎหมายจะต้องดำเนินการอย่างแน่นอน"
    เห็นด้วยครับว่า ผู้บังคับบัญชาหนีความรับผิดชอบไม่พ้น 
    แต่ผู้บังคับบัญชาระดับไหนล่ะ ที่ต้องรับผิดชอบกรณี "ผู้กินกับโจ้" 
    ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ ตำรวจหนุ่ม เลื่อนตำแหน่งไว ร่ำรวยทะลุเพดาน เคยมีเรื่องฉาว แต่ไม่เห็นใครทำอะไรได้ 
    ถ้าไม่มีคลิปเจตนาฆ่า ออกสู่สาธารณชน ก้น "ผู้บังคับบัญชา" จะร้อนหรือเปล่า 
    ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมี ตำรวจแบบ "โจ้" อีกกี่คน ซึ่งมีแน่ๆ 
    ฉะนั้น ถ้า "ผู้บังคับบัญชา" บอกว่า "ผู้บังคับบัญชา" ต้องรับผิดชอบกรณีลูกน้องเลว ต้องพูดให้ชัด จะรับผิดชอบอย่างไร 
    เพราะอีกไม่นานตำรวจแบบ "โจ้"  ก็จะตกเป็นข่าวอีก. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"