ความกังวลต่อการริเริ่มแถบและเส้นทางของจีน


เพิ่มเพื่อน    

 

มีผู้วิพากษ์ว่าแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) หรือการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีน รายงาน Harbored Ambitions : How China’s Port Investments Are Strategically Reshaping the Indo-Pacific มุ่งประเด็น “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) หรือส่วน One Belt ที่เชื่อมต่อจากมหาสมุทรแปซิฟิกจรดแอตแลนติก เชื่อมทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา

รายงานนำเสนอว่าจีนพร่ำเอ่ยว่าเป็นนโยบายที่ต่างได้ประโยชน์ (win-win) แต่ในอีกมุมอิทธิพลของจีนขยายตัวในกลุ่มประเทศที่เส้นทางสายไหมผ่าน ท่าเรือประเทศต่างๆ ที่จีนช่วยสร้างช่วยพัฒนานำมาซึ่งกองทัพเรือจีนด้วย เกิดคำถามว่าอะไรที่จีนต้องการจริงๆ

นักวิชาการบางคนเห็นว่าเป้าหมายคือต่อต้านอิทธิพลสหรัฐคล้าย Marshall Plan หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐใช้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปเพื่อดึงเป็นพันธมิตรต่อต้านอิทธิพลโซเวียต ปิดล้อมฝ่ายสังคมนิยม ห้ามยุโรปตะวันตกติดต่อค้าขายกับฝ่ายสังคมนิยม ทั้งหมดนี้ภายใต้คำขวัญว่า “อเมริกาช่วยยุโรปบูรณะประเทศ” ที่ลึกกว่านั้นคือถ่ายถอดวัฒนธรรม ค่านิยม วิถีชีวิตแบบอเมริกัน หวังว่าชาวยุโรปจะรับเอาวิถีอเมริกันซึ่งสหรัฐเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง

Robert R. Bianchi จาก University of Chicago คิดว่า “เส้นทางสายไหมใหม่เป็นหัวหอกนโยบายสร้างความเป็นมหาอำนาจของจีน” ยุทธศาสตร์นี้เอื้อให้จีนเจาะเข้าประเทศต่างๆ อย่างอิหร่าน ตุรกี อินโดนีเซียและอีกประเทศ รวมเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงติดต่อ อีกปัญหาที่จะตามคือสร้างความไม่เทียมกัน เพราะบางคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์

จีนจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อสังคมวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบงการของชนชั้นปกครองจีน ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลทรัมป์โจมตีจีนพยายามเป็นเจ้าในเอเชีย

ด้าน Hua Chunying รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศโต้ว่า “จีนยืนยันมานานแล้วไม่คิดเป็นเจ้า (hegemony) หรือขยายอำนาจ (expansion) ผมไม่แน่ใจว่าสหรัฐเป็นเช่นนี้ด้วย”

วิพากษ์ Harbored Ambitions :

        ประเด็นแรก มองว่าทุกอย่างที่เป็นจีนคือของรัฐบาลจีน

        รายงานนำเสนอราวกับว่าทุกอย่างที่เป็นจีนคือของรัฐบาลจีน ไม่ว่าท่าเรือนั้นตั้งอยู่ ณ ประเทศใด รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ร่วมทุนหรือไม่ บริษัทเอกชนหลายพันหลายหมื่นแห่งประกอบกิจการด้วย รวมทั้งบริษัทของอเมริกา ยุโรป ฯลฯ

        ตามแผนการริเริ่มแถบและเส้นทางจะสัมพันธ์กับ 68 ประเทศ ประชากร 4,400 ล้านคน ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป มีคำถามว่าประเทศเหล่านี้ บริษัทเอกชนของนานาประเทศ คืออาณานิคมของจีน ตกอยู่ใต้การบงการของจีนหรือ

        ประการที่ 2 มองข้ามผลประโยชน์ที่นานาชาติได้รับ

        ท่าเรือ เส้นทางเดินเรือ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นหลายประเทศใช้ประโยชน์ บริษัทเอกชนนับพันนับหมื่นได้ประโยชน์ ส่วนใหญ่คือบริษัทเอกชนนานาชาติ

        มีการยกเหตุผลว่าการพัฒนาตามแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเป็นเหตุให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความจริง แต่ละเลยว่าเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลประเทศเหล่านั้น กู้เงินต่างชาติเพื่อลงทุน หากจะพูดให้ครบควรเอ่ยว่าแต่เดิมประเทศเหล่านี้เป็นหนี้ชาติตะวันตก ญี่ปุ่น ไอเอ็มเอฟ ฯลฯ จำนวนมหาศาลอยู่แล้ว ถ้าจะกังวลเรื่องหนี้สาธารณะควรเริ่มต้นด้วยการลดหนี้เดิมด้วย

        นักวิชาการบางคนชี้ว่าแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติจีนเป็นหลัก สวนทางกับที่พยายามพูดว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win) ควรเข้าใจว่าทุกประเทศเป็นเช่นนี้ บางคนมองเรื่องความเท่าเทียม การพิจารณาว่าฝ่ายใดหาประโยชน์เกินเลยเป็นประเด็นที่ต้องถกต่อไป ที่สำคัญคือต่างฝ่ายต่างยินยอม คนที่ลงทุนมากกว่าควรได้รับผลประโยชน์เท่ากับคนที่ลงทุนน้อยหรือไม่

        ถ้าจะวิพากษ์ หลักอเมริกาเท่านั้นต้องมาก่อน (be only America first) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ทุกการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย ภาษีสินค้านำเข้า การรับผู้อพยพลี้ภัย นโยบายต่างประเทศจะต้องตั้งอยู่บนประโยชน์ของคนอเมริกัน รัฐบาลทรัมป์จึงฉีกข้อตกลงนาฟตา (NAFTA) ออกจากข้อตกลงแก้ไขภาวะโลกร้อน และอีกหลายข้อตกลงโดยใช้คำว่า “ขอปรับแก้ใหม่” เพื่อให้เป็นธรรม

      จะดีกว่าหรือไม่ หากได้จีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แทนอยู่ภายใต้กรอบทางเลือกเดิมๆ

      ภายใต้แนวคิดข้างต้น ถ้าการลงทุนจากจีนและต่างชาติเป็นภัย ควรจะตำหนิรัฐบาลตัวเองและประชาชนก่อนดีไหม เพราะไม่สามารถพัฒนาประเทศให้ร่ำรวยเจริญก้าวหน้า ต้องอาศัยเงินทุนต่างชาติ ปล่อยให้ต่างชาติ บริษัทต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ (การนำเสนอเช่นนี้กำลังปฏิเสธเรื่องเสรีนิยม การค้าเสรี)

        ประการที่ 3 มุ่งโจมตีการก้าวขึ้นมาของจีน

      การริเริ่มแถบและเส้นทางมุ่งส่งเสริมการค้าการลงทุน เอื้อให้คนมีงานทำ อยู่ดีกินดี ไม่แตกต่างจากการสร้างท่าเรือ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วไป แต่รายงาน Harbored Ambitions พยายามเสนอให้เข้าใจว่าเป็นภัยต่อนานาชาติ คุกคามประเทศที่รับการลงทุน

        การก้าวขึ้นมาของจีนในเวทีโลกเพิ่มขยายอิทธิพลแน่นอน แต่เป็นประเด็นถกเถียงว่าแบบใดดีกว่า ระหว่างให้ประเทศเดิมๆ คงอิทธิพลต่อไป หรือควรเพิ่มจีนเพื่อช่วยถ่วงดุล

        ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ รายงานฉบับนี้เผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐยืนยันคงบทบาทในเอเชียแปซิฟิกต่อไป พูดถึงคุณความดีของตนที่แสดงบทบาทในภูมิภาคนี้ สอดคล้องกับเนื้อหาของ Harbored Ambitions ที่พยายามสรุปว่าบทบาทอิทธิพลของสหรัฐคือความดีงาม เป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าการลงทุน การเมือง การทหาร

        ถ้าคิดว่าหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นแผนร้ายก็ควรจะตีความว่าจีนเลียนแบบประเทศอื่นๆ ที่ทำมาแล้วนับร้อยนับพันปี

        เพื่อให้มองรอบด้าน อาจเริ่มต้นด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ว่านับจากศตวรรษที่ 16 จนถึงทศวรรษ 1930 ชาติยุโรปได้ขยายอาณานิคมอย่างกว้างไกลจนครอบคลุมทั่วโลก อาณานิคมเหล่านี้เป็นแหล่งทรัพยากร แรงงานราคาถูก เป็นตลาดสินค้า ทำให้ยุโรปพัฒนาและเติบโตตามลำดับ หากปราศจากยุคจักรวรรดินิยม ยุโรปไม่เจริญเท่าทุกวันนี้

        เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และเข้าสู่สงครามเย็น สหรัฐดำเนินนโยบายช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับความสูญเสียอันเนื่องจากสงครามตาม Marshall Plan ที่นำเสนอข้างต้น

        ส่วนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากประเด็นภัยคอมมิวนิสต์แล้ว สหรัฐให้ความช่วยเหลือด้วยหวังว่าจะนำทิศเศรษฐกิจของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการเมือง การศึกษา วัฒนธรรมด้วย ประเทศเหล่านี้จึงดำเนินนโยบาย “พัฒนาแบบตะวันตก”

        ถ้ามองในแง่ร้าย จีนเพิ่งจะเริ่มต้น ส่วนมหาอำนาจอื่นทำมานานแล้ว หรืออาจกล่าวว่าจีนกำลังฟื้นฟูความยิ่งใหญ่อีกครั้ง การที่จีนเสริมสร้างกำลังรบทางทะเลเพื่อป้องกันเส้นทางเดินเรือ ไม่ต่างจากสหรัฐที่ย้ำว่าต้องรักษาเส้นทางเดินเรือเสรี ต่างกันที่กำลังรบอเมริกาเหนือกว่าจีนมาก แต่รัฐบาลสหรัฐมักชอบตีโพยตีพาย สร้างศัตรูให้น่ากลัวเกินจริง

      ประการที่ 4 อุปสรรคของจีนหรือเพียงแค่แก้ปัญหาภายใน

      ไม่ว่าจีนหวังจะเป็นมหาอำนาจหรือไม่ เมื่อชาติใดมั่งคั่งมั่นคงมากๆ ย่อมมีสิทธิถูกมองว่าคุกคามอีกประเทศหนึ่ง บั่นทอนผลประโยชน์ของเขา

        อย่างไรก็ตาม มีความเห็นแตกต่างกันทั้งกลุ่มที่เห็นว่าจีนจะก้าวขึ้นมาเทียบเคียงสหรัฐไม่ช้าก็เร็ว กับอีกพวกที่เห็นว่าจีนยากจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ

        กลุ่มที่เห็นว่าจีนยากจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจจะสรุปว่าอุปสรรคมาจากปัญหาภายในของจีนเอง โดยเฉพาะปัญหาคนสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นมาก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเข้าใจผิดคิดว่าเศรษฐกิจจีนแข็งแกร่ง และอุดมการณ์การเมืองเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสู่จุดสูงสุด

        เป็นข้อสรุปว่าจีนไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งภายในมากพอ จนกลายเป็นพลังให้เป็นมหาอำนาจโลก

        ถ้ามองข้ามการเมืองระหว่างประเทศ ข้อมูลจาก The World Factbook ระบุว่า ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2017) จีนมีประชากรเกือบ 1,380 ล้านคน ความท้าทายของรัฐบาลจีนคือทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งหมายถึงต้องมีการงานที่ดี การหางานในจีนนับวันจะยิ่งเป็นปัญหา เด็กจบใหม่มีความรู้การศึกษามากขึ้น ต้องการงานที่เหมาะกับตน น่าคิดว่าการออกไปทำงานต่างประเทศ แม้กระทั่งไปตั้งรกรากต่างประเทศ เป็นทางออกหนึ่ง

        แน่นอนว่าจีนที่เศรษฐกิจเติบใหญ่ การเมืองภายในมั่งคง แม้กระทั่งความขยันขันแข็ง มีหัวการค้า ล้วนเอื้อให้จีนยิ่งใหญ่ ชนชั้นปกครองประเทศอื่นๆ กังวลใจที่อำนาจตนกำลังถูกบั่นทอนและสั่นคลอน

      นี่เป็นความจริง อีกหนึ่งความเป็นไปของสถานการณ์โลกปัจจุบัน

        ท้ายที่สุด คำถามที่น่าคิดคือระหว่างมี “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับไม่มีสิ่งนี้ในโลก อย่างใดเป็นประโยชน์ต่อสามัญชนคนธรรมมากกว่ากัน.

ที่มาภาพ : https://static1.squarespace.com/static/566ef8b4d8af107232d5358a/t/5ad5e20ef950b777a94b55c3/1523966489456/Harbored+Ambitions.pdf
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"